| |
สรุปความเรื่องวิจารเจตสิก   |  

วิจารเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดแห่งอัญญสมานเจตสิก ๑๓ เป็น ปกิณณกเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั่วไปทุกประเภท แต่ประกอบไม่ได้ทั้งหมด ประกอบได้เป็นบางดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้

วิจารเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับจิตดวงใดได้แล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ และเมื่อระบุไว้ว่า ไม่ประกอบกับจิตดวงใด เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วยโดยประการทั้งปวง

วิจารเจตสิกประกอบกับจิตได้ ๖๖ ดวง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ อเหตุกกิริยาจิต ๓ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑

ส่วนจิตที่วิจารเจตสิกไม่ประกอบร่วมด้วยนั้นมี ๕๕ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ ปัญจมฌานจิต ๒๓

เหตุที่วิจารเจตสิกไม่ประกอบกับทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ นั้น เพราะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยของตนที่ประชุมพร้อมแล้ว เช่น จักขุวิญญาณจิตต้องอาศัยเหตุปัจจัย ๔ ประการ ได้แก่ ๑] ต้องมีจักขุประสาทดี ๒] มีรูปารมณ์มาปรากฏเฉพาะหน้า ๓] มีแสงสว่างที่พอเหมาะ ๔] มีมนสิการคือความใส่ใจต่อรูปารมณ์นั้น เมื่อเหตุปัจจัยครบ ๔ ประการนี้แล้ว จักขุวิญญาณจิตย่อมเกิดขึ้น แต่ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จักขุวิญญาณจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ วิญญาณจิตดวงอื่น ๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีวิจารเจตสิกทำการประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในอารมณ์ เพราะถึงแม้วิจารเจตสิกจะพยายามประคับประคองจิตไว้ในอารมณ์เพียงใดก็ตาม ถ้าเหตุปัจจัยไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ ทวิปัญจวิญญาณจิตแต่ละดวงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้อยู่นั่นเอง

เหตุที่วิจารเจตสิกไม่ประกอบกับตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ และปัญจมฌานจิต ๒๓ นั้น เพราะการเจริญฌานนั้น วิจารเจตสิกเป็นหนึ่งในองค์ฌาน ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และในการเจริญฌานให้สงบประณีตยิ่งขึ้นด้วยการเลื่อนขั้นฌานให้สูงขึ้นนั้น ต้องกำหนดละองค์ฌานที่หยาบกว่าออกเสียจากความรู้สึก เมื่อละองค์ฌานนั้น ๆ ได้แล้ว ฌานจิตขั้นที่สูงกว่าย่อมปรากฏเกิดขึ้น กล่าวคือ ทุติยฌานละวิตก ตติยฌานละวิจาร จตุตถฌานละปีติ และปัญจมฌานเปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา ด้วยเหตุนี้ วิจารเจตสิกในฐานะเป็นองค์ฌานจึงถูกละออกไปจากความรู้สึกในฌานตั้งแต่ตติยฌานแล้ว เพราะฉะนั้น ในฌานจิตทั้งหลาย ตั้งแต่ตติยฌานเป็นไปต้น จึงไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วย

วิจารเจตสิกเกิดพร้อมกับเจตสิกได้ทั้งหมด ๕๑ ดวง [เว้นวิจาร] คือ

เมื่อประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ แต่ละดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นวิจาร] และอกุศลเจตสิก ๑๔ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับอเหตุกจิต ๘ ดวง [เว้นจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และอุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ อเหตุกกิริยาจิต ๓ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นวิจารและฉันทะ] ตามที่จิตแต่ละดวงนั้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับโสภณจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นวิจาร] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวง จะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อจิตแต่ละดวงเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกทั้งหลาย วิจารเจตสิกย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกเหล่านั้นด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |