| |
เหตุให้เกิดโทสะอสังขาริก ๕ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโทสมูลจิตที่เป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนนั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. โทสัชฌาสะยะตา มีอัธยาศัยเป็นคนมักโกรธ หมายความว่า เป็นบุคคลที่สั่งสมความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวรไว้กับบุคคล สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของต่าง ๆ จนเป็นนิสัยสันดาน พอกระทบกระทั่งอะไรหน่อย ก็โกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิดรำคาญใจ หรือเป็นคนใจร้อนวู่วาม จะให้ได้ดังที่ใจต้องการอยู่เสมอ หรือเป็นคนที่เก็บกดความรู้สึกทางด้านจิตใจ จนกลายเป็นปมด้อยหรือปมเขื่องของจิตใจ เห็นอะไรเป็นสิ่งขวางหูขวางตาไปหมด เป็นผู้มีนิสัยหยาบกระด้าง ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นขึ้นมาได้ง่าย

๒. อะคัมภีระปะกะติตา มีความคิดไม่สุขุม หมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีวิสัยทัศน์คับแคบ มีสติปัญญาตื้นเขิน มีความคิดไม่สุขุมรอบคอบ คิดได้แค่ตามองเห็น ขาดวิจารณญาณในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบเห็นอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยเหตุโดยผล ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นขึ้นมาได้ง่าย

๓. อัปปัสสุตะตา มีการศึกษาน้อย หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีประสบ การณ์ในชีวิตน้อย มีความรู้น้อย มีสติปัญญาตื้นเขินคับแคบ ไม่รู้เหตุผลของสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง มักหลงใหลไปตามความคิดความเห็นหรือลัทธิที่ผิด ปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสและกระแสสังคม ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นขึ้นมาได้ง่าย

๔. อะนิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ หรือเรื่องราวที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวร หรืออยู่ในสถานที่ที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงภัยต่าง ๆ หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความอดอยาก ต้องตะเกียกตะกายดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ไม่เคยได้ประสบกับความสุขสบายเลย ปัจจัยเครื่องอุปโภคบริโภคก็มีแต่ของหยาบ ๆ ของทราม ๆ ทำให้เกิดความเก็บกดเป็นปมด้อยของชีวิต ดังนี้เป็นต้น หรืออยู่ในสถานการณ์คับขันที่ไม่น่าไว้วางใจ ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นขึ้นมาได้ง่าย

๕. อาฆาตะวัตถุสะมาโยโค ได้ประสบกับอาฆาตวัตถุ หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เต็มไปด้วยศัตรูคู่อริ หรือสร้างความเก็บกดอารมณ์ให้เกิดขึ้นเองอยู่เสมอ ด้วยอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด หรือ ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายในสิ่งที่พบเห็นขึ้นมาได้ง่าย

เหตุปัจจัยทั้ง ๕ ประการนี้ ลำดับที่ ๑ เป็นเหตุปัจจัยหลัก ที่จะทำให้บุคคลนั้นเกิดโทสะได้ง่าย และทำให้เป็นคนเจ้าโทสะ เพราะถ้าไม่มีข้อนี้เสียแล้ว ถึงแม้บุคคลนั้นจะมีอีก ๔ ข้อก็อาจไม่ทำให้เกิดโทสะที่เป็นอสังขาริก คือไม่เป็นคนมักโกรธก็ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |