| |
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๕ ได้อธิบายเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้ไว้ ดังต่อไปนี้

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้ หมายถึง อาการร้องไห้ที่เกิดขึ้นของชนทั้งหลาย ย่อมเกิดจากจิตในขณะที่มีความเศร้าโศกเสียใจ จิตที่ทำให้การร้องไห้เกิดขึ้นได้นั้น มี ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้ หมายถึง อาการร้องไห้ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากอำนาจของจิตในขณะที่มีความเศร้าโศกเสียใจ จิตที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอาการร้องไห้ขึ้นได้นั้น มี ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้เกิดขึ้น ๑๔ รูปตามสมควร ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ [เว้นกายวิญญัติ] วิการรูป ๓ ซึ่งมีอาการเป็นไป ๓ ประเภท [เหมือน กันกับจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะนั่นเอง] คือ

๑. การร้องไห้ที่มีเสียงออกมาเบา ๆ และไม่แข็งแรงหรือไม่ดังมากนัก อันเนื่องมาจากจิตที่ไม่ค่อยเข้มแข็ง กล่าวคือ เกิดจากความคับแค้นใจอย่างหนัก ที่เรียกว่า อุปายาส หรือเกิดจากการพยายามอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจเอาไว้ โดยอดกลั้นไว้ไม่ให้มีเสียงสะอื้นออกมาให้บุคคลอื่นได้ยิน เป็นต้น ทำให้การร้องไห้นั้นมีเสียงสะอื้นเล็ดลอดออกมาจากภายในลำคอบ้างเล็กน้อยและแผ่วเบา จนฟังไม่ได้ศัพท์ ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๙ รูป เรียกว่า สัททนวกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีสัททรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑

๒. การร้องไห้ที่มีเสียงออกมาเบา ๆ ไม่ดังมากนัก อันเนื่องมาจากจิตที่ไม่ค่อยเข้มแข็ง กล่าวคือ เกิดจากความคับแค้นใจอย่างหนัก ที่เรียกว่า อุปายาส หรือเกิดจากการพยายามอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจเอาไว้ โดยอดกลั้นไว้ไม่ให้มีเสียงสะอื้นออกมาดังเกินไป เป็นต้น ซึ่งเป็นการร้องไห้ที่มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากภายในลำคอบ้างเล็กน้อย คล้าย ๆ กับการร้องไห้แบบที่ ๑ แต่มีการเผยวจีวิญญัติออกมาด้วย สามารถได้ยินเป็นคำ เช่น เสียงสะอื้นเบา ๆ เป็นต้น ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๑๐ รูป เรียกว่า วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๐ รูปที่มีสัททรูปเป็นประธานและมีวจีวิญญัติรูปเกิดพร้อมด้วย ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ และวจีวิญญัติรูป ๑

๓. การร้องไห้ที่มีเสียงออกมาดัง ๆ และมีความหนักแน่น อันเกิดจากจิตที่มีสภาพเศร้าโศกปกติธรรมดา ที่เรียกว่า โสกะ ยังไม่ถึงกับเป็นทุกข์พิเศษที่เรียกว่า อุปายาส อันจะทำให้ใจเหือดแห้งจนร้องไห้ไม่ออก หรือเกิดจากเหตุที่บุคคลนั้นไม่มีความอดกลั้นกิริยาอาการ ทำให้ปล่อยโห่มีเสียงร้องไห้ออกมาดัง ๆ และมีความชัดเจน ซึ่งบุคคลอื่นสามารถรู้ความประสงค์ของการร้องไห้นั้นได้ เช่น เด็กร้องไห้เพราะอยากกินขนมหรืออยากได้ของเล่น เป็นต้น ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๑๓ รูป เรียกว่า วจีวิญญัตติ สัททลหุตาทิเตรสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๓ รูปที่มีสัททรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นประธาน และมีวิการรูป ๓ มีลหุตารูปเป็นต้นเกิดร่วมด้วย ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ วิการรูป ๓ หมายความว่า จิตตชรูปประเภทวจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาปนี้ ก็ได้แก่ จิตตชรูปประเภทที่เป็นวจีวิญญัติสัทททสกกลาปนั่นเอง แต่มีวิการรูป ๓ คือ ลหุตา ความเบา มุทุตา ความอ่อน และกัมมัญญตา ความเหมาะควรแก่การงานเกิดร่วมด้วย จึงทำให้การร้องไห้นั้นมีสภาพหนักแน่นและมีความเป็นไปคล่องแคล่ว มีเสียงดัง และมีสภาพชัดเจน

ปฏิกิริยาของจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้นี้ มีความมุ่งหมายถึงในเวลาที่ร้องไห้เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการแสดงปฏิกิริยาใด ๆ ทางร่างกายออก มาด้วย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะนั่นแล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |