ไปยังหน้า : |
สมาธิสัมโพชฌังคุปปาทธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์ประกอบแห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นตัวเอกัคคตาเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตและมัคคจิตในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับ จนถึงมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจัยที่เป็นเหตุสนับสนุนให้สมาธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น มี ๑๑ ประการ คือ
๑. วัตถุวิสะทะก๎ริยะตา การทำวัตถุให้สละสลวย หมายถึง การจัดสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสัปปายะแก่การปฏิบัติ ในเรื่องสรีระร่างกายต้องชำระให้สะอาด เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต้องซักให้สะอาด ที่อยู่อาศัยต้องปัดกวาดเช็ดถูชำระให้สะอาดและจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมองดูแล้วสบายตา มีอากาศถ่ายเทปลอดโปร่ง บุคคลที่คบหาสมาคมก็ล้วนแต่มีคุณธรรมที่จะเกื้อหนุนให้การเจริญสมาธิเป็นไปโดยสะดวก
๒. อินท๎ริยะสะมัตตะปะฏิปาทะนะตา การปรับอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอกัน ไม่ให้ยิ่งหรือหย่อนกว่ากัน หมายความว่า ในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงความบริสุทธิ์นั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะละเลยเสียไม่ได้ คือ อินทรีย์ ๕ ซึ่งหมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการกระทำกิจของตน ๆ เพื่อให้การงานนั้น ๆ สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี โดยเฉพาะในการงานทางใจคือกรรมฐานนั้น ต้องอาศัยอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้เป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิบัติ แม้เวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปแสดงธรรมโปรดบุคคลใด ย่อมทรงพิจารณาดูความแก่รอบของอินทรีย์ ๕ นี้ก่อน ถ้ามีอินทรีย์แก่รอบเต็มที่แล้ว จึงจะเสด็จไปโปรด ถ้าอินทรีย์ยังอ่อนอยู่ ก็ยังไม่เสด็จไปโปรด หรือเพียงเสด็จไปแสดงแนวทางในการอบรมอินทรีย์ก่อน ภายหลังจึงแสดงธรรมอันเหมาะสมแก่อุปนิสัยแห่งมรรคผลของบุคคลนั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงต้องอบรมอินทรีย์ ๕ ให้มีกำลังเท่าเทียมกัน เป็นคู่ ๆ คือ ศรัทธา หรือสัทธินทรีย์ กับ ปัญญาหรือปัญญินทรีย์นั้นต้องมีกำลังเป็นไปโดยสม่ำเสมอกัน วิริยะหรือวิริยินทรีย์ กับ สมาธิหรือสมาธินทรีย์ ต้องมีกำลังเป็นไปโดยสม่ำเสมอกัน ส่วนสติหรือสตินทรีย์นั้นยิ่งมีกำลังมากเท่าไร ย่อมจะเป็นอุปการะแก่อินทรีย์ทั้ง ๒ คู่ข้างต้นนั้น และเป็นอุปการะในกิจการงานทั้งปวงได้
๓. นิมิตตะกุสะละตา ความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต หมายความว่า บุคคลที่สามารถอบรมสมาธิให้เข้าถึงสมาธิสัมโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจได้นั้น ต้องเป็นบุคคลผู้ฉลาดในเรื่องนิมิตของกรรมฐานว่า กรรมฐานที่เจริญอยู่นั้นมีอะไรเป็นนิมิตคือเป็นอารมณ์นั่นเอง และต้องคอยเพ่งพินิจจับจ้องอยู่กับอารมณ์ตลอดเวลา ไม่ให้จิตหลุดไปจากอารมณ์ ถ้าจิตหลุดออกไปจากอารมณ์นั้น ก็เป็นอันว่า กรรมฐานได้หลุดลอยหายไปแล้ว จึงต้องจับจ้องพิจารณาอยู่ในนิมิตหรืออารมณ์นั้นเป็นนิตย์ และเมื่อนิมิตมีสภาพเป็นอย่างไร หยาบหรือประณีต ชัดหรือไม่ชัด เป็นต้น ก็ต้องกำหนดรู้เท่าทัน และปรับสภาพจิตให้เข้าไปแนบสนิทกับนิมิตนั้นไปเรื่อย ๆ จนจิตแนบแน่นสนิทกับนิมิตนั้นโดยไม่หลุดหายไปไหน สมาธิย่อมถึงความแนบแน่นเป็นเอกัคคตาในองค์ฌานและเป็นสัมมาสมาธิในองค์มรรคได้
๔. สะมะเย จิตตัสสะ ปัคคัณหะณะตา การรู้จักประคองจิตที่ควรประคอง หมายความว่า บุคคลผู้มีบารมีแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถกำหนดรู้สภาพของจิตได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ย่อมรู้เท่าทันสภาพของจิตได้เป็นอย่างดี และต้องรู้จักอุบายในการประคับประคองรักษาจิตให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดอาการเฟื่องฟูและฟุ๊บแฟ๊บไปตามสภาพของนิวรณธรรม ด้วยเหตุนี้ เมื่อจิตของพระโยคีบุคคลมีอาการที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอเป็นปกติแล้ว พระโยคีบุคคลนั้นควรที่จะคอยประคับประคองจิตให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอดังที่เป็นอยู่ เปรียบเหมือนนายสารถีที่ขับรถม้า ต้องคอยดูม้าทั้งคู่ให้วิ่งไปโดยสม่ำเสมอกัน ตัวใดเชื่องช้าอืดอาด ย่อมกระตุกเชือกหรือหวดแซ่ลงที่หลังม้าตัวนั้นเพื่อกระตุ้นให้วิ่งไปเคียงคู่กับม้าอีกตัวหนึ่ง หรือม้าตัวใดคึกคะนองวิ่งแซงขึ้นหน้าม้าอีกตัวหนึ่ง อันจะทำให้รถเสียหลัก นายสารถีต้องชักดึงเชือกที่ผูกม้าตัวที่วิ่งเร็วรั้งไว้เพื่อให้วิ่งไปสม่ำเสมอกับอีกตัวหนึ่ง ฉันนั้น
๕. สะมะเย จิตตัสสะ นิคคัณหะณะตา การรู้จักข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม หมายความว่า ในเวลาใดที่จิตมีอาการเฟื่องฟูโดยสภาพธรรมหรืออารมณ์บางอย่าง อันจะทำให้จิตหลุดออกไปจากอารมณ์กรรมฐาน สติกำหนดรู้ไม่เท่าทัน และอินทรีย์ ๕ มีสภาพเป็นไปโดยไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากศรัทธากับวิริยะมีกำลังมากกว่าปัญญาและสมาธิ ในขณะนั้น พระโยคีบุคคลต้องคอยกำหนดข่มจิตไว้และดึงจิตให้มาสนใจอยู่เฉพาะในอารมณ์กรรมฐานที่กำหนดเพ่งพิจารณาเท่านั้น ไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น พร้อมกับปรับสภาพของอินทรีย์ ๕ ให้มีกำลังสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน เปรียบเหมือนนายสารถีผู้ขับรถม้า เมื่อเห็นม้าตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่เกิดอาการคึกคะนองวิ่งเร็วเกินไป ย่อมชักดึงเชือกเข้ามาเพื่อบอกเตือนม้ามิให้คึกคะนองโลดโผนเกินไป
๖. สะมะเย สัมปะหังสะนะตา การทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง หมาย ความว่า ในขณะใด ที่สภาพจิตมีความซึมเซาหรือท้อแท้เบื่อหน่ายต่อการเพ่งพินิจในอารมณ์กรรมฐาน ด้วยอำนาจถีนมิทธนิวรณ์ หรือเพราะอำนาจศรัทธากับสมาธิมีกำลังน้อยกว่าวิริยะกับปัญญา อันทำให้เกิดความอืดอาดเชื่องช้า ในขณะนั้น พระโยคีบุคคลต้องปลุกจิตให้ร่าเริงด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ การสอดส่องพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในการปฏิบัติและปีติสัมโพชฌงค์ คือ การปลาบปลื้มยินดีต่อหนทางแห่งการปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวง เปรียบเหมือนนายสารถีผู้ขับรถม้า เมื่อเห็นว่า ม้ามีอาการเชื่องช้าอืดอาด ย่อมกระตุกเชือก หรือลงแซ่ที่หลังม้า เพื่อกระตุ้นให้ม้าตื่นตัวออกกำลังให้เต็มที่
๗. สะมะเย อัชฌุเปกขะนะตา การปล่อยวางจิตในสมัยที่ควรปล่อยวาง หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาเห็นว่า อินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นมีสภาพเป็นไปโดยสม่ำเสมอกันในอารมณ์กรรมฐาน และสภาพจิตใจในขณะนั้นก็มีความผ่องใสเบิกบานร่าเริงบันเทิงในธรรม มีสติกำกับอย่างรู้เท่าทันสภาพธรรมทั้งปวง ในขณะนั้น พระโยคีบุคคลไม่ต้องทำกิจในการยกจิตหรือประคองจิตแต่อย่างใด เพียงแต่คอยเพ่งดูอยู่เฉย ๆ คอยกำหนดดูมิให้จิตเฟื่องฟูและฟุบแฟบไปเท่านั้น เปรียบเหมือนนายสารถีผู้ขับรถม้า เมื่อเห็นว่า ม้าทั้งคู่นั้นดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน และไม่ช้าเกินไปไม่เร็วเกินไป ในขณะนั้น นายสารถีย่อมนั่งจับเชือกแบบหย่อน ๆ ปล่อยให้ม้าทั้งคู่วิ่งไปตามปกติ
๘. อะสะมาหิตะปุคคะละปะริวัชชะนะตา หลีกเว้นไม่คบบุคคลผู้ไม่มีสมาธิจิต หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้ปฏิบัติมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์ต้องกำหนดพิจารณาเลือกสรรบุคคลที่จะเข้าไปหาหรือเข้าไปพบปะพูดคุยสนทนา ถ้าเห็นว่า บุคคลนั้นมีอุปนิสัยหรือกิริยาอาการและคำพูดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติธรรม อันจะทำให้ห่างเหินจากความสงบแล้ว ต้องหลีกเว้นจากบุคคลนั้นเสีย เพราะถ้าเข้าไปคบบุคคลเช่นนั้นแล้ว สมาธิที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น ส่วนสมาธิที่ได้แล้ว อาจเสื่อมสูญไป
๙. สะมาหิตะปุคคะละเสวะนะตา การคบหาสมาคมเฉพาะบุคคลผู้มีสมาธิ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้ปฏิบัติไปสู่ความบริสุทธิ์นั้น เมื่อได้พิจารณาเห็นบุคคลที่เป็นอุปการะต่อสมาธิภาวนาแล้ว ครั้นเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปหาหรือไปพบปะสนทนาเพื่อความรู้ความเข้าใจในแนวทางแห่งการปฏิบัติยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็พึงทำการกำหนดหมายไว้ในใจถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในการเข้าไปคบหาสมาคมกับบุคคลนั้นเท่าที่จำเป็น รู้จักประมาณในการคบหาและการพูดคุยให้อยู่ในกรอบแห่งธรรมวินัย
๑๐. ฌานะวิโมกขะวิจักขะณะตา การพิจารณาฌานวิโมกข์ หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลผู้เจริญสมาธิภาวนาจนถึงความบริสุทธิ์โดยลำดับแล้ว ต้องพิจารณาถึงความหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งฌาน ที่เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ ซึ่งเป็นการข่มกิเลสนิวรณ์ไว้ได้ด้วยอำนาจฌานสมาบัติ ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน ซึ่งทำให้มีอิสระจากกิเลสที่เป็นเหตุให้จิตใจวุ่นวาย ทำให้มีความสุขในชีวิตประจำวันยิ่งกว่าความสุขในกามมากมายหลายเท่า เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาถึงอานิสงส์ของฌานวิโมกข์เช่นนั้นแล้ว จิตย่อมเข้าถึงสมาธิที่ประณีตยิ่งขึ้นจนเข้าถึงความเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ในที่สุด
๑๑. ตะทะธิมุตตะตา การน้อมจิตไปในสมาธิสัมโพชฌงค์ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ต้องน้อมจิตไปในสมาธิอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้จิตหันเหไปสนใจเรื่องอื่น เพื่อป้องกันจิตไม่ให้หลุดไปจากอารมณ์กรรมฐาน และเพื่อรักษาสภาพของสมาธิให้ดำรงอยู่และมีความแนบแน่นในอารมณ์กรรมฐานยิ่งขึ้น เมื่อพระโยคีบุคคลฝึกน้อมจิตไปในสมาธิอยู่เสมอแล้ว จิตของพระโยคีบุคคลย่อมเข้าถึงความสงบระงับจากการรับอารมณ์หลากหลายแล้วตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว บรรลุถึงสมาธิตามลำดับ ได้แก่ ขณิกสมาธิ คือ ความสงบเป็นขณะ ๆ อุปจารสมาธิ คือ ความสงบละเอียดลึกใกล้จะถึงความแนบแน่น และ อัปปนาสมาธิ คือ ความสงบแนบแน่นในอารมณ์เดียว บรรลุถึงสมาธิสัมโพชฌงค์ได้ในที่สุด