ไปยังหน้า : |
มหากุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวง ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑. ปัญญาสังวัตตะนิกะกัมมูปะนิสสะยะตา เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยกุศลวิปากจิตที่ประกอบด้วยปัญญา หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้เกิดมาด้วยปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ รูปาวจรวิปากจิต ๕ อรูปา วจรวิปากจิต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา รูปพรหม อรูปพรหม บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตามสมควรแก่ปฏิสนธิจิตทำให้บุคคลนั้นเกิดมา ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาติดตัวมาแต่กำเนิด เรียกว่า สชาติกปัญญา ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นได้ประสบพบเห็นเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกุศลธรรมบางอย่างที่ตนคุ้นเคย หรือมีความถนัดเจนจัดชำนาญ ก็สามารถพินิจพิจารณาให้เกิดปัญญาได้ แม้ไม่มีใครบอกหรือไม่มีใครแนะนำก็ตาม เช่น เด็กตัวเล็ก ๆ ที่เกิดมาพร้อมด้วยปัญญา ถึงแม้พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง จะไม่เคยบอกเคยสอน ในเรื่องของบุญกุศลก็ตาม แต่เมื่อเด็กน้อยนั้นได้ประสบพบเห็นเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ให้เกิดกุศล ซึ่งตนมีความคุ้นเคยมาแต่ชาติปางก่อน ก็สามารถทำจิตให้เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ หรืออบายสัตว์บางตนที่ได้เคยสั่งสมบุญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาไว้ในชาติปางก่อนอันใกล้กับปัจจุบันชาตินี้ ซึ่งสัญญาเก่ายังเก็บจำไว้ได้อยู่ ฉะนั้น เมื่อได้ประสบพบเห็นเหตุปัจจัยนั้น ๆ ที่ตนคุ้นเคยหรือระลึกนึกถึงเหตุปัจจัยนั้น ๆ ได้ ก็สามารถทำจิตให้เกิดเป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ หรือพวกรูปพรหม อรูปพรหม ที่ระลึกชาติได้ เมื่อพิจารณาถึงบุญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งตนได้เคยทำไว้แต่ชาติปางก่อนในคราวที่เป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็สามารถทำจิตให้เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ ดังนี้เป็นตัวอย่าง
๒. อัพ๎ยาปัชฌะโลกูปะปัตติกะตา เป็นผู้ที่ได้เกิดในชาติที่หมดความกังวลห่วงใยปราศจากความพยาบาทปองร้ายซึ่งกันและกัน หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ได้เกิดหรือมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ ณ สถานที่ที่มีความสงบร่มเย็น สภาพแวดล้อมสภาพสังคมโดยทั่วไปมีความเป็นสัปปายะ บุคคลโดยมากเป็นกัลยาณชน มีสัมมาทิฏฐิ มีอัธยาศัยดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสนใจในการแสวงหาความรู้ แสวงหาคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีภัยสงคราม ไม่มีการก่อจลาจล ทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เป็นต้น เมื่อบุคคลนั้นได้เกิดหรือได้อยู่ ณ สถานที่เช่นนั้นแล้ว ย่อมทำให้มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ ได้เข้าวัดฟังธรรม ได้ขวนขวายศึกษาธรรมอย่างสม่ำเสมอ และไม่มีความกังวลห่วงใย ไม่ต้องหวาดระแวงสะดุ้งกลัวต่อภัยอันตรายต่าง ๆ สามารถวางใจได้เป็นสุข มีสมาธิจิตที่จะคิดอ่านพิจารณาเหตุผลในสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้มีสติปัญญาใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดรอบคอบและลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยลำดับ ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลนั้นทำกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้
๓. กิเลสะทูระตา เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส หมายความว่า เป็นบุคคลผู้ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส ไม่สนใจในการแสวงหากิเลสกาม ไม่หมกมุ่นในกามคุณอารมณ์และไม่ค่อยสนใจในเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ แต่ใฝ่ใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมโดยมาก ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตใจปลอดโปร่งจากอำนาจกิเลสตัณหา ไม่มีกิเลสตัณหามารุมเร้าใจให้เศร้าหมองหรือห่อเหี่ยว ทำให้มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานใจอยู่เป็นนิตย์ สามารถที่จะคิดแสวงหาวิชาความรู้ ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างอิสระแก่ตนเอง ทำให้เป็นผู้มีความคิดอ่านที่ละเอียดลึกซึ้ง ก่อให้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งโดยลำดับ ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นกระทำกุศลใด ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้
๔. อินท๎ริยะปะริปากะตา เป็นผู้มีปัญญินทรีย์แก่กล้า หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อยู่ในวัยที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีอายุระหว่าง ๔๐-๕๐ ปี เรียกว่า ปัญญาสทสกวัย ซึ่งเป็นวัยที่ได้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมาพอสมควรแล้ว ได้เคยผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา ผ่านความยากลำบากมามาก สามารถใช้ประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในการพินิจพิจารณาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างรอบคอบและละเอียดลึกซึ้งตามสมควรแก่สติปัญญาของตนได้ ทำให้มีความเข้าใจในเหตุผลของกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองกระทำอยู่นั้นได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้ [นี้เป็นการกล่าวมุ่งหมายเอาเฉพาะบุคคลที่สนใจในการขวนขวายสั่งสมประสบการณ์อยู่เสมอเท่านั้น ส่วนบุคคลที่ไม่สนใจในการขวนขวายสั่งสมประสบการณ์ โดยมักปล่อยวันเวลาและชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์นั้น แม้จะมีอายุตั้งร้อยปี ก็ไม่ชื่อว่า มีอินทรีย์แก่กล้า คือ ยังอ่อนปวกเปียกอยู่นั่นเอง]