| |
เดรัจฉานกถา ๓๒ ประการ   |  

เดรัจฉานกถา หมายถึง คำพูดที่เป็นไปโดยขวางต่อกุศลธรรม และขวางมรรค ผล นิพพาน เป็นคำพูดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งผู้ต้องการเจริญกุศลธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ควรหลีกเว้นเสีย มีดังนี้

๑. ราชกถา การพูดพรรณนาเรื่องพระราชามหากษัตริย์ หรือ ราชวงศ์ต่าง ๆ

๒. โจรกถา การพูดพรรณนาเรื่องโจร หรือโจรกรรมต่าง ๆ

๓. มหามัตตกถา การพูดพรรณนาเรื่องพวกอำมาตย์ หรือ ข้าราชการ นักการเมือง

๔. เสนากถา การพูดพรรณนาเรื่องพวกทหาร เรื่องกองทัพ เรื่องนักรบในสงคราม

๕. ภยกถา การพูดพรรณนาเรื่องภัยอันตรายต่าง ๆ

๖. ยุทธกถา การพูดพรรณนาเรื่องสงคราม การรบราฆ่าฟันกัน

๗. อันนกถา การพูดพรรณนาเรื่องข้าวกล้าพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ

๘. ปานกถา การพูดพรรณนาเรื่องน้ำดื่ม เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ

๙. วัตถกถา การพูดพรรณนาเรื่องผ้าชนิดต่าง ๆ

๑๐. สยนกถา การพูดพรรณนาเรื่องการนอน ที่นอนชนิดต่าง ๆ

๑๑. มาลากถา การพูดพรรณนาเรื่องระเบียบดอกไม้ชนิดต่าง ๆ

๑๒. คันธกถา การพูดพรรณนาเรื่องของหอม น้ำหอมชนิดต่าง ๆ

๑๓. ญาติกถา การพูดพรรณนาเรื่องวงศาคณาญาติของตน หรือของบุคคลอื่น ๆ

๑๔. ยานกถา การพูดพรรณนาเรื่องยานพาหนะต่าง ๆ

๑๕. คามกถา การพูดพรรณนาเรื่องหมู่บ้านต่าง ๆ

๑๖. นิคมกถา การพูดพรรณนาเรื่องตำบลต่าง ๆ

๑๗. ชนปทกถา การพูดพรรณนาเรื่องอำเภอต่าง ๆ

๑๘. นครกถา การพูดพรรณนาเรื่องจังหวัด หรือเมืองต่าง ๆ

๑๙. อิตถีปุริสกถา การพูดพรรณนาเรื่องสตรีและบุรุษต่าง ๆ

๒๐. สูรกถา การพูดพรรณนาเรื่องคนกล้า นักรบ นักต่อสู้

๒๑. วิสิขากถา การพูดพรรณนาเรื่องถนนหนทางต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และตรอกซอกซอยต่าง ๆ

๒๒. กุมภทาสีกถา การพูดพรรณนาเรื่องคนรับใช้ต่าง ๆ

๒๓. ปุพพเปตกถา การพูดพรรณนาเรื่องบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว

๒๔. นานัตตกถา การพูดพรรณนาเรื่องราวต่าง ๆ อันหาสาระแก่นสารมิได้

๒๕. โลกักขายิกกถา การพูดพรรณนาเรื่องความเป็นไปของโลกที่สมมุติแต่งขึ้น หรือเล่าสืบต่อกันมา

๒๖. สมุททักขายิกกถา การพูดพรรณนาเรื่องความเป็นไปของมหาสมุทร ตามทำนองนิยายปรัมปรา

๒๗. อิติภวาภวกถา การพูดพรรณนาเรื่องภพภูมิต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยสัสสตทิฏฐิ เช่น เห็นว่าโลกเที่ยง เป็นต้น

๒๘. อิติภวาภวกถา การพูดพรรณนาเรื่องภพภูมิต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยอุจเฉททิฏฐิ เช่น เห็นว่า โลกขาดสูญ เป็นต้น

๒๙. อิติภวาภวกถา การพูดพรรณนาเรื่องความเจริญแห่งสมบัติ

๓๐. อิติภวาภวกถา การพูดพรรณนาเรื่องความเสื่อมแห่งสมบัติ

๓๑. อิติภวาภวกถา การพูดพรรณนาสรรเสริญความสุขในกามคุณ

๓๒. อิติภวาภวกถา การพูดสรรเสริญอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบากกายว่า เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |