| |
ความหมายของโคจรรูปและวิสยรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๙๖ ได้แสดงความหมายของโคจรรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า โคจร คือ ที่หากินซึ่งโคเที่ยวไปเสมอ

ในที่นี้ชื่อว่า โคจร เพราะเป็นเหมือนที่หากินซึ่งโคเที่ยวไปเสมอ [ในความหมายนี้ โคจรรูป จึงหมายถึงรูปที่จิตท่องเที่ยวเกิดทางทวารทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น อารมณ์จึงเปรียบเหมือนที่หากิน จิตเปรียบเหมือนโคที่เที่ยวรับอารมณ์ทั้ง ๕ นั้น]

อีกนัยหนึ่ง คำว่า โค คือ อินทรีย์มีจักษุเป็นต้น

โคจรรูป คือ รูปเป็นที่ท่องเที่ยวไปของอินทรีย์มีจักษุเป็นต้นที่มีจิตอาศัยแล้ว

อีกนัยหนึ่ง โคจรรูป หมายถึง รูปที่เที่ยวไปในอินทรีย์ คือ ดำเนิน หรือ กระทบ

เมื่อสรุปความแล้ว โคจรรูปมีความหมาย ๓ ประการคือ

๑. รูปที่เป็นเหมือนสถานที่หากินซึ่งโคเที่ยวไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า“โคจโร วิยาติ โคจรานิ” แปลความว่า รูปเหล่าใดที่เป็นเหมือนสถานที่หากินซึ่งโคเที่ยวไป เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านั้น จึงชื่อว่า โคจระ

๒. รูปที่เป็นสถานที่เที่ยวไปของอินทรีย์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “คาโว อินฺทฺริยานิ จรนฺติ เอเตสูติ โคจรานิ” แปลความว่า โคคืออินทรีย์ทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในรูปเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านี้ จึงชื่อว่า โคจระ

๓. รูปที่เที่ยวไปในอินทรีย์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “โคสุ อินฺทฺริเยสุ จรนฺตีติ โคจรานิ” แปลความว่า รูปเหล่าใดย่อมเที่ยวไปในโคคืออินทรีย์ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านั้น จึงชื่อว่า โคจระ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๙๗ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องโคจรรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปเป็นต้นที่ชื่อว่า โคจรรูป เพราะเป็นอารมณ์ของปัญจวิญญาณ ฯ ที่ชื่อว่า โคจร เพราะอรรถว่า เป็นที่เที่ยวไปแห่งโค คืออินทรีย์ฯ จริงอยู่ คำว่า โคจร นี้ เป็นชื่อแห่งอารมณ์ ฯ แต่รูปนี้ แม้มีถึง ๕ อย่าง มีความเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือมีความกระทบที่จักขุประสาทเป็นต้นเป็นลักษณะ ตามลำดับ

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๙๘ ได้แสดงความหมายของวิสยรูปหรือโคจรรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิสยรูปหรือโคจรรูป หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น และกายโดยตรง มีจำนวน ๗ รูป หรือ ๔ รูป คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ กล่าวคือ ปถวีโผฏฐัพพารมณ์ เตโชโผฏฐัพพารมณ์ วาโยโผฏฐัพพารมณ์

บทสรุปของผู้เขียน :

เมื่อสรุปแล้ว คำว่า โคจรรูป หมายถึง รูปอันเป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิตและเจตสิก ได้แก่ รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกทั้งหลายนั่นเอง มี ๕ อย่าง คือ

๑. วัณณรูป ได้แก่ รูปารมณ์ คือ สีต่าง ๆ ที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้

๒. สัททรูป ได้แก่ สัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ ที่สามารถกระทบกับโสตปสาทได้

๓. คันธรูป ได้แก่ คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ที่สามารถกระทบกับฆานปสาทได้

๔. รสรูป ได้แก่ รสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ที่สามารถกระทบกับชิวหาปสาทได้

๕. โผฏฐัพพรูป ได้แก่ ปถวี เตโช วาโย โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ที่สามารถกระทบกับกายปสาทได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |