| |
สัมมาอาชีวะ มี ๒ ประการ   |  

๑. วิริยสัมมาอาชีวะ ได้แก่ ความเพียรในอาชีพการงานที่ปราศจากโทษ

๒. วิรตีสัมมาอาชีวะ ได้แก่ การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยอาชีพ

สัมมาอาชีวะ ๒ ประการ [อีกนัยหนึ่ง]

สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง การทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต มี ๒ ประเภท คือ

๑. คหัฏฐสัมมาอาชีวะ หมายถึง สัมมาอาชีวะของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทั้งหลาย แบ่งเป็น ๒ ประการ คือ

๑.๑ การเว้นจากมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพที่ไม่ชอบ คือ การแสวงหาปัจจัยมาบริโภคที่มิชอบ เช่น การโกง หรือ หลอกลวง เป็นต้น

๑.๒ การเว้นจากการประจบสอพลอ อันได้แก่ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ หรือการแสวงหาลาภโดยไม่ประกอบด้วยความเพียรที่ถูกต้อง[สัมมาวายามะ] ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน อยากได้มาง่าย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยกำลังสติปัญญาและแรงกาย ทั้งเป็นผู้ที่โลภจนไม่ชอบธรรม เช่น เบียดเบียนลูกจ้าง และทำลายสิ่งแวดล้อม สังคม อยากได้มากแต่เสียให้น้อย เป็นต้น

สัมมาอาชีวะนี้รวมถึงการไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ ๕ ประเภท คือ

๑] สัตถวณิชชา การค้าขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข

๒] สัตตวณิชชา การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็กการค้าทาส ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ รวมถึงการขายตัวหรือขายบริการทางเพศ

๓] มังสวณิชชา การค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร เป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ ๑ คือ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

๔] มัชชวณิชชา การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าขายสารเสพติดทุกชนิด

๕] วิสวณิชชา การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสังคม และสัตว์ทั่วไปด้วย

๒. ปัพพชิตสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะของบรรพชิตหรือนักบวช หมายถึง การใช้ชีวิตด้วยการบริโภคปัจจัยสี่อย่างมักน้อย เท่าที่จำเป็น ถ้าเป็นนักบวชที่อยู่ด้วยการขอ ต้องรักษาปัจจัยสี่ของทายกไว้อย่างดี เพื่อให้คุ้มค่ากับผู้ให้ ไม่เบียดเบียน และไม่เสพสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยสี่โดยไม่จำเป็น เช่น กามคุณ ๕ เพราะแม้ไม่เสพกามคุณ มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สัมมาอาชีวะของผู้บวช คือ ไม่เสพบริโภคจนเกินความจำเป็น เช่น ดูการละเล่น แต่งตัว ตลอดจนเสพยาเสพติด เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |