| |
พระปิโลติกเถระ   |  

พระปิโลติกเถระ

วันหนึ่ง พระอานนทเถระได้พบเด็กชายคนหนึ่ง ในระหว่างทาง เขานุ่งผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ ร่างกายมอมแมม ถือชามกระเบื้องใบหนึ่งเที่ยวขอทานอยู่ ท่านเห็นแล้วเกิดความสงสาร จึงพูดว่า เจ้าบวช จะไม่ดีกว่าการเป็นอยู่อย่างนี้หรือ เขาตอบพระเถระว่า แล้วใครจักบวชให้ผมเล่าขอรับ พระอานนทเถระจึงกล่าวรับรองว่า ฉันจะให้เธอบวชเอง แล้วท่านก็ได้พาเขาไปที่วัดให้เขาอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดแล้ว จึงได้ให้กรรมฐานและให้เขาบวช เมื่อบวชให้เขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอานนทเถระก็ได้คลี่เสื้อผ้าเก่า ๆ ที่เด็กนั้นนุ่งห่ม พิจารณาดูแล้ว ก็ไม่เห็นว่า มีส่วนใดที่ พอจะใช้สอยได้ แม้จะใช้ทำเป็นผ้ากรองน้ำก็ไม่ได้ จึงเอาพาดไว้ที่กิ่งไม้กิ่งหนึ่งพร้อมกับชามกระเบื้องเครื่องขอทานของเขา

เด็กคนนั้นครั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้บริโภคใช้สอยลาภและสักการะซึ่งเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ได้นุ่งห่มผ้าไตรจีวรที่มีราคามาก เป็นไปอยู่อย่างนั้น จึงมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้นผิดแผกกว่าแต่ก่อนมาก อยู่มาไม่นาน เขาก็เกิดความกระสัน ไม่ยินดีในสมณะเพศ คิดว่า ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเราที่จะมานุ่งห่มจีวรที่คนเขาถวายด้วยศรัทธา มีชีวิตอยู่อย่างนี้ เราควรจะกลับไปนุ่งห่มผ้าเก่าของเราเมื่อกาลก่อนนั่นแหละดี เมื่อคิดดังนี้แล้ว เขาก็เดินไป ณ สถานที่ที่พระอานนทเถระพาดเสื้อผ้าเก่าของเขาไว้บนกิ่งไม้ ในขณะนั้น เขาได้เกิดความสับสนต่อสู้กันระหว่างความละอายกับความไม่ละอาย ความไม่ละอายก็ทำให้เขาเกิดความกระสันอยากลาสิกขาสึกออกไปนุ่งผ้าเก่าเที่ยวขอทานเขากินเหมือนเดิม ส่วนความละอายก็ทัดทานเขาไว้ว่า เจ้าได้ก้าวพ้นจากภาวะอันต่ำต้อยเช่นนั้น มาสู่ภาวะอันประเสริฐเช่นนี้แล้ว จะกลับไปหามันอีกทำไหม ในขณะนั้น ความละอายต่อบาปของเขาก็มีกำลังแรงกล้าขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากบุญบารมีธรรมเก่า เขาได้พิจารณาผ้าเก่าของเขานั้นแหละให้เป็นอารมณ์ ด้วยโยนิโสมนสิการ แล้วจึงโอวาทเตือนตนเองว่า เจ้าคนไม่มีหิริ หมดยางอาย เจ้ายังจะต้องการละทิ้งฐานะอันประเสริฐคือการนุ่งห่มผ้ากาสาวะเห็นปานนี้แล้วกลับไปนุ่งห่มผ้าท่อนเก่า ๆ นั้นแล้ว ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานเขากินอีกอย่างนั้นหรือ เมื่อท่านได้ให้โอวาทตนอยู่นั่นแหละ จิตใจก็ผ่องใสขึ้นมา ท่านจึงเก็บท่อนผ้าเก่าผืนนั้นไว้ที่เดิม แล้วเดินกลับไปวัดตามเดิม อยู่ต่อมาอีก ๒-๓ วันท่านก็เกิดความกระสันขึ้นมาอีก ได้เดินไป ณ สถานที่นั้นนั่นแหละ เมื่อไปถึงแล้วได้พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ได้ให้โอวาทแก่ตนเองเหมือนครั้งก่อนนั้นแหละ หายจากความกระสันแล้วก็กลับมาวัด ท่านเทียวไปเทียวมาอยู่อย่างนั้นหลายครั้งหลายคราว พวกเพื่อนพรหมจารีได้เห็นพฤติกรรมของท่านเช่นนั้นแล้วจึงถามว่า ผู้มีอายุ ท่านจะไปไหน ท่านก็ตอบเขาว่า ผมจะไปหาอาจารย์ ขอรับ ท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้วก็ไปพิจารณาผ้าท่อนเก่าของตนนั้นแหละให้เป็นอารมณ์ โดยทำนองนั้นเอง แล้วสามารถห้ามตนเองได้ ไม่นานนักก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เพื่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่เห็นท่านเดินไปเดินมาเหมือนเมื่อคราวก่อน จึงถามว่า ผู้มีอายุ วันนี้ท่านไม่ไปหาอาจารย์หรือ ทางนี้เป็นทางเดินไปมาของท่านมิใช่หรือ ท่านตอบว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อมีความเกี่ยวข้องกับอาจารย์ ผมจึงไป แต่บัดนี้ ผมตัดความเกี่ยวข้องได้แล้ว เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่จำเป็นต้องไปหาอาจารย์อีกแล้ว

เพื่อนภิกษุทั้งหลาย คิดว่าท่านอวดอุตตริมนุสสธรรม อ้างว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ จึงพากันเข้าไปกราบทูลเรื่องราวแด่พระตถาคตเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระปิโลติกเถระอวดอ้างพระอรหัตผล พระบรมศาสดาตรัสถามว่า ภิกษุนั้นเธอพูดว่าอย่างไรหรือ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เธอพูดคำเช่นนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระบรมศาสดาได้ทรงสดับคำนั้นแล้วจึงตรัสว่า ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรานั้น เมื่อมีความเกี่ยวข้องกับอาจารย์ จึงได้ไปหาอาจารย์ แต่บัดนี้ เธอตัดความเกี่ยวข้องนั้นได้แล้ว เธอห้ามตนด้วยตนเองได้แล้ว ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วจึงได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

หิรินิเสโธ ปุริโส    โกจิ โลกสฺมิ วิชฺชติ
โย นิทฺทํ อปโพเธติ    อสฺโส ภทฺโร กสามิว

อสฺโส ยถา ภทฺโร กสานิวิฏฺโ

อาตาปิโน สํเวคิโน ภวาถ

สทฺธาย สีเลน จ วีริเยน จ

สมาธินา ธมฺมวินิจฺฉเยน จ

สมฺปนฺนวิชฺชาจรณา ปติสฺสตา

ปหสฺสถ ทุกฺขมิทํ อนปฺปํ

แปลความว่า

บุคคลผู้ห้ามอกุศลวิตกด้วยหิริได้ น้อยคนนักจะมีในโลก บุคคลใดกำจัดความหลับ ตื่นอยู่ เหมือนม้าดีหลบแส้ไม่ให้ถูกตน ฉันนั้น บุคคลเช่นนั้นหาได้ยาก ท่านทั้งหลาย จงมีความเพียร มีความสลดใจ เหมือนม้าดี ถูกเขาตีด้วยแส้แล้ว [มีความบากบั่น] ฉันนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และคุณเครื่องวินิจฉัยธรรม มีวิชชาและจรณะถึงพร้อม มีสติมั่นคง จักละทุกข์อันมีประมาณไม่น้อย

เนื้อความแห่งพระพุทธวจนะนี้ ท่านพระอรรถกถาจารย์ได้แสดงคำอธิบายไว้ว่า บุคคลได้ชื่อว่า หิรินิเสธบุคคล นั้น เพราะอรรถว่า เป็นผู้ห้ามอกุศลวิตกอันเกิดภายในตนเองได้ด้วยความละอาย บุคคลเห็นปานนั้น เป็นผู้หาได้ยาก จึงชื่อว่า น้อยคนนักจะมีในโลก บุคคลใดไม่ประมาทแล้ว บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ คอยขับไล่ความหลับที่เกิดขึ้นแก่ตน เป็นผู้ตื่นอยู่เป็นนิตย์ เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้ จึงชื่อว่า เป็นผู้กำจัดความหลับตื่นอยู่เป็นนิตย์

บุคคลใดสามารถกำจัดความหลับและตื่นอยู่เป็นนิตย์ บุคคลนั้นย่อมเป็นเหมือนม้ามีเชาว์ดี คอยหลบแส้ที่จะตกลงที่ตน ไม่ให้ตกลงที่ตนได้ ฉันนั้น บุคคลเช่นนี้จึงหาได้ยาก

พระพุทธเจ้าตรัสสรุปท้ายว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีความเพียร มีความสลดใจ เหมือนม้าดีอาศัยความประมาท ถูกเขาฟาดด้วยแส้แล้ว รู้สึกตัวว่า ตัวเราถูกเขาหวดด้วยแส้ ในกาลต่อมาม้านั้นย่อมทำความเพียรระวังไม่ให้ถูกแส้อีก แม้ฉันใด เธอทั้งหลาย ก็พึงเป็นอย่างนั้น แล้วประกอบด้วยศรัทธา ๒ ประการ คือ ศรัทธาที่เป็นโลกิยะและศรัทธาที่เป็นโลกุตตระ ด้วยปาริสุทธิศีล ๔ ด้วยความเพียรเป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต ด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘ และด้วยคุณเครื่องวินิจฉัยธรรม รู้เหตุและสภาพมิใช่เหตุเป็นลักษณะ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะความถึงพร้อมแห่งวิชชา ๓ หรือวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ และชื่อว่า เป็นผู้มีสติมั่นคง เพราะความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว ย่อมสามารถละทุกข์ในวัฏฏะอันมีประมาณไม่น้อยนี้ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |