| |
ฐานภูมิ ๗ อย่าง   |  

๑. นิรยภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของพวกสัตว์นรก ผู้เกิดด้วยอำนาจของโทสะเป็นมูลเป็นประธาน นิรยะ แปลว่า สัตว์ผู้ปราศจากกุศลความดี หรือปราศจากความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากถูกวิบากของอกุศลกรรมและนายนิรยบาลทรมานให้ได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสตลอดเวลา ไม่มีเวลาที่จะหยุดยั้งคิดถึงบุญกุศล นอกจากมีผู้มีฤทธิ์มีเดชไปโปรด ช่วยหยุดยั้งเครื่องทรมานไว้ชั่วขณะและตักเตือนให้ระลึกถึงกุศลความดีที่เคยทำ หรือให้อนุโมทนากุศลที่ญาติอุทิศมาให้เท่านั้น จึงจะมีกุศลจิตเกิดขึ้นมาบ้าง เช่น พระโมคคัลลานะไปโปรดสัตว์นรก เป็นต้น

๒. ปิตติวิสยภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของพวกเปรต ผู้เกิดด้วยอำนาจของโลภะเป็นมูลเป็นประธาน เปรต แปลว่า ผู้ละไปแล้ว หมายถึง ผู้ละไปสู่ปรโลก หรือแปลว่า ผู้ปราศจากความสุขสบาย เนื่องจากถูกวิบากของอกุศลกรรมทรมานให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากอยู่เสมอ ไม่มีว่างเว้นเลย [แต่ทุกข์น้อยกว่าสัตว์นรก]

๓. อสุรกายภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของอสุรกาย ผู้เกิดด้วยอำนาจโลภะ คล้ายกับพวกเปรต แต่ความทุกข์ยากและความเป็นอยู่ ตลอดถึงรูปร่างสัณฐาน แตกต่างจากเปรตไปบ้าง อสุรกาย แปลว่า หมู่สัตว์ผู้ไม่มีความแกล้วกล้าอาจหาญ ต้องหลบลี้อยู่ในที่มืดมิด หรืออยู่ในป่าดงดิบที่ห่างไกลจากถิ่นมนุษย์ หรือแปลว่า ผู้มีลักษณะรูปร่าง ตลอดถึงความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยสิ้นเชิง ก็เรียกว่า อสูร เช่น พวกเทวดาอสูรที่รบกับพระอินทร์อยู่เสมอ เป็นต้น

๔. ติรัจฉานภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของพวกสัตว์เดรัจฉาน ผู้เกิดด้วยอำนาจของโมหะเป็นมูลเป็นประธาน ติรัจฉาน แปลว่า สัตว์ผู้ไปตามขวาง คือ เดินตัวราบไปตามยาว ไม่ตั้งตรงเหมือนมนุษย์ อีกนัยหนึ่ง แปลว่า ผู้ไปขวางจากมรรคผลนิพพาน ในความหมายนี้ อบายสัตว์ทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ชื่อว่า เป็นผู้ไปขวางจากมรรคผลนิพพาน กล่าวคือ เป็นผู้ที่ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลยในอัตภาพนั้น แม้บุคคลผู้ศึกษาและดำเนินชีวิตด้วยเดรัจฉานวิชาต่างๆ ก็ชื่อว่า ไปขวางจากมรรคผลนิพพานเหมือนกัน คือ ไม่สามารถให้บรรลุถึงมรรคผล นิพพานได้

๕. มนุษยภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของพวกมนุษย์ ผู้เกิดด้วยอำนาจมนุษยธรรม คือ เบญจศีล เบญจธรรม ที่เกิดพร้อมด้วยมหากุศลจิตเป็นมูลเป็นประธาน มนุษย์ มาจากคำว่า มน แปลว่า ใจ กับคำว่า อุจจ แปลว่า สูง รวมเป็น มนุจจ แปลง จจ เป็น สส สำเร็จรูปเป็น มนุสส ตามภาษาสันสกฤตกลายเป็นมนุษย์ แปลว่า ผู้มีใจสูง ในภาวะความเป็นมนุษย์นั้นสามารถพัฒนาตนเองให้ถึงจุดสูงสุดได้ กล่าวคือ สามารถเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวกและพระมหาสาวกได้ ส่วนในฝ่ายอกุศลนั้น สามารถทำอกุศลกรรมจนถึงอนันตริยกรรม ๕ ได้

๖. เทวภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของเหล่าเทพเทวดาทั้งหลาย ผู้เกิดด้วยอำนาจเทวธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ ที่เกิดพร้อมด้วยมหากุศลจิตเป็นมูลเป็นประธาน คำว่า เทวะ แปลว่า ผู้เพลิดเพลินด้วยกามคุณหรือทิพยสมบัติ เนื่องจากในเทวโลกนั้น บริบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติยิ่งกว่าในมนุษยโลกมากมายหลายเท่า [โดยเฉพาะเทวโลกชั้นสูง]

๗. พรหมภูมิ หมายถึง ภูมิเป็นที่เกิดของเหล่ารูปพรหม อรูปพรหม ที่เกิดด้วยอำนาจรูปฌานกุศล และอรูปฌานกุศล คำว่า พรหม แปลว่า ผู้ประเสริฐ เนื่องจากเป็นผู้ข่มกามราคะ และพยาบาทไว้ได้ ด้วยอำนาจแห่งฌาน [หรือท่านที่เป็นพระอริยะย่อมละขาดด้วยอำนาจแห่งมรรคญาณ] ฉะนั้น วิถีชีวิตของท่านเหล่านี้ จึงไม่แปดเปื้อนด้วยกามราคะ ไม่หมกมุ่นในเรื่องครอบครัว และผลประโยชน์ ทั้งไม่ก่อความวุ่นวายในสังคม เป็นผู้มีพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องอยู่สำราญในชีวิตปัจจุบัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |