| |
ลักขณาทิจตุกะของอุชุกตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของอุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะจิตตาชชะวะลักขะณา มีความซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นลักษณะ หมายความว่า อุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่มีสภาพซื่อตรงต่อกิจการงานที่ดี หรือซื่อสัตย์ต่อคุณงามความดีทั้งหลาย เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกเหล่าอื่นที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้น มีความซื่อตรงตั้งมั่นในการกระทำกิจที่ดีงามให้สำเร็จลงไปในแต่ละขณะจิต

๒. กายะจิตตะโกฏิละนิททะมะนะระสา มีการทำลายความไม่ซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นกิจ หมายความว่า อุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากว่าสภาพของจิตมีความไม่ซื่อตรงหรือพยศคดโกง ด้วยอำนาจกิเลสที่เข้ามาชักนำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่าง ๆ ย่อมบรรเทาความพยศคดโกงนั้นให้เบาบางลงและทำลายให้หมดไปในที่สุด หรือถ้ายังไม่มีความพยศคดโกง ย่อมทำการป้องกันจิตและเจตสิกมิให้มีอาการพยศคดโกงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองด้วยคุณธรรมคืออุชุกตาอยู่เสมอ ย่อมสามารถแก้ไขนิสัยแห่งความทรยศคดโกงให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ ถ้าฝึกฝนขัดเกลาอยู่เสมอ ย่อมสามารถขจัดความทรยศคดโกงให้หมดไปจากจิตใจได้

๓. อะชิมหะตาปัจจุปปัฏฐานา มีความไม่คดโกง เป็นอาการปรากฏ หมาย ความว่า สภาพของอุชุกตาเจตสิกนี้ เป็นสภาวธรรมที่ทำลายความไม่ซื่อตรงหรือความทรยศคดโกงของสัมปยุตตธรรมให้หมดไป เพราะฉะนั้น จึงปรากฏแก่ปัญญาของบัณฑิตผู้มีปัญญาพิจารณาโดยแยบคายแล้ว โดยเป็นสภาวะที่ไม่มีความคดโกง และบุคคลผู้มีอุชุกตาเกิดขึ้นบ่อย ๆ ย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยซื่อตรงไม่คดโกง ไม่ว่าในสถานการณ์ใดหรือในบุคคลใด ย่อมเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต วางตนเสมอต้นเสมอปลาย

๔. กายะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนั้น เป็นสภาวธรรมที่นับเนื่องในสังขารขันธ์ คือ กลุ่มเจตสิกที่ทำการปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษ โดยเป็นสภาวธรรมที่ทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกมีความซื่อตรงดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดีทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ การที่อุชุกตาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้นั้น จึงต้องมีอาการปรากฏแห่งสัมปยุตตธรรมหรือเหตุปัจจัยที่ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เป็นฝักฝ่ายเดียวกันแสดงอาการปรากฏเกิดขึ้นก่อนแล้ว อุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จึงสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าไม่มีอาการปรากฏแห่งสัมปยุตตธรรมหรือไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว อุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีการงานที่จะต้องทำ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

กายุชุกตาเจตสิกและจิตตุชุกตาเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมี มายา สาเถยยะ เป็นต้น ซึ่งกระทำความคดโกงให้แก่จิตและเจตสิก หมายความว่า สภาวะของอุชุกตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อสภาวะของมารยาสาไถย คือ ความเจ้าเล่ห์มารยา เพราะความเจ้าเล่ห์มารยานั้นมีสภาพคดโกง ด้วยเหตุนี้ บุคคลจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตใจอย่างแท้จริงนั้น ต้องเป็นบุคคลผู้ไม่มีมารยาสาไถย ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งในสัตว์ บุคคลและสิ่งที่ตนเองเคารพนับถือ เลื่อมใสศรัทธา ถ้าเป็นบุคคลผู้มีมารยาสาไถยแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีความเสมอต้นเสมอปลาย ที่เรียกว่า “หน้าไหว้หลังหลอก” เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลนั้นย่อมไม่สามารถทำคุณงามความดีได้ด้วยใจบริสุทธิ์ และมีปัญหาหรือมีความเสื่อมเสียเกิดขึ้นตามมาทั้งฝ่ายตนและฝ่ายบุคคลหรือสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา กล่าวว่า

ผู้ใดมีกรรมและทวารทั้ง ๓ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้น ชื่อว่า “คด” ดุจเยี่ยวโค หมายความว่า โดยปกติของโคหรือวัว เวลาปัสสาวะจะไม่หยุดยืนเฉย ๆ แต่มักจะเดินไปด้วยปัสสาวะไปด้วย จึงทำให้อวัยวะปัสสาวะส่ายไปส่ายมา ทำให้รอยน้ำปัสสาวะไหลคดไปคดมา

ผู้มีกรรมและทวารทั้ง ๒ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “โค้ง” ดุจพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

ผู้ใดมีกรรมและทวารอย่างใดอย่างหนึ่งไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้น ชื่อว่า “งอ” ดุจงอนไถ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |