| |
อวสานกถา   |  

สรุปความแล้ว จิตนี้เมื่อกล่าวโดยสภาวะแล้วมีอย่างเดียว คือ อารัมมณวิชชานนลักษณะ คือ มีลักษณะรู้อารมณ์อยู่เสมอ แต่เพราะอาศัยเหตุต่าง ๆ คือ อดีตกรรม เจตสิก เหตุ กิจ ทวาร อารมณ์ และวัตถุ เป็นปัจจัยสนับสนุน จึงทำให้จิตนี้มีความหลากหลาย แยกออกไปเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง หมายความว่า จิตนี้เกิดจากอดีตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญโดยมีเจตสิกต่าง ๆ เข้าไปปรุงแต่งให้เกิดการรับรู้ มีเหตุประกอบร่วมด้วยบ้าง ไม่มีเหตุประกอบร่วมด้วยบ้าง เกิดขึ้นเพื่อทำกิจต่าง ๆ ตามหน้าที่ของตน ๆ และอาศัยทวารเกิดก็มี ไม่อาศัยทวารเกิดก็มี โดยแต่ละดวงที่เกิดขึ้นมานั้นต้องมีการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามสภาพของตนเอง และอาศัยวัตถุรูปเกิดก็มี ไม่ได้อาศัยวัตถุรูปเกิดก็มี

ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้จิตมีสภาพเป็นไปต่าง ๆ คือ

จำแนกโดยชาติ มีทั้งกุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ และกิริยาชาติ

จำแนกโดยภูมิ มีทั้งกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต

จำแนกโดยโสภณะ มีทั้งอโสภณจิต และโสภณจิต

จำแนกโดยโลกะ มีทั้งที่เป็นโลกียจิต และโลกุตตรจิต

จำแนกโดยเวทนา มีทั้งสุขสหคตจิต ทุกขสหคตจิต โสมนัสสสหคตจิต โทมนัสสสหคตจิต และอุเบกขาสหคตจิต

จำแนกโดยเหตุ มีทั้งอเหตุกจิต และสเหตุกจิต

จำแนกโดยฌานะ มีทั้งอฌานจิต และฌานจิต

จำแนกโดยสัมปโยคะ มีทั้งสัมปยุตตจิต และวิปปยุตตจิต

จำแนกโดยสังขาร มีทั้งอสังขาริกจิต และสสังขาริกจิต

แต่ว่า จิตนี้ ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง ดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่มีใครสามารถไปบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของตนเองได้ จิตนี้ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งไตรลักษณ์ทั้งหมด คือ จิตนี้ไม่เที่ยง เพราะเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไป จิตนี้เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมของตนไม่ได้ จำต้องดับไปโดยเร็วพลัน และจิตนี้เป็นอนัตตา เพราะไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะที่จะรับรู้โดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้ และไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้

เพราะฉะนั้น เมื่อบัณฑิตผู้มีปัญญาพิจารณาอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว พึงกำหนดรู้สภาวะของจิตตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาวธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรม มีสภาพน้อมไปหาอารมณ์อยู่เสมอ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุมีปัจจัยประชุมพร้อมกัน และดับไปเพราะเหตุปัจจัยดับ และมีสภาพเกิดดับเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดุจกระแสน้ำอันเชี่ยว จึงควรพิจารณาโดยการวางใจเป็นกลาง ด้วยการไม่แสดงอาการยินดีหรือยินร้ายกับสภาพของจิตนั้น ไม่ควรยึดถือในสภาพของจิตนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นตัวตนของเรา อันจะทำให้เกิดความหลงใหล แต่ควรพิจารณาด้วยปัญญาอันลึกซึ้งว่า เป็นแต่เพียงธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่แล้วโดยสภาวะของตนเองเท่านั้น

จบเรื่องจิตแต่เพียงเท่านี้

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |