ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๘๔ ได้แสดงสรุปความหมายของสมุฏฐานทั้ง ๔ ไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
บรรดาสมุฏฐานของรูปทั้ง ๔ อย่างนั้น อุตุเป็นสภาพยิ่งใหญ่ มีกำลังมาก ย่อมแผ่ซึมซาบไปอย่างกว้างขวาง เพราะอุตุทำให้เกิดขึ้นและอาจทำลายสังขารโลกภายนอกกับโอกาสโลกทั้งหมดได้ ทั้งยังเป็นองค์ประกอบภายในอันใหญ่หลวงของสัตวโลก ส่วนสมุฏฐาน ๓ อย่างที่เหลือ เป็นเพียงเครื่องอุปถัมภ์อุตุเท่านั้น
หทยรูปและอินทริยรูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น มิใช่รูปที่เกิดจากจิต เป็นต้นเลย
ถามว่า หากเป็นตามนี้ เหตุใดจึงมีข้อความว่า “วิปฺปสนฺนานิ โข เต อาวุโส สาริปุตฺต อินฺทฺริยานิ กตเรน ตฺวํ เอตรหิ วิหาเรน วิหรสิรุ.๕๘๕ ฯ” แปลความว่า ท่านพระสารีบุตร ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ท่านเจริญสมาบัติใดอยู่หรือ ?
ตอบว่า ข้อความนั้น เป็นสำนวนกล่าวโดยระบุถึงความผ่องใสของผิวพรรณอันเป็นที่ตั้งของอินทรีย์อันเกิดจากจิตในสมาบัติ อธิบายว่า รูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ ย่อมเป็นไปเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อรูปหนึ่งผ่องใส รูปทั้งหมดย่อมผ่องใสด้วย และเมื่อรูปหนึ่งเหี่ยวแห้ง รูปทั้งหมดก็เหี่ยวแห้งตามไปด้วย ส่วนจิต อุตุ และอาหารเป็นปัจจัยอุปถัมภ์อินทริยรูป ๙ ดังกล่าว
รูปที่เกิดจากกรรมเหมือนดอกอุบลและดอกปทุม กรรมเหมือนเมล็ดของดอกบัว ส่วนอุตุและอาหารเป็นต้นเหมือนโคลนและน้ำ [ที่อุปถัมภ์ดอกบัวและดอกปทุม]
วิญญัติรูปทั้ง ๒ คือ กายวิญญัติและวจีวิญญัติ เป็นรูปที่เกิดจากจิตเท่านั้น ดังที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงรูปเหล่านั้น ในธรรมที่เกิดร่วมกันกับจิตและธรรมที่คล้อยตามจิต [จิตฺตสหภู จิตฺตานุปริวตฺติ]รุ.๕๘๖
ถามว่า เหตุใด พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า “สทฺโท จิตฺโตตุโช” แปลความว่า เสียงเป็นรูปที่เกิดจากจิตและอุตุ ความเพียบพร้อมด้วยเสียง เพราะ [กุศล] กรรมพิเศษ มีตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตรด้วยพระดำรัสเป็นต้นว่า “สุวณฺณตา สุสรตา สุสณฺานํ สุรูปตารุ.๕๘๗ ” แปลความว่า ความมีผิวงาม มีเสียงไพเราะ มีรูปร่างดี มีรูปสวย มีความเป็นใหญ่ และมีบริวาร ทั้งหมดนั้นย่อมได้ด้วยกุศลนี้ ดังนี้มิใช่หรือ ?
ตอบว่า ถูกต้องแล้ว แต่กรรมดีย่อมก่อให้เกิดสรีระที่มีใจครองอันถึงพร้อมด้วยฐาน [ที่เกิดเสียง เช่น คอ เป็นต้น] และกรณ์ [เครื่องกระทำเสียง เช่น เพดาน เป็นต้น] ที่ดำรงอยู่ด้วยดีและไม่ถูกรบกวนด้วยลมและเสลดเป็นต้น เพราะความเพียบพร้อมด้วยเสียงที่มีกรรมดีเป็นมูลเหตุ จึงกล่าวว่า “มีเสียงไพเราะ” โดยนับเข้าในผลแห่งกรรม ไม่ใช่กรรมก่อให้เกิดเสียงรุ.๕๘๘
ถามว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “อปฺปาพาธสํวตฺตนิกา เอสา มาณว ปฏิปทา, ยทิทํ อวิหึสารุ.๕๘๙ ” แปลความว่า ดูกรมาณพ ความไม่เบียดเบียนนี้เป็นปฏิปทา เพื่อความมีสุขภาพดี เพราะเหตุใด พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า “ลหุตาทิตฺตยํ อุตุจิตฺตาหาเรหิ สมฺโภติ” แปลความว่า รูปทั้ง ๓ มีความเบาเป็นต้น ย่อมเกิดจากอุตุจิตและอาหาร ดังนี้ รูปทั้ง ๓ เหล่านี้ยังเกิดจากเหตุคือความมีสุขภาพดี ดังพระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงสมุฏฐานของรูปทั้ง ๓ ว่าเป็นปัจจัยตรงกันข้ามกับความแปรปรวนของธาตุที่กระทำความหนักเป็นต้นมิใช่หรือ ?
ตอบว่า รูปที่เกิดจากกรรมมีความเบา ความอ่อน และความควรแก่กิริยาโดยปกติเปรียบเหมือนน้ำมันที่หุงตั้งร้อยครั้งแล้วใส่ลงในน้ำ จึงไม่เปลี่ยนแปลงจากสภาพเบาเป็นต้นโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความเป็นปัจจุบันโดยระยะกาลหนึ่งในภพหนึ่ง คัมภีร์ยมกจึงแสดงกาลของรูปที่เกิดจากกรรมด้วยความเป็นปัจจุบันโดยระยะกาล [อัทธาปัจจุบัน] ที่กำหนดขอบเขตด้วยการปฏิสนธิและจุติ แต่จิตมีสภาพต่างกันในขณะหลากหลายด้วยอำนาจของนิวรณ์ต่าง ๆ หรือโดยเนื่องกับสุข ทุกข์ ความปีติโสมนัส ความสงบ ความเลื่อมใส และปัญญา เป็นต้น เช่นเดียวกันนี้ ทั้งอุตุและอาหารก็ประกอบด้วยสภาพต่างกันโดยเนื่องกันกับความเหมาะสมหรือความไม่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ รูปที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหารทั้ง ๓ จึงประกอบด้วยความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยจำแนกเป็นความหนักหรือความเบาเป็นต้นในช่วงขณะต่าง ๆ เนื่องจากรูป ๓ อย่างมีระยะกาลเป็นสันตติปัจจุบัน [ปัจจุบันต่อเนื่อง] ดังคัมภีร์ยมกแสดงช่วงเวลาของรูปที่ไม่เกิดจากกรรมว่า เป็นขณะปัจจุบัน [ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น] ในปวัตติกาล
ถามว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “กมฺมวิปากชา อาพาธารุ.๕๙๐ ” แปลความว่า โรคที่เกิดจากผลแห่งกรรม มีอยู่ และเมื่อมีโรคที่เกิดจากกรรมแล้ว ความเบาเป็นต้นที่เกิดจากกรรมซึ่งทำให้โรคหายไป พึงมีได้หรือ ?
ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น อุปปีฬกกรรมและอุปฆาตกกรรมที่ทำให้เกิดโรคที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานในสรีระนี้ ได้รับความวิบัติโดยภูมิ กาลเวลา และความเพียร ย่อมทำให้ธาตุที่เกิดจากอุตุมีปถวีธาตุเป็นต้นกับทั้งลมและน้ำดีเป็นต้นภายในร่างกายแปรปรวน จึงก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เมื่อรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานแปรปรวน รูปอื่นก็คล้อยตามรูปดังกล่าว [คือรูปที่เกิดจากกรรม จิต และอาหาร ก็แปรปรวนไปด้วย] ดังที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเหตุที่รูปธรรมแปรปรวนมีอุตุเป็นเหตุหลัก ด้วยพระดำรัสเป็นต้นว่า“สีเตนปิ รุปฺปติ, อุเณฺหนปิ รุปฺปติ, ชิคจฺฉายปิ รุปฺปติ, ปิปาสายปิ รุปฺปติรุ.๕๙๑ ” แปลความว่า ย่อมแปรปรวนเพราะเย็นบ้าง ร้อนบ้าง หิวบ้าง กระหายบ้าง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีโรคที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวที่ทำให้เกิดความเบาเป็นต้นได้
ผู้ที่เกิดจากกรรมที่ไม่เบียดเบียน [เมตตาและกรุณา] เป็นผู้มีสุขภาพดีในภพที่เกิดขึ้น เพราะอุปปีฬกกรรมเป็นต้นห่างไกลยิ่งจากเขา และอวัยวะทางสรีระก็ถูกทำให้แปรปรวนได้ยาก เนื่องจากดำรงมั่นคงดี ดังที่สมเด็จพระผู้พระภาคเจ้าได้ทรงหมายเอาข้อความนี้แล้วตรัสว่า “อปฺปาพาธสํวตฺตนิกา เอสา มาณว ปฏิปทา ฯ ยทิทํ อวิหึสารุ.๕๙๒ ” แปลความว่า ดูกรมาณพ ความไม่เบียดเบียนนี้เป็นปฏิปทาเพื่อความมีสุขภาพดี
พระดำรัสนี้มิได้ตรัสไว้เนื่องจากความเบาเป็นต้น ๓ อย่าง ที่ทำให้สุขภาพดี เป็นรูปที่เกิดจากกรรม รูปเหล่านี้จึงแสดงไว้ในรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมในรูปกัณฑ์ [แห่งคัมภีร์ธัมมสังคณี]รุ.๕๙๓
รูปกลาปมีอยู่มากมายแม้ในปรมาณูหนึ่ง เมื่อรูปกลาปที่เกิดจากเหตุ [สมุฏฐาน] ๔ เป็นไปโดยความเป็นกลุ่ม อากาสธาตุที่เป็นช่องว่างของรูปกลาปย่อมปรากฏ ดังนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงรวมอากาสธาตุไว้ในรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ ด้วย
แม้อนิปผันนรูปทั้งหมดไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่ลักขณรูปย่อมแตกต่างจากอนิปผันนรูปอื่น ๆ ที่ปรากฏด้วยเหตุปัจจัยคือจิตเป็นต้น ซึ่งแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “ลกฺขณรูปานิ น กุโตจิ ชายนฺติ” แปลความว่า ลักขณรูปไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานใด ๆ
คำว่า ชายมานาทิรูปานํ แปลความว่า รูปที่เกิดขึ้นเป็นต้นล้วน ๆ คือ รูปกลาปที่เกิดขึ้น เสื่อมลง และดับไปอยู่
คำว่า สภาวตฺตา แปลว่า เพราะเป็นเพียงสภาวะ มีความหมายว่า เพราะเป็นเพียงสภาวะที่เป็นลักษณะ คือ ความเกิด ความแก่ และความตาย
ในเรื่องนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “รูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน” และ “รูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน” ไม่พบในรูปกัณฑ์ [แห่งคัมภีร์ธัมมสังคณี] ได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานเท่านั้น
ถามว่า ความชราของรูปและความไม่เที่ยงของรูป ตรัสไว้ในพระบาลีว่า ไม่เกิดจากสมุฏฐานใด ๆ จึงควรจะถือเอารูปเหล่านั้นว่าเป็นรูปที่ไม่เกิดจากสมุฏฐานใด ๆ แต่การเกิดขึ้นของรูปและการดำเนินไปของรูป ตรัสไว้ในพระบาลีว่า เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน แม้ในคัมภีร์อรรถกถาก็กล่าวกัมมชรูป ๒๐ จิตตชรูป ๑๗ อุตุชรูป ๑๔ และอาหารชรูป ๑๓ พร้อมด้วยรูปทั้ง ๒ เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนี้จึงไม่ควรกล่าวว่า รูปเหล่านั้นมิได้เกิดจากสมุฏฐานใด ๆ มิใช่หรือ ?
ตอบว่า ความขวนขวายในการก่อให้เกิดรูปของเหตุปัจจัย [นั้น] ย่อมแผ่ไปในขณะที่รูปกำลังเกิดขึ้นอยู่ มิได้แผ่ไปหลังจากนั้น การเกิดขึ้นและการดำเนินไปของรูปที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงควรแสดงว่า เกิดด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ความชราและความไม่เที่ยงของรูปมิใช่เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ ในพระบาลีและอรรถกถาจึงรวมรูป ๒ อย่างแรกไว้ในรูปที่เกิดจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นในเมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่เกิดขึ้นในเมื่อไม่มีเหตุปัจจัย แต่ธรรมที่เกิดแล้วย่อมไม่มีการเสื่อมดับไปในเมื่อมีเหตุปัจจัย หรือไม่เสื่อมไม่ดับไปในเมื่อไม่มีเหตุปัจจัย ความเป็นไปของรูป ๒ อย่างแรก จึงเนื่องด้วยเหตุปัจจัยโดยแท้ แต่ความเป็นไปของรูป ๒ อย่างหลัง ไม่เนื่องด้วยเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงรวมรูป ๒ อย่างแรกไว้ในรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน และไม่รวมรูป ๒ อย่างหลังไว้ในรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ด้วยประการฉะนี้
พระพุทธดำรัสในพระสูตรว่า“ชรามรณํ ภิกฺขเว สงฺขตํ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํรุ.๕๙๔” แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความแก่และความตายมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย ฯ พระดำรัสนั้นพึงทราบว่าตรัสไว้โดยปริยาย คือ เมื่อมีความเกิดแล้ว ความแก่และความตายทั้ง ๒ ย่อมปรากฏ แต่เมื่อความเกิดไม่มี ความแก่และความตายย่อมไม่ปรากฏ
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะกล่าวว่า รูปทั้ง ๔ ไม่เกิดจากสมุฏฐานใด ๆ เพราะดำริว่า รูปทั้ง ๔ เหล่านี้ไม่มีอาการพิเศษ เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ มีจิตเป็นต้น เหมือนอนิปผันนรูปอื่น ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว ถึงอย่างนั้น คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนี้คล้ายกับล่วงเลยนัยแห่งพระบาลีที่สำคัญกว่า ดังนั้น การรวมการเกิดขึ้นและการดำเนินไปของรูปไว้ในรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจึงสมควรกว่า
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๕๙๕ ท่านได้แสดงสรุปสมุฏฐานของรูปไว้ ดังต่อไปนี้
ภาวะแห่งฤดูและโอชะ มีกำลังในฐีติขณะเท่านั้น เพราะได้ความสนับสนุนจากปัจจัยมีปัจฉาชาตปัจจัยเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า เตโชธาตุ ติปฺปตฺตา [เตโชธาตุถึงฐีติขณะแล้ว] ดังนี้