| |
เหตุที่ทำให้เกิดโลภะสสังขาริก ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนนั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๖ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

๑. สะสังขาริกะกัมมะชะนิตะปะฏิสันธิกะตา มีปฏิสนธิจิตเกิดมาจากสสังขาริกจิต หมายความว่า เป็นบุคคลผู้เกิดมาด้วยวิบากของกรรมที่เป็นสสังขาริก คือ ทำกรรมโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงทำให้เป็นผู้ที่มีการตัดสินใจไม่ค่อยเด็ดขาด ในเรื่องที่ตนไม่ค่อยเจนจัดหรือชำนาญ ฉะนั้น เมื่อมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนในอารมณ์บางอย่างที่ตนไม่ค่อยมีความถนัดเจนจัดหรือชำนาญนั้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ ต้องกระตุ้นจึงจะเกิดความโลภขึ้นมาได้

๒. อะกะละละกายะจิตตะตา ไม่ค่อยมีความสุขกายสบายใจ หมายความว่า เป็นผู้ที่มีอาการป่วยไข้ทางร่างกาย หรือมักเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ หรือไม่ค่อยมีความปลอดโปร่งโล่งใจ มีความวิตกกังวล ไม่ค่อยมีความสุขกายสบายใจ หรือมีความเดือดร้อนใจในบางสิ่งบางอย่างอยู่ มีสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้ขาดความพร้อมหรือความเหมาะควรทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างจึงต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงทำให้เกิดความโลภที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวน คือ ต้องกระตุ้นจึงจะเกิดความโลภขึ้นมาได้

๓. สีตุณหาทีนัง อะขะมะนะพะหุละตา เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความอดทนต่อความหนาวและความร้อนเป็นต้นให้เคยชิน หมายความว่า เป็นผู้ที่มักได้รับแต่ความสุขสบาย ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในชีวิตไม่เคยผ่านความยากลำบาก จึงทำให้ไม่ค่อยมีความอดทนต่ออุปสรรคต่าง ๆ มากนัก หรือไม่เคยเสพคุ้นในอารมณ์นั้น ๆ จึงไม่สามารถตัดสินใจชอบในสิ่งนั้นได้ด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างจึงต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงทำให้เกิดความโลภที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวน คือ ต้องกระตุ้นจึงจะเกิดความโลภในอารมณ์นั้นขึ้นมาได้

๔. กัตตัพพะกัมเมสุ อะทิฏฐานิสังสะตา ไม่เคยเห็นผลในการงานที่จะกระทำ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ ไม่ค่อยได้ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนต้องการ หรือเมื่อต้องการสิ่งใดแล้วมักจะไม่ได้ดังใจหวัง หรือได้ไม่เต็มความปรารถนา มักได้มาด้วยความยากลำบาก หรือเป็นผู้ที่มองไม่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำ ได้แต่ทำตามที่บุคคลอื่นชี้นำหรือชักชวน หรือปลุกใจตนเองเผื่อจะเป็นผลดีบ้าง ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนในอารมณ์บางอย่างที่ตนไม่ค่อยมีความถนัด เจนจัดหรือชำนาญ เช่นนั้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ ต้องกระตุ้นจึงจะเกิดความโลภในอารมณ์นั้นขึ้นมาได้

๕. กัมเมสุอะจิณณะวะสิตา ไม่มีความชำนาญในการงานที่จะทำ หรือในอารมณ์ที่รับนั้น หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำงานเช่นนั้น ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในตนเอง หรือไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนหวังนั้นโดยคิดว่า “คงจะเกินวิสัยที่ตนจะได้กระมัง” หรือไม่มีความมั่นใจในการงานที่จะลงมือทำนั้นว่า “จะอำนวยประโยชน์บางสิ่งบางอย่างให้แก่ตนเองได้จริงหรือเปล่า” ซึ่งการงานที่จะทำนั้น ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือไม่มีความชำนาญในวิธีการที่จะทำนั้นเลย เพียงแต่ทำตามคนอื่นไปเท่านั้น หรือสักแต่ว่า ทำไปเผื่อจะมีผลดีเกิดขึ้นมาบ้าง ด้วยความไม่มั่นใจนั้น จึงไม่สามารถตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะลงมือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไปได้ ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จากบุคคลอื่น หรือกระตุ้นตนเอง ฉะนั้น เมื่อมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนในอารมณ์บางอย่างที่ตนไม่ค่อยมีความเจนจัด ถนัด ชำนาญ เช่นนี้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ ต้องกระตุ้นจึงจะเกิดความโลภในอารมณ์เช่นนั้นขึ้นมาได้

๖. อุตุโภชะนาทิอะสัปปายะลาโภ ไม่ได้รับอากาศและอาหาร เป็นต้น ที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้รับปัจจัยแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี มักมีปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มาขัดขวาง ไม่มีความพร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค หรืออยู่ในบรรยากาศที่ไม่ปลอดโปร่ง ขาดความสบายกายสบายใจ มีความอึดอัด คับแคบ หรือเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งกายใจ เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนในอารมณ์เช่นนี้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวน คือ ต้องกระตุ้นจึงจะเกิดความโลภในอารมณ์เช่นนั้นขึ้นมาได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ในโลภมูลจิตแต่ละดวง จึงมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ๔ จำพวก คือ

๑. เหตุปัจจัยหลัก ได้แก่ เหตุที่ทำให้เกิดโลภะ แต่ละอย่าง

๒. โดยเวทนา เป็นโสมนัสสเวทนา หรือ เป็นอุเบกขาเวทนา

๓. โดยสัมปโยคะ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์

๔. โดยสังขาร เป็นอสังขาริก หรือ สสังขาริก

ผู้ศึกษาพึงนำเหตุปัจจัยที่ทำให้ความโลภเกิดขึ้นแต่ละอย่าง ของแต่ละจำพวกนั้น มาจัดเข้าด้วยกัน ก็จะได้คำอธิบายหรือความเข้าใจว่า เพราะมีเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้โลภมูลจิตดวงนั้น ๆ เกิดขึ้น และเพราะเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้โลภมูลจิตแต่ละดวง มีสภาพที่แตกต่างกันออกไป จึงนับได้ ๘ ดวง หรือ ๘ สภาวะ ตัวอย่างเช่น

โลภมูลจิตดวงที่ ๑

๑. เหตุปัจจัยหลักให้เกิดโลภะ ได้แก่ เป็นผู้มีปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีโลภะเป็นบริวาร เป็นต้น

๒. เหตุปัจจัยให้เกิดโสมนัสสเวทนา ได้แก่ เป็นผู้มีปฏิสนธิมาพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา เป็นต้น

๓. เหตุปัจจัยให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ได้แก่ เป็นผู้มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย เป็นต้น

๔. เหตุปัจจัยให้เกิดอสังขาริก ได้แก่ เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเกิดมาจากกรรมที่เป็นอสังขาริก เป็นต้น

โดยนำเอาเหตุปัจจัยอย่างอื่นในหลัก ๔ ประการนี้ มาประกอบกันเป็นเครื่องอธิบาย หรือทำความเข้าใจ ก็จะได้ความเข้าใจที่กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ในโลภมูลจิตดวงอื่น ๆ ก็พึงนำเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ มาจัดเข้าด้วยกันเป็นข้ออธิบาย เช่นเดียวกันดังนี้ ย่อมทำให้เกิดองค์ความรู้ในเรื่องเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโลภมูลจิตแต่ละดวง ได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง สามารถหาทางป้องกันและแก้ไขไม่ให้โลภมูลจิตดวงนั้น ๆ เกิดขึ้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |