| |
ลักขณาทิจตุกะของวิจิกิจฉาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของวิจิกิจฉาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สังสะยะนะลักขะณา มีความสงสัย เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สภาพจิตมีความลังเลสงสัย โดยปรารภถึงสภาวธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย บุคคลที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งซึ่งเหตุแห่งความสงสัย และไม่ได้เจริญธรรมอันเป็นเหตุแห่งการบรรเทาความสงสัยให้สมบูรณ์แล้ว เมื่อปรารภถึงธรรมอันเป็นเหตุแห่งความสงสัยแล้ว ย่อมเกิดความลังเลสงสัยต่อสภาวธรรมเหล่านั้น เช่น สงสัยในคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น การสงสัยเหล่านี้จึงเป็นลักษณะของวิจิกิจฉา

๒. กัมปะนะระสัง มีความหวั่นไหว เป็นกิจ หมายความว่า วิจิกิจฉาเจตสิกนี้เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วย่อมกระทำกิจหน้าที่ในการทำให้สภาพจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้นมีอาการหวั่นไหว เป็นการทำลายความมั่นคงในคุณงามความดีของจิตใจให้ลดน้อยลง เมื่อเกิดอาการสงสัยเสมอ ๆ จนมีกำลังเก็บกดไว้มาก ความมั่นคงของจิตใจย่อมหมดไปในที่สุด ทำให้บุคคลละทิ้งจากการกระทำคุณงามความดี และทำให้สภาพจิตมีกำลังอ่อน ด้วยเหตุนี้ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิตจึงไม่สามารถส่งผลเป็นวิบากที่มีกำลังหนักแน่นได้ คือ ไม่สามารถส่งผลเป็นปฏิสนธิจิตนำเกิดในภพชาติใหม่ได้ ส่งผลได้เพียงในปวัตติกาล ให้ได้รับผลหลังจากเกิดขึ้นมาแล้วเท่านั้น

๓. อะวินิจฉะยะปัจจุปปัฏฐานา วา อะเนกังสะคาหะปัจจุปปัฏฐานา มีการตัดสินใจไม่ได้ เป็นอาการปรากฏ หรือ มีการถือเอาเด็ดขาดอย่างเดียวไม่ได้ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บุคคลที่ถูกวิจิกิจฉาเจตสิกครอบงำอยู่นั้นย่อมไม่สามารถตัดสินใจเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถถือเอามติอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเด็ดขาด จึงมีสภาพจับจดและละเลยเสีย

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานา มีการทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เหตุที่บุคคลถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่เสมอนั้น เพราะบุคคลนั้น ขาดโยนิโสมนสิการ คือ การไม่ใส่ใจพิจารณาสิ่งทั้งปวงโดยอุบายอันแยบคาย เป็นคนคิดไม่รอบคอบหรือไม่ชอบใช้ปัญญาในการพิจารณา มักปล่อยตัวปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส จึงทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ โดยถูกต้อง เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้เกิดความสงสัยในสิ่งนั้นอยู่ร่ำไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |