| |
อาฆาตวัตถุ ๑๐   |  

อาฆาตวัตถุ หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดความโกรธ ความอาฆาตความพยาบาทปองร้าย ความคิดเบียดเบียนทำร้าย หรือความไม่พอใจ ที่ทำให้โทสมูลจิตเกิดขึ้น มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียแก่เรา เป็นการนึกคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เคยทำความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้กับตนเอง หรือเป็นศัตรูคู่อริกัน เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลหรือสิ่งของนั้นเข้า หรือนึกถึงเข้า ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด หรือ ความอายขึ้นมาได้

๒. อาฆาตเพราะคิดว่าเขากำลังทำความเสื่อมเสียแก่เรา เป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของนั้น ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับตนโดยตรงก็ดี หรือเห็นอาการกิริยา ท่าที หรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่ตนไม่ชอบใจ ด้วยคิดว่า กำลังจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเอง ซึ่งอาจจะไม่เป็นดังที่ตนคิดก็ได้ แล้วทำให้เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด หรือ ความอายขึ้นมาได้

๓. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาจักทำความเสื่อมเสียแก่เรา ซึ่งเป็นการคาดคะเนเอาว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้นจะทำความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้แก่ตน หรือมองเห็นเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้รู้ได้ว่า บุคคลหรือสิ่งนั้น กำลังจะทำความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้กับตนเอง แล้วก็เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๔. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก เป็นการนึกคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เคยทำความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองรักใคร่หวงแหน หรือเป็นศัตรูคู่อริกับบุคคลหรือสิ่งของ ๆ ตน เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลหรือสิ่งนั้นเข้า หรือนึกถึงเข้า ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๕. อาฆาต เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของนั้น ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนรักโดยตรงก็ดี หรือเห็นอาการกิริยา ท่าที หรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่ตนเองไม่ชอบใจ ด้วยคิดว่า กำลังจะนำความเดือดร้อนมาสู่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนรัก ซึ่งอาจจะไม่เป็นดังที่ตนคิดก็ได้ แต่ก็ทำให้เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๖. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาจักทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก ซึ่งเป็นการคาดคะเนเอาว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้นจะทำความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้แก่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนรักใคร่หวงแหน หรือมองเห็นเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้รู้ได้ว่า บุคคลหรือสิ่งนั้น กำลังจะทำความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองรักในกาลข้างหน้า แล้วก็เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๗. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง เป็นการนึกคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เคยทำประโยชน์ สร้างความเจริญ สร้างความดีงามให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองไม่ชอบใจ หรือเกลียดชัง เป็นศัตรูคู่อริกัน เป็นต้น เมื่อได้เผชิญหน้ากับบุคคลหรือสิ่งนั้น หรือนึกถึงเข้า ย่อมทำให้เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๘. อาฆาต เพราะคิดว่า เขากำลังทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของนั้น ๆ ที่เป็นฝักฝ่ายกับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเกลียดชังไม่ชอบใจโดยตรงก็ดี หรือเห็นอาการกิริยา ท่าที หรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่ตนคิดว่า บุคคลหรือวัตถุสิ่งนั้น กำลังจะนำความดีงาม นำความเจริญ นำประโยชน์มาสู่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนเกลียดชัง หรือไม่ชอบใจนั้น ซึ่งอาจจะไม่เป็นดังที่ตนคิดก็ได้ แต่ก็เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๙. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาจักทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง ซึ่งเป็นการคาดคะเนเอาว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้นจะทำคุณประโยชน์ สร้างความดีงาม สร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนเกลียดชัง ไม่ชอบใจ หรือมองเห็นเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้รู้ได้ว่า บุคคลหรือสิ่งนั้น กำลังจะทำคุณประโยชน์ สร้างความดีงาม สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองเกลียดชัง ไม่ชอบใจ แล้วเกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

๑๐. อาฆาต ด้วยเหตุอันไม่สมควรเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เดินไปสะดุดนั่น ชนนี่ เป็นต้นเจ.๑๘ แล้วเกิดบันดาลโทสะ เกิดความโกรธ ความไม่ชอบใจ เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ โดยหาว่า บุคคลหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่รู้จักหลบ ไม่รู้จักหลีก หรืออยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งอาจเป็นเพราะความพลั้งเผลอขาดสติ หรือความไม่มีระเบียบวินัยของตนเองก็ได้ แล้วก็เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ขึ้นมาได้

จะเห็นได้ว่า โทสจิตตุปบาท คือ ความโกรธนั้นย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลที่ประกอบด้วยโทมนัสคือความไม่ชอบใจในอารมณ์ทั้ง ๖ และโทมนัสที่เกิดขึ้นในอารมณ์ทั้ง ๖ นี้ ย่อมแสดงว่าจิตกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นโดยสภาวะที่ไม่พอใจ การกระทบอารมณ์โดยสภาวะที่ไม่พอใจนี้ ชื่อว่า ปฏิฆะ ด้วยเหตุนี้ โทสมูลจิต จึงชื่อว่า ปฏิฆสัมปยุตตจิต เพราะอรรถว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือ ประกอบกับโทสเจตสิก เนื่องจากกระทบกับอารมณ์โดยความไม่พอใจ

โทสมูลจิตนี้หมายรวมถึงจิตที่มีความไม่ชอบใจ เสียใจ กลุ้มใจ หงุดหงิดรำคาญใจ โกรธ เกลียด กลัว และความอับอายขายหน้า เป็นต้นด้วย เมื่อโทสะเกิดแล้ว พยาบาทย่อมเกิด ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “โทโส โหติ” โทสะย่อมเกิดมี “พฺยาปาโท โหติ” พยาบาทย่อมเกิดมี โดยหลักฐานนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า โทสะย่อมเป็นมูลให้เกิดพยาบาท และที่ชื่อว่า พยาบาท เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้ถึงความฉิบหาย คือ เข้าถึงความเสียแห่งจิต หรือ เพราะอรรถว่า ทำระเบียบวินัย กิริยามารยาท อวัยวะ ร่างกาย และประโยชน์ เป็นต้นให้ถึงความพินาศไป แต่โดยเนื้อความแล้ว พยาบาท ก็คือ โทสะ นั่นเอง เพราะฉะนั้น โทสะจึงมีชื่อเรียกว่า ปฏิฆะหรือพยาบาท


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |