| |
อรรถของลหุตา ๔ ประการ   |  

กายลหุตาและจิตตลหุตาเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่เป็นอาการเบาของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ซึ่งมีอรรถคือความหมาย ๔ ประการ คือ

๑. ลหุตา หมายความว่า ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เป็นความเบาของสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน

๒. ลหุปริณามตา หมายความว่า ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีความเบาและเปลี่ยนไปได้เร็ว คือ มีความว่องไวกระฉับกระเฉงในกิจการงานอันดีงาม

๓. อทันธนตา หมายความว่า สภาพของลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีความเป็นไปโดยฉับพลัน ไม่เชื่องช้าอืดอาดด้วยอำนาจแห่งกิเลส

๔. อวิตถนตา หมายความว่า สภาพของลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมปฏิเสธความหนัก คือ เป็นสภาวธรรมที่ไม่เป็นภาระหนัก ไม่มีความกระด้าง เพราะไม่มีกิเลสภาระ คือ ไม่มีกิเลสที่ทำให้หนัก ได้แก่ ถีนมิทธะ เป็นต้น

กายลหุตาและจิตตลหุตาเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส คือ ถีนะมิทธะ เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่ทำให้จิตท้อถอยจากการสร้างคุณงามความดี เพราะฉะนั้น เมื่อลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมกำจัดกิเลสที่ทำให้สัมปยุตตธรรมเกิดอาการหนักอืดอาดหมดไป แล้วทำให้สัมปยุตตธรรมมีความเบาสบายปลอดโปร่งโล่งใจ มีความพร้อมที่จะประกอบกิจการงานอันดีงามทั้งหลาย หรือมีความพร้อมที่จะรับรู้สิ่งที่ดีงามทั้งหลาย โดยไม่คัดค้านต่อต้าน หรือแสดงอาการหน่ายแหนงจากคุณงามความดีนั้น ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |