| |
คุณสมบัติพิเศษของอาโปธาตุ   |  

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ เป็นต้นรุ.๗๔ ได้แสดงคุณสมบัติพิเศษของอาโปธาตุไว้ดังต่อไปนี้

๑.ปคฺฆรณลกฺขณา [วา] อาพนฺธนลกฺขณา มีการไหล [หรือ] มีการเกาะกุม เป็นลักษณะ

๒. พฺยูหนรสา มีการทำให้เต็มหรืออิ่มชุ่ม เป็นกิจ

๓. สงฺคหปจฺจุปฏฺานา มีการเชื่อมยึดให้ติดต่อกัน เป็นผลปรากฏ

๔. อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺานา มีธาตุ ๓ อย่างที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

คุณสมบัติพิเศษประจำตัวโดยเฉพาะของอาโปธาตุ เรียกว่า วิเสสลักขณะ มี ๔ ประการ ได้แก่ ลักษณะ เป็นต้น จึงชื่อว่า ลักขณาทิจตุกกะ คือ

๑. อาพนฺธนปคฺฆรณลกฺขณา มีการไหลหรือเกาะกุม เป็นลักษณะ หมายความว่า ในวัตถุสิ่งใดที่มีจำนวนอาโปธาตุมากกว่าปถวีธาตุ ด้วยอำนาจแห่งอาโปธาตุนั่นเองทำให้ปถวีธาตุมีอำนาจลดน้อยลง จึงเป็นเหตุให้วัตถุสิ่งนั้นมีความอ่อนเหลวและสามารถไหลไปได้ เช่น น้ำในแม่น้ำลำคอง เป็นต้น ที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป ที่ไหลไปมาได้นั้น ก็เพราะอาโปธาตุมีปริมาณมากกว่าปถวีธาตุ เมื่อปถวีธาตุมีปริมาณน้อยแล้ว ปถวีธาตุนั้นแหละเป็นผู้ไหลไปด้วยอำนาจแห่งอาโปธาตุ หาใช่อาโปธาตุเป็นผู้ไหลไปไม่ เพราะอาโปธาตุเป็นธาตุที่เห็นด้วยตาหรือสัมผัสด้วยกายไม่ได้ เป็นสภาพที่รู้ได้ด้วยใจเท่านั้น ส่วนในวัตถุสิ่งใดที่มีจำนวนอาโปธาตุน้อยกว่าปถวีธาตุนั้น อำนาจแห่งอาโปธาตุก็เพียงแต่ทำให้ปรมาณูของปถวีธาตุเกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อนเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ปถวีธาตุนั้นไหลไปได้

๒. สหชาตรูปอปฺปายนรสา มีการทำให้สหชาตรูปเอิบอาบ เป็นกิจ หมายความว่า อาโปธาตุนี้ มีคุณลักษณะซึมซาบเข้าไปในรูปธาตุอื่น ๆ เมื่อซึมซาบเข้าไปในรูปธาตุทั้งหลายแล้ว ย่อมทำให้รูปธาตุที่ตนเข้าไปซึมซาบอยู่เหล่านั้นมีอาการเอิบอาบพองขึ้น เปรียบเหมือนบุคคลเทน้ำใส่ลงในแป้งผง เมื่อน้ำซึมซาบเข้าไปในแป้งผงแล้ว ทำให้แป้งผงนั้นมีสภาพเอิบอาบพองขึ้น ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ ถ้าบุคคลใดมีธาตุน้ำอยู่มาก ร่างกายของบุคคลนั้นย่อมอ้วนท้วนหรือสูงใหญ่ เปล่งปลั่งสดใส แต่ถ้าบุคคลใดมีธาตุน้ำน้อย ร่างกายของบุคคลนั้นย่อมผอมหรือเล็กเรียว ในวัตถุสิ่งของที่ไม่มีชีวิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าในวัตถุสิ่งใด มีธาตุน้ำอยู่น้อย วัตถุสิ่งนั้นย่อมแข็งกระด้างหรือลีบเล็ก แต่ถ้าวัตถุสิ่งใดมีธาตุน้ำอยู่มาก วัตถุสิ่งนั้นย่อมมีลักษณะพองตัวขยายขึ้น เช่น ต้นไม้ที่ขาดน้ำหรือมีน้ำหล่อเลี้ยงน้อย ย่อมลีบเล็กแกร่น ส่วนต้นไม้ที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอุดมสมบูรณ์ ย่อมขยายลำต้นและเจริญเติบโตได้เต็มที่ ดังนี้เป็นตัวอย่าง

๓. สหชาตรูปอวิปฺปกิณฺณปจฺจุปฏฺานา มีสหชาตรูปที่ไม่กระจัดกระจาย เป็นผลปรากฏ หมายความว่า อาโปธาตุนี้ เป็นธรรมชาติหรือสภาวธรรมที่เข้าไปซึมซาบอยู่ในรูปธาตุอื่น ๆ เมื่อเข้าไปซึมซาบอยู่แล้ว ย่อมทำให้รูปธาตุทั้งหลายจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน เปรียบเหมือนบุคคลเอาน้ำพรมหรือเทน้ำลงไปคลุกเคล้าในแป้งผง น้ำนั้นย่อมทำให้แป้งผงเปียกชื้นจับตัวกันเป็นก้อน ไม่ฟุ้งกระจายออกจากกัน ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ ในร่างกายของคนหรือสัตว์ทั้งหลายก็ดี ในวัตถุสิ่งของที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายก็ดี ที่รวมกันอยู่ได้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นต้นไม้ ภูเขา ก้อนดิน ก้อนหิน ตึกราม บ้านเรือน หรือเพชร นิล จินดา เป็นต้นได้ ก็เพราะอาศัยธาตุน้ำที่เป็นเหมือนยางเหนียวเชื่อมรูปธาตุต่าง ๆ ให้ติดกันเป็นกลุ่มก้อน ตามสมุฏฐานของธาตุน้ำนั้น ๆ คือ ธาตุน้ำที่เกิดจากกรรม ย่อมมีกรรมตามรักษาให้รูปร่างกายของคนหรือสัตว์นั้นรวมตัวกันอยู่ได้จนกว่ากรรมจะหมดกำลังลง ธาตุน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิต ย่อมเป็นไปตามอำนาจและอายุของจิต ธาตุน้ำที่เกิดอุตุ คือ อุณหภูมิ ไออุ่น ความร้อน ความเย็น ตลอดถึงสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ และชนิดของสสารแห่งสิ่งนั้น ๆ ย่อมเป็นไปตามอำนาจของอุตุชนิดนั้น ๆ ด้วย เช่น ก้อนหินย่อมแข็งกว่าก้อนดิน เพชรย่อมแข็งกว่าหิน เป็นต้น หรือต้นไม้แต่ละชนิดย่อมเจริญเติบโตหรือแข็งอ่อนไปตามสายพันธุ์ หรือสีสันของสรรพสิ่งต่าง ๆ ย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพของอุตุคืออุณหภูมิ สภาพแวดล้อม เป็นต้น

๔. อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺานา มี [มหาภูต] ธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อาโปธาตุคือธาตุน้ำนี้ จะเกิดขึ้นโดยลำพังโดดเดี๋ยวหรือเป็นไปโดยลำพังตนเองไม่ได้ ต้องมีมหาภูตรูปอีก ๓ อย่างปรากฏรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ มีปถวีธาตุคือธาตุดินเป็นที่อาศัยให้เข้าไปซึมซาบอยู่ ถ้าไม่มีธาตุดินเสียแล้ว ธาตุน้ำย่อมปรากฏขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีที่อาศัย มีเตโชธาตุคือธาตุไฟเป็นผู้คอยตามรักษา ได้แก่ รักษาอุณหภูมิของธาตุน้ำให้เป็นไปโดยความสมดุลในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มีวาโยธาตุคือธาตุลมเป็นผู้กระพือพัดให้เกิดการไหวตัวหรือไหลเวียนหรือขยับเขยื้อนเคลื่อนตัว เพื่อปรับสภาพให้เกิดความเคร่งตึงหรือหย่อนผ่อนคลาย ทำให้ความสมดุลของวัตถุสิ่งของหรือรูปร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลายเป็นไปโดยความเหมาะสม เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๓ คือ ปถวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม จึงเป็นเครื่องรองรับให้อาโปธาตุคือธาตุน้ำสามารถปรากฏเกิดขึ้นและเข้าไปซึมซาบอยู่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |