| |
อุปมาผู้มีศีล ๑๐ ประการ   |  

๑. อะคะทะสะโม ศีลเปรียบด้วยยาดับพิษ หมายความว่า ศีลนี้เป็นเหมือนโอสถที่ใช้กำจัดพิษแห่งกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนยาที่ใช้ในการจำกัดพิษของโรคภัยไข้เจ็บ

๒. โอสะธะสะโม ศีลเปรียบด้วยยาบำรุง หมายความว่า ศีลนี้ย่อมเป็นเครื่องบำรุงกายกรรมและวจีกรรม ที่เป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และให้มีกำลังแข็งแรง จนเข้าถึงสภาพเป็นองค์มรรคในการประหาณอนุสัยกิเลสให้หมดไป เปรียบเหมือนยาบำรุงร่างกายย่อมทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง สามารถต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บได้ และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดขึ้นได้

๓. อุทะกะสะโม ศีลเปรียบด้วยน้ำ หมายความว่า ศีลนี้ย่อมเป็นเครื่องชำระกายกรรมและวจีกรรมให้บริสุทธิ์ผุดผ่องจากกิเลสตัณหาราคะในเบื้องต้น เปรียบเหมือนน้ำ ย่อมเป็นเครื่องชำระความเศร้าหมองของร่างกายและเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สอยทั้งปวง ตลอดเครื่องเศร้าหมองของวัตถุสิ่งของทั้งหลาย

๔. มะณิระตะนะสะโม ศีลเปรียบด้วยแก้วมณี หมายความว่า แก้วมณีนั้นเป็นสิ่งสูงค่า ยังประโยชน์และสมบัติให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของตามที่ปรารถนาได้ ศีลนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมยังประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีลอย่างมากมายนับประมาณมิได้

๕. นาวาสะโม ศีลเปรียบด้วยเรือ หมายความว่า ศีลนี้ย่อมนำพาสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นจากห้วงแห่งกิเลสไปสู่ฝั่งอันเกษมคือสุคติภูมิและพระนิพพาน เปรียบเหมือนเรือย่อมนำพาบุคคลให้ข้ามพ้นจากห้วงน้ำให้ขึ้นสู่ฝั่งด้วยความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ในน้ำ

๖. สัตถะวาหะสะโม ศีลเปรียบด้วยหัวหน้ากองเกวียน หมายความว่า ศีลนี้ย่อมนำสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นทางกันดารในสังสารวัฏ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เป็นต้น เปรียบเหมือนนายกองเกวียนผู้ฉลาดและเก่งกล้า ย่อมนำลูกเกวียนให้พ้นทางกันดารและป่าดงอันเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ ให้บรรลุถึงสถานอันเกษมโดยความปลอดภัย

๗. วาตะสะโม ศีลเปรียบด้วยลม หมายความว่า ศีลนี้ย่อมพัดหอบเอาความเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลสให้ปลาสนาการไปจากจิตใจของบุคคลผู้มีศีล ทำให้เกิดความเย็นใจ เปรียบเหมือนลมย่อมพัดพาเอาความร้อนกายให้ปลาสนาการไป ทำให้ร่างกายเย็นสบาย

๘. มะหาเมฆะสะโม ศีลเปรียบด้วยมหาเมฆ หมายความว่า ศีลนี้ย่อมยังความปรารถนาอันดีงามแห่งใจของบุคคลผู้มีศีลให้บริบูรณ์เต็มเปี่ยมได้ เปรียบเหมือนมหาเมฆเมื่อตั้งขึ้นแล้วย่อมยังห่าฝนให้ตกลงมาก่อความชุ่มชื่นให้เกิดขึ้นแก่หมู่ประชาได้

๙. อาจะริยะสะโม ศีลเปรียบด้วยอาจารย์ หมายความว่า ศีลนี้ย่อมเป็นบาทฐานให้บุคคลผู้มีศีลได้เกิดความคิดอ่านในการกระทำคุณงามความดีต่าง ๆ ที่สูงขึ้นได้ เปรียบเหมือนอาจารย์ย่อมยังศิษย์ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะต่าง ๆ สูงขึ้นไปตามลำดับ

๑๐. สุเทสะกะสะโม ศีลเปรียบด้วยผู้ชี้ทาง หมายความว่า ศีลนี้ย่อมชักนำให้บุคคลเกิดอุตสาหะในการกระทำคุณงามความดีและให้ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ เป็นต้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ชี้ทาง ย่อมชี้บอกบุคคลผู้หลงทางให้ดำเนินไปสู่หนทางที่ถูกต้องตามประสงค์ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |