ไปยังหน้า : |
ในอนริยโวหารสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ได้แสดงอนริยโวหาร คือ คำพูดอันไม่ประเสริฐ และอริยโวหาร คือ คำพูดที่ประเสริฐไว้อย่างละ ๘ ประการรุ.๒๐๙ คือ
อนริยโวหาร หมายถึง ถ้อยคำอันไม่ประเสริฐ หรือคำพูดของพวกอนารยชน มี ๘ ประการ คือ
๑. ไม่เห็น บอกว่า เห็น
๒. ไม่ได้ยิน บอกว่า ได้ยิน
๓. ไม่ได้ทราบ บอกว่า ทราบ
๔. ไม่รู้ บอกว่า รู้
๕. เห็น บอกว่า ไม่เห็น
๖. ได้ยิน บอกว่า ไม่ได้ยิน
๗. ทราบ บอกว่า ไม่ทราบ
๘. รู้ บอกว่า ไม่รู้
[ส่วนถ้อยคำของอารยชนนั้น เป็นไปตรงกันข้ามจากอนริยโวหาร ๘ ประการนี้ คือ บอกตามความเป็นจริง ไม่บิดบังอำพราง เช่น เห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น เป็นต้น รุ.๒๑๐]
โวหารหรือถ้อยคำทั้ง ๒ ประเภทนี้ ก็คือ เสียงที่เปล่งออกมา อันเป็นสัททรูปที่ปรากฏเป็นอารมณ์แก่โสตวิญญาณจิตและโสตทวาริกจิตทั้งหลาย เรียกว่า สัททารมณ์ แล้วผ่านไปเป็นอารมณ์แก่มโนทวาริกจิตทั้งหลาย เรียกว่า ธัมมารมณ์ แล้วมโนทวาริกจิตทั้งหลายก็แปลงสัททารมณ์อันเป็นปรมัตถ์นั้นมาบัญญัติ เรียกว่า สัททบัญญัติ
สัททารมณ์เหล่านี้เป็นเสียงที่เกิดจากอำนาจจิต กล่าวคือ บุคคลทั้งหลายคิดด้วยใจแล้วจึงเปล่งเสียงออกมาตามที่จิตคิด จึงเรียกว่า จิตตชรูป เสียงที่เกิดจากอำนาจจิตอันเป็นอกุศลหรือสันดานที่หยาบ ก็เรียกว่า อนริยโวหาร เสียงที่เกิดจากอำนาจจิตที่เป็นกุศลหรือสันดานที่ประณีต ก็เรียกว่า อริยโวหาร