ไปยังหน้า : |
คำว่า วสี แปลว่า ความชำนาญ ในที่นี้หมายถึง ความชำนาญในฌาน โดยอาการ ๕ ประการ คือ
๑. อาวัชชนวสี ชำนาญในการพิจารณา หมายความว่า สามารถนึกหน่วงพิจารณาสภาพขององค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก่อนที่จะเข้าฌานสมาบัติได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้สามารถเข้าฌานสมาบัติได้โดยเร็วพลัน ไม่ติดขัด
๒. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติ หมายความว่า เมื่อต้องการเข้าฌานสมาบัติ ก็สามารถเข้าได้อย่างรวดเร็วไม่ติดขัด ถ้าบุคคลไม่มีความชำนาญ จะไม่สามารถเข้าฌานได้รวดเร็ว ย่อมมีความติดขัด ไม่คล่องแคล่ว หรือไม่สามารถเข้าฌานสมาบัติได้ ต้องฝึกฝนใหม่อีก
๓. อธิฏฐานวสี ชำนาญในการตั้งอยู่ในฌานสมาบัติ หมายความว่า สามารถแนบแน่นนิ่งอยู่ในฌานสมาบัติที่เข้าได้แล้วนั้นอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่หลุดออกจากฌานสมาบัติก่อนเวลาที่อธิษฐานไว้
๔. วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากฌานสมาบัติ หมายความว่า สามารถที่จะกำหนดเวลาออกและออกจากฌานสมาบัติได้ตามเวลาที่กำหนดไว้พอดี ไม่ก่อนไม่หลัง ทั้งสามารถออกได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าไม่ชำนาญก็จะออกจากฌานสมาบัติไม่ได้ตรงเวลา หรือออกจากฌานไม่สะดวก อาจหลงติดอยู่ในฌานสมาบัตินั้น ต้องอาศัยครูอาจารย์ช่วยแก้อารมณ์ให้ก็ได้
๕. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน หมายความว่า เมื่อออกจากฌานสมาบัติแล้ว ต้องพิจารณาสภาพขององค์ฌานที่ตนเองได้เสพสัมผัสมาในช่วงระยะเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น เพื่อเป็นการทบทวนและเสพคุ้นในสภาพขององค์ฌาน ทำให้ฌานนั้น มีกำลังแก่กล้าและประทับอยู่ในจิตใจมากขึ้น
เมื่อพระโยคีบุคคลสามารถทำให้เกิดวสีทั้ง ๕ นี้ได้แล้ว ก็สามารถที่จะเลื่อนฌานขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ และสามารถเข้าออกจากฌานได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังสามารถใช้ฌานเป็นบาทฐานในการทำฤทธิ์เดชต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้ด้วย