| |
เหตุให้เกิดมหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๗ ประการ [อีกนัยหนึ่ง]   |  

อีกนัยหนึ่ง มหากุศลจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๗ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. อะปะริปุจฉะกะตา เป็นผู้ที่ไม่ชอบสอบถามข้ออรรถข้อธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่ค่อยขวนขวายในการแสวงหาความรู้ ไม่ชอบศึกษาเล่าเรียน หรือไม่ชอบสอบถามข้อที่ตนสงสัย มักเก็บกดไว้คนเดียว และคิดตัดสินใจเอาเองแบบผิด ๆ หรือไม่ชอบสอบถามข้ออรรถข้อธรรมที่มีสาระแก่นสาร มักสนใจสอบถามแต่เรื่องที่ไร้สาระที่ไม่เป็นประโยชน์ และมักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส กระแสโลก กระแสสังคม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้องตามเหตุผลที่เป็นจริง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๒. วัตถุอะวิสุทธะก๎ริยะตา เป็นผู้ที่ไม่ชอบทำความสะอาดร่างกายและจิตใจ ตลอดทั้งวัตถุเครื่องใช้สอยต่าง ๆ หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นคนมักสกปรก มัวซัว ไม่มีระเบียบวินัย ขาดการจัดระบบชีวิตของตนเอง จึงเป็นคนที่ไม่มีระเบียบแบบแผน มีสภาพเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ถือเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ก็สกปรก ที่อยู่อาศัยก็รกรุงรัง การงานต่างๆ ก็อากูลคั่งค้าง ไม่สำเร็จเรียบร้อยสักอย่าง สิ่งของต่าง ๆ จัดเก็บไม่เป็นระเบียบ เวลาจะหยิบจะใช้ก็ไม่ถนัด จะค้นหาสักอย่างหนึ่ง ก็หาลำบาก บางทีต้องรื้อกระจัดกระจายไปหมด ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ เป็นการสั่งสมนิสัยโทสะ นิสัยเกียจคร้านและนิสัยหงุดหงิดรำคาญขึ้นในสันดาน ทำให้จิตใจไม่ปลอดโปร่ง เต็มไปด้วยความเศร้าหมอง ไม่สามารถคิดอ่านข้ออรรถข้อธรรมให้ละเอียดลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้น กระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการทำกุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๓. อินท๎ริยะอะสะมัตตะปะฏิปาทะนะตา ไม่หมั่นรักษาอินทรีย์ให้มีความเสมอภาคกัน หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่รู้จักประคับประคองอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้ทรงไว้และเพิ่มพูนยิ่งขึ้นโดยความเสมอภาค ทำให้อินทรีย์ ๕ นั้นเป็นไปโดยไม่สม่ำเสมอกัน คือ ศรัทธากับปัญญาไม่สม่ำเสมอกัน วิริยะกับสมาธิไม่สม่ำเสมอกัน และขาดสติในการยับยั้งความคิด จึงทำให้เกิดความยิ่งหย่อนกว่ากัน หรือไม่ได้ทำการบ่มเพาะอินทรีย์ใด ๆ ให้เกิดขึ้นเลย อินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เสื่อมเสียหดหายไป อินทรีย์ใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะขาดเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว หรือเป็นผู้ที่ไม่ค่อยสนใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมทางด้านจิตใจ มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส กระแสโลก กระแสสังคมโดยมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นบุคคลผู้มืดบอดทางปัญญา ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการทำบุญกุศลเช่นนั้น มหากุศลจิต ที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๔. ทุปปัญญะปุคคะละเสวะนะตา ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีปัญญา หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ชอบคลุกคลี ชอบคบหาสมาคมกับคนโง่เขลาเบาปัญญา ซึ่งมีความคิดอ่านไม่รอบคอบ มีความคิดเห็นที่จมปลักอยู่กับอุบายอันไม่แยบคาย ขาดความเป็นกัลยาณชน มีลักษณะจมลงโดยอาการอันบัณฑิตทั้งหลายพึงรังเกียจ ไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตและสติปัญญา เมื่อบุคคลนั้นคบหาสมาคมหรือคลุกคลีอยู่กับบุคคลเช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้ได้เสพคุ้นกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ได้พบเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี หรืออาจติดนิสัยอันธพาลชนนั้นมาด้วย กลายเป็นบุคคลผู้ถูกโมหะเข้าครอบงำ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลเช่นนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๕. ปัญญะวันตะปุคคะละปะริวัชชะนะตา ชอบหลีกเลี่ยงให้พ้นจากบุคคลผู้มีปัญญา หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่ชอบคบหาสมาคมกับบัณฑิต เกรงว่า จะวางตัวลำบาก หรือไม่ชอบเข้าไปหา ไม่ชอบสนทนากับบุคคลผู้เป็นบัณฑิต เกรงว่าจะต้องใช้สติปัญญาคิดอ่านในสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งที่เกินวิสัยแห่งสติปัญญาของตน ซึ่งนิสัยของตนเองนั้นไม่ชอบคิดไม่ชอบพิจารณาไม่ชอบใช้สมอง ชอบแต่สิ่งตื้น ๆ ง่าย ๆ หรือมีจุดประสงค์ในทางที่ไม่ดีแอบแฝงอยู่ จึงไม่กล้าเข้าใกล้บัณฑิต กลัวว่าท่านเหล่านั้นจะรู้ความจริงแล้ว ตนเองย่อมจะเกิดความเก้อเขิน จึงพยายามหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากผู้รู้ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มืดบอดทางปัญญา ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลเช่นนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๖. คัมภีระญาณะจะริยะอะปัจจะเวกขะณะตา ไม่ชอบพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมที่ลึกซึ้งเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่ชอบศึกษาเล่าเรียน ไม่ชอบแสวงหาวิชาความรู้ หรือไม่ชอบแสวงหาธรรมะที่มีเนื้อความอันละเอียดลึกซึ้งที่จะต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มักชอบพิจารณาแต่สิ่งที่ตื้นและง่าย หรือสิ่งที่ไม่ต้องใช้ปัญญา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลเช่นนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๗. อะตะทะธิมุตติกะตา เป็นผู้ไม่ชอบน้อมจิตไปในการแสวงหาธรรมรส หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นบุคคลที่ไม่ชอบน้อมจิตไปในการแสวงหาธรรมะอันทำให้เกิดปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ชอบแต่แสวงหาสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดปัญญา หรือแสวงหาแต่สิ่งที่ทำให้เกิดความหมกมุ่นหลงใหล ไร้สาระแก่นสาร ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลเช่นนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |