| |
อุบายละถีนมิทธะ ๖ ประการ   |  

๑. อะติโภชะเน นิมิตตัคคาโห หมั่นสังเกตการบริโภคให้มาก หมายความว่า ในเวลาที่เราบริโภคปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องหมั่นพิจารณาให้รู้เท่าทันว่า การบริโภคปัจจัยเหล่านั้น เพื่อบรรเทาความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องบริโภคปัจจัยเหล่านั้น ไม่บริโภคด้วยอำนาจกิเลส คือ ไม่บริโภคเพราะความอยากด้วยอำนาจตัณหา ไม่บริโภคเพราะความเห็นผิด ด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่บริโภคเพราะอัตตาตัวตน ด้วยอำนาจมานะ เป็นต้น

๒. อิริยาปะถะสัมปะริวัตตะนะตา หมั่นผลัดเปลี่ยนอิริยาบถให้พอดี หมายความว่า ถีนมิทธะนี้อาศัยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ทำให้เกิดความง่วง เกิดความท้อแท้เหนื่อยหน่ายต่อการงานอันเป็นกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดภาวะอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อยู่ในอิริยาบถใดแล้วทำให้เราเกิดความง่วงเหงาหาวนอน หรือเกิดความท้อแท้เหนื่อยหน่าย ไม่มีความเหมาะควรต่อการงานอันเป็นกุศล คือ จิตใจไม่พร้อมที่จะทำความดีทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ก็พึงผลัดเปลี่ยนอิริยาบถนั้นไปเป็นอิริยาบถอื่น ที่จะทำให้จิตใจผ่อนคลายจากอาการซึมเซานั้นเสีย แล้วเกิดความอาจหาญที่จะทำความดี

๓. อาโลกะสัญญามะนะสิกาโร มนสิการในอาโลกสัญญาอยู่เสมอ หมายความว่า หมั่นคิดพิจารณาทำใจให้รู้สึกสว่างปลอดโปร่งทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อบรรเทาความเซื่องซึมหงอยเหงา

๔. อัพโภกาสะวาโส อยู่ในที่แจ้ง หมายความว่า สถานที่ก็เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้บุคคลบางคนเกิดอาการเซื่องซึมง่วงเหงาหาวนอน ถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดอยู่ในสถานที่อันมืดมิด แออัด คับแคบ ไม่ปลอดโปร่งแล้ว เกิดอาการเซื่องซึมท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่กระตือรือร้นที่จะขวนขวายทำกิจการงานที่ดีงาม หรือจิตใจไม่ปลอดโปร่ง เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เสมอ ๆ แล้ว ก็พึงเว้นจากสถานที่นั้น หรือปรับสภาพบรรยากาศ จัดสถานที่ให้ปลอดโปร่งโล่งแจ้ง มีแสงสว่างส่องทั่วถึง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ถ้าไม่สามารถจัดสถานที่ได้เช่นนั้น ก็พึงเว้นจากสถานที่เช่นนั้นแล้วไปอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัปปายะ เพื่อบรรเทาถีนะมิทธะมิให้ครอบงำจิตได้

๕. กัล๎ยาณะมิตตะตา การคบเพื่อนดีงาม หมายความว่า กัลยาณมิตรคือบุคคลผู้มีจิตใจดีงาม มีความรักความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น มีจิตเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน เมื่อบุคคลใดเข้าไปคบหาสมาคมแล้ว ย่อมได้รับฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว ย่อมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก ทำให้จิตใจของบุคคลนั้นเกิดความปลอดโปร่ง มีความอาจหาญที่จะทำคุณงามความดีให้เกิดขึ้น บุคคลพึงเข้าไปคบหาสมาคมกับบุคคลเช่นนี้ เมื่อเข้าไปคบหาสมาคมแล้ว ย่อมสามารถบรรเทาความเซื่องซึมท้อแท้ใจได้ และเกิดความขวนขวายในการกระทำคุณงามความดีได้โดยไม่เบื่อหน่าย

๖. สัปปายะกะถา การฟังถ้อยคำอันเป็นสัปปายะ หมายความว่า ถ้อยคำบางอย่าง โดยเฉพาะถ้อยคำที่เป็นอกุศลทุจริตต่าง ๆ คือ การพูดเท็จ การติฉินนินทา การใส่ร้ายป้ายสี ยุยงให้บุคคลแตกสามัคคีกัน คำพูดที่หยาบคาย หรือคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ เหล่านี้ เมื่อบุคคลรับฟังอยู่เสมอ ๆ แล้วย่อมทำให้จิตใจหดหู่ท้อแท้เบื่อหน่าย เหินห่างจากการทำคุณความดี หรือ ทำให้ใจทุกข์ร้อน หงุดหงิดรำคาญใจและเกิดอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ตามมาภายหลัง คำเหล่านี้เป็นอสัปปายะ คือ เป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลผู้ถูกถีนะมิทธะเข้าครอบงำ เมื่อบุคคลนั้นไปรับฟังถ้อยคำเหล่านี้แล้ว ย่อมจะทำให้จิตใจท้อแท้มากขึ้น จึงควรหลีกเว้นจากถ้อยคำเหล่านี้ให้ห่างไกล และเลือกรับฟังแต่ถ้อยคำที่ทำให้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเกิดความสบายใจ และเกิดความอาจหาญในการกระทำกิจการงานที่ดีงามต่าง ๆ เพื่อบรรเทาถีนะมิทธะ ความเซื่องซึมท้อแท้ให้เบาบางลงไปจากจิตใจ ทำให้กุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น และกุศลใดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญยิ่งขึ้นไปได้

ดังนั้น ในขณะเจริญภาวนา ถ้าหากสภาพจิตใจเกิดความเบื่อหน่าย เกียจคร้าน ไม่บันเทิงในธรรม พึงทำลายความรู้สึกเช่นนั้นเสีย ด้วยการหลับตาแล้วลืมตาใหม่ ลืมตาแล้วหลับตาใหม่ ทำอยู่อย่างนี้หลาย ๆ ครั้ง หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ หรือนึกถึงเรื่องราวตัวอย่างของผู้มีความเพียร และคุณค่าของการเจริญภาวนา หรือใช้อุบายแก้ง่วงดังที่กล่าวมาแล้วก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นวิธีการที่จะทำให้เราละความง่วง และจิตเข้าถึงความเป็นสมาธิอย่างละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |