| |
บทบาทของวิริยะ   |  

วิริยเจตสิก มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเกิดขึ้นของสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ดังต่อไปนี้

๑. สัมมัปปธาน หมายถึง ความเพียรอันมั่นคง ซึ่งประกอบในกุศลจิต ๒๑ เป็นไปเพื่อทำหน้าที่ ๔ ประการ คือ

๑.๑ พยายามเพื่อละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เรียกว่า ปหานปธาน

๑.๒ พยายามเพื่อไม่ให้อกุศลใหม่เกิด เรียกว่า สังวรปธาน

๑.๓ พยายามเพื่อให้กุศลใหม่เกิด เรียกว่า ภาวนาปธาน

๑.๔ พยายามเพื่อให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้น เรียกว่า อนุรักขนาปธาน

๒. วิริยิทธิบาท วิริยเจตสิกได้ชื่อว่า อิทธิบาท คือ ความพยายามอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จฌาน อภิญญา มรรค ผล ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มุ่งมั่นในกิจการงานอันดีงามทั้งหลายและทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในจิตดวงเดียวกันนั้นมุ่งมั่นกระทำกิจการงานของตน ๆ โดยไม่ย่อท้อถดถอย จนสำเร็จกิจที่มุ่งหมายนั้น

๓. วิริยินทรีย์ วิริยเจตสิก ได้ชื่อว่า อินทรีย์ คือ เป็นคุณธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความพยายามต่อการงานและสิ่งที่เป็นกุศล ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนจิต ๒๖ ซึ่งกระทำกิจในการเพียรพยายามต่อกิจที่ดีงามและทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในจิตดวงเดียวกันนั้นให้ขวนขวายกระทำกิจการงานของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่ย่อท้อต่อกิจการงานนั้น ๆ นอกจากนี้ วิริยินทรีย์ ยังมีบทบาทในฐานะเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองสัมปยุตตธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเกิดพร้อมกับตนในอกุศลจิตแต่ละดวง ให้มุ่งมั่นกระทำกิจที่เป็นอกุศลให้สำเร็จลง ได้แก่ วิริยเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ ซึ่งเป็นใหญ่ในการพากเพียรพยายามกระทำทุจริตต่าง ๆ

๔. วิริยพละ วิริยเจตสิก ได้ชื่อว่า พละ คือ เป็นสภาวธรรมที่มีกำลังในความพยายามต่อกิจการงานหรืออารมณ์ที่ดีงามโดยไม่หวั่นไหวต่อธรรมที่เป็นข้าศึก คือโกสัชชะ ได้แก่ ความเกียจคร้าน ด้วยเหตุนี้ เมื่อวิริยเจตสิกยังมีกำลังเข้มแข็งอยู่ ความเกียจคร้านย่อมครอบงำไม่ได้ โดยเฉพาะความเพียรพยายามที่เป็นไปในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ย่อมเป็นความเพียรที่มีกำลังมากเพื่อให้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา และย่อมย่ำยีโกสัชชะคือความเกียจคร้านไม่ให้กำเริบขึ้น ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนจิต ๒๖ นอกจากนี้ วิริยพละ ยังเป็นกำลังสำคัญในการพากเพียรพยายามกระทำกิจที่เป็นอกุศลที่เป็นทุจริตทุราชีพต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อถดถอย ได้แก่ วิริยเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒

๕. สัมมาวายามะ วิริยเจตสิก ได้ชื่อว่า สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามอันเป็นไปในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยดำเนินไปตามสัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพียรระวังอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น ๑ เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ และเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญยิ่งขึ้นไป ๑ อันเป็นทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และอัปปนาชวนะ ๒๖ [มหัคคตกุศลจิต ๙ มหัคคตกิริยาจิต ๙ โลกุตตรจิต ๘]

๖. วิริยสัมโพชฌงค์ วิริยเจตสิก ได้ชื่อว่า สัมโพชฌงค์ คือ ความเพียรพยายามที่มีความเจริญมั่นคงอย่างแรงกล้า อันสืบเนื่องจากสัมมัปปธานทั้ง ๔ จนเข้าถึงวิริยิทธิบาท วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา จนสามารถทำลาย โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านได้โดยสิ้นเชิง และย่อมทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคจิตทั้ง ๔ เกิดขึ้น เรียกว่า วิริยสัม โพชฌงค์ ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๗. มิจฉาวายามะ วิริยเจตสิก ได้ชื่อว่า มิจฉาวายามะ คือ ความเพียรพยายามในทางที่ผิดในกิจที่เป็นอกุศล ได้แก่ ความเพียรพยายามในการกระทำทุจริต ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สำเร็จลุล่วงเป็นอกุศลกรรมบถ อันเป็นหนทางให้ถึงทุคติภูมิ คือ อบายภูมิ ๔ ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒

๘. วิริยาธิปติ วิริยเจตสิก ได้ชื่อว่า อธิบดี คือ ความเป็นใหญ่ในการพากเพียรพยายามต่ออารมณ์อย่างแรงกล้าและทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนในจิตดวงเดียวกันนั้น มีความมุ่งมั่นในการทำกิจการงานของตน โดยไม่ย่อท้อถดถอย ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในทวิเหตุกชวนจิต ๑๘ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ มหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณวิปปยุตตจิต ๔ และในติเหตุกชวนจิต ๓๔ หรือ ๖๖ คือ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหัคคตกุศลจิต ๙ มหัคคตกิริยาจิต ๙โลกุตตรจิต ๘ ที่เรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒ หรือ ๘๔


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |