| |
อรูปาวจรวิปากจิต   |  

อรูปาวจรวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต กล่าวคือ อรูปาวจรกุศลจิตเป็นเหตุ อรูปาวจรวิปากจิตเป็นผล ให้ได้เสวยสมบัติความเป็นอรูปพรหม ในอรูปภูมิ ๔ ตามฌานที่ตนเองได้ ซึ่งให้ผลเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ในอรูปภูมิชั้นนั้น ๆ มี ๔ ดวง คือ

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๑

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากาสานัญจายตนวิปากจิตตัง

อากาสานัญจายตนวิปากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๑ นี้เป็นจิตที่นำอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๑ โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิเป็นอากาสานัญจายตนพรหม ทำหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของอากาสานัญจายตนพรหม และทำหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของอากาสานัญจายตนพรหมนั้น เมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว อากาสานัญจายตนวิปากจิตนี้ มีอารมณ์เป็นกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิต เหมือนกันกับอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๒

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง วิญญาณัญจายตนวิปากจิตตัง

วิญญาณัญจายตนวิปากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๒ เป็นจิตที่นำวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในวิญญาณัญจายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๒ โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิเป็นวิญญาณัญจายตนพรหม ทำหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของวิญญาณัญจายตนพรหม และทำหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของวิญญาณัญจา ยตนพรหมนั้นเมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว วิญญาณัญจายตนวิปากจิตนี้ มีอารมณ์เป็นวิญญาณานันตนิมิต ได้แก่ อากาสานัญจายตนกุศลจิตนั่นเอง เหมือนกันกับวิญญาณัญจายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๓

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากิญจัญญายตนวิปากจิตตัง

อากิญจัญญายตนวิปากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คืออุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๓ นี้เป็นจิตที่นำอากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในอากิญจัญญายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๓ โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิเป็นอากิญจัญญายตนพรหม ทำหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของอากิญจัญญายตนพรหม และทำหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของอากิญจัญญายตนพรหมนั้น เมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว อากิญจัญญายตนวิปากจิตนี้ มีอารมณ์เป็นนัตถิภาวบัญญัตินิมิต เหมือนกันกับอากิญจัญญายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๔

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิตตัง

เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๔ เป็นจิตที่นำเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๔ โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ทำหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม และทำหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมนั้น เมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิตนี้ มีอารมณ์เป็นเอตสันตนิมิต หรือ เอตปณีตนิมิต คือ ความละเอียดอ่อนหรือความประณีตของอากิญจัญญายตนฌานกุศลจิต เหมือนกันกับเนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |