| |
อรรถ [ความหมาย] แห่งมหาภูตรูป ๕ ประการ   |  

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรครุ.๒๘ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ได้แสดงความหมายของมหาภูตรูปไว้ว่า ที่ชื่อว่า มหาภูตรูป นั้น เพราะอรรถ ๕ ประการ คือ

๑. มหนฺตปาตุภาวโต ที่ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะอรรถว่า เป็นธาตุที่ปรากฏเป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นที่อาศัยของรูปทั้งหลาย

๒. มหาภูตสามญฺโต ที่ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะอรรถว่า มีลักษณะที่หลอกลวง เกิดดับ ดุจปีศาจ

๓. มหาปริหารโต ที่ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะอรรถว่า เป็นรูปที่ต้องบริหารเลี้ยงดูมาก ต้องประคับประคองอยู่เป็นนิตย์ เพราะย่อยยับไปอยู่เสมอ

๔. มหาวิการโต ที่ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะอรรถว่า มีอาการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องเคลื่อนไหวมาก

๕. มหตฺตภูตตฺตา ที่ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะอรรถว่า เป็นของใหญ่ และมีอยู่จริงโดยสภาวะ แต่ต้องพิจารณาให้มาก จึงจะรู้ได้

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

มหาภูตรูปมีความหมายสรุปได้ ๕ ประการ คือ

๑. คำว่า เพราะความปรากฏเป็นของใหญ่ [มหนฺตปาตุภาวโต] หมายความว่า ธาตุเหล่านี้เป็นธรรมชาติปรากฏเป็นของใหญ่ ทั้งในสิ่งที่ไม่มีใจครองและในสันดานของสัตว์ที่มีใจครอง บรรดาสันดานทั้ง ๒ เหล่านั้น ความปรากฏเป็นของใหญ่ของมหาภูตรูปเหล่านั้น ในสิ่งที่ไม่มีใจครองนั้น มีตัวอย่างในพุทธานุสสตินิทเทสโดยนัยเป็นต้นว่า “แผ่นดินนี้ ท่านคำนวณแล้ว โดยกำหนดส่วนหนาได้เท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐ โยชน์” ส่วนในสันดานของสัตว์ที่มีใจครองนั้น เป็นสภาพที่ปรากฏเป็นของใหญ่จริง โดยสภาพแห่งสรีระร่างกายแห่งปลา เต่า เทวดา มาณพ อสูร เป็นต้น สมดังที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีอัตภาพที่ยาวได้ประมาณตั้ง ๑๐๐ โยชน์ รุ.๓๐ ดังนี้เป็นต้น

๒. คำว่า เพราะเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต [มหาภูตสามญฺโต] หมายความว่า ธาตุเหล่านี้ตัวของมันเองเป็นสภาพไม่เขียวเลย แต่ก็แสดงอุปาทายรูปให้มีสีเขียวออกมาได้ ตัวของมันเองเป็นสภาพไม่เหลืองเลย แต่ก็แสดงอุปาทายรูปให้มีสีเหลืองออกมาได้ ตัวของมันเองเป็นสภาพไม่แดงเลย แต่ก็แสดงอุปาทายรูปให้มีสีแดงออกมาได้ ตัวของมันเองเป็นสภาพไม่ขาวเลย แต่ก็แสดงอุปาทายรูปให้มีสีขาวออกมาได้ เปรียบเหมือนนักเล่นกล ที่แสดงน้ำให้เป็นแก้วมณีได้ แสดงก้อนดินให้เป็นทองได้ เป็นต้น อนึ่ง มหาภูตรูปนี้ตัวของมันเอง ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่นก แต่ก็แสดงอุปาทายรูปออกมาเป็นยักษ์บ้าง เป็นนกบ้าง ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นเหมือนกับมหาภูตหรือนักเล่นกล

อนึ่ง มหาภูตรูปเหล่านี้ เปรียบเหมือนมหาภูต มียักษ์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเข้าสิงผู้ใดแล้ว ทั้งภายในและภายนอกของผู้นั้น ย่อมจะถูกมหาภูตนั้นเข้าไปได้ก็ไม่ใช่ [หมายความว่า มหาภูตไม่ได้เข้าไปอยู่ข้างในตัวของบุคคลนั้น และไม่ได้ครอบอยู่ข้างนอกตัวของบุคคลนั้น แต่อย่างใด] และมหาภูตนั้นจะไม่สิงผู้นั้นอยู่ก็ไม่ใช่ [หมายความว่า มหาภูตนั้นแม้จะไม่ได้เข้าไปอยู่ข้างในและไม่ได้ครอบอยู่ข้างนอกของบุคคลนั้นก็ตาม แต่ย่อมควบคุมเส้นประสาทของบุคคลนั้นให้อยู่ในอำนาจ ทำให้นามธรรมคือความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นไม่สามารถทำงานโดยอิสระได้ ต้องตกอยู่ในอำนาจของมหาภูตนั้น แล้วแต่มหาภูตนั้นจะสั่งการให้ทำอะไรหรือไม่ให้ทำอะไรก็ได้ จึงเรียกกันว่า มหาภูตเข้าสิง] ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะว่าเข้าไปอยู่ในกันและกันก็ไม่ใช่ จะตั้งอยู่ภายในและภายนอกของกันและกันก็ไม่ใช่ และมหาภูตรูปเหล่านี้ มิใช่จะไม่อาศัยซึ่งกันและกันอยู่ก็หาไม่ อีกอย่างหนึ่ง ธาตุที่ชื่อว่า มหาภูต นั้น เพราะเป็นธรรมชาติที่เสมอกับมหาภูตมียักษ์เป็นต้น โดยความเป็นฐานะที่ไม่ควรคิด [อจินไตย] เพราะสามารถพรางตนและแปลงเพศเป็นต่าง ๆ ได้มากมาย กล่าวคือ เป็นสภาพที่แฝงตัวอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ทุกอย่างทุกประเภทที่มีรูปร่าง ถ้าไม่ได้ทำการศึกษาและพิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่สามารถรู้ถึงสภาพมหาภูตรูปในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาภูต กล่าวคือ นางยักษิณี ซึ่งปกปิดสภาพอันน่ากลัวของตนไว้ โดยการปลอมตัว แปลงร่างกายให้มีสีและสัณฐานที่น่าพึงพอใจ น่ายินดีรักใคร่ ลวงสัตว์ทั้งหลายให้หลงใหลได้ ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ก็ฉันนั้น ย่อมปกปิดลักษณะตามธรรมดาของตนไว้ โดยอาการต่าง ๆ กล่าวคือ ตนเองเป็นของแข้นแข็ง ก็ปรากฏเป็นผิวพรรณวรรณะที่น่าพึงพอใจ [อ่อนนุ่มละเมียดละไม] แสดงสัณฐานต่าง ๆ แห่งอวัยวะน้อยใหญ่ [เช่น ออกมาเป็น ตา หู จมูก ลิ้น แขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า และทรวดทรงต่าง ๆ เป็นต้น] ที่น่าพึงพอใจ และด้วยกิริยาท่าทางต่าง ๆ [มีการยืน เดิน นั่ง นอน ยักย้ายส่ายเปลี่ยนอิริยาบถน้อยและอิริยาบถใหญ่ การยิ้ม การหัวเราะ การเจรจา การขับร้อง เป็นต้น] แห่งความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย เป็นต้น ลวงคนที่ไม่รู้เท่าทันมิให้เห็นความเป็นจริงของตน ให้หลงใหลไปตาม โดยคิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หญิง ชาย สวยงาม น่ารักใคร่ น่าชอบใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปจึงได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นสิ่งเสมอด้วยมหาภูต กล่าวคือ นางยักษิณี เพราะเป็นสภาพหลอกลวง

๓. คำว่า เพราะจำต้องบริหารมาก [มหาปริหารโต] หมายความว่า มหาภูตรูปนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องดูแลรักษาประคบประหงมด้วยปัจจัยเป็นอันมาก จริงอยู่ มหาภูตเหล่านี้ เป็นไปแล้วด้วยปัจจัยทั้งหลาย มีเครื่องกินและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นเป็นอันมาก เพราะจะต้องบริโภคเข้าไปทุก ๆ วัน เช่น ต้องสวมใส่เครื่องนุ่งห่ม ต้องบริโภคอาหาร ต้องมีที่หลบซ่อนกำบังความหนาวร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และอันตรายต่าง ๆ ต้องใช้ยารักษาโรค ร้อนก็ต้องอาบน้ำ ต้องชะโลมเครื่องประทินผิว ต้องใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นต้น ถ้าเป็นมนุษย์และสัตว์ผู้มีความละอาย ก็ต้องปกปิดอวัยวะอันให้เกิดความละอายต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นภูตที่จะต้องบริหารมากนั้น กล่าวคือ ต้องดูแลเอาใจใส่ ให้กินอยู่อย่างอิ่มหนำสำราญ ไม่ให้อดอยากหิวกระหาย เปรียบเหมือนมหาภูตคือปีศาจ ถ้าปล่อยให้อดอยากหิวกระหายขึ้นมาแล้ว ก็อาจหันมาจับบุคคลผู้อยู่ใกล้ ๆ ไปกินแทนก็ได้ มหาภูตรูปอันรวมเข้าเป็นสรีระร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะสัตว์ที่ต้องกินอาหารก็เช่นเดียวกัน แม้จะพยายามปรนเปรอเป็นอย่างดี ให้อิ่มหนำสำราญมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ไม่ยอมปรานี ยังยื่นความทุกข์ให้มากมาย เช่น ทุกข์เพราะปวดอุจจาระปัสสาวะ ที่ต้องขับถ่ายออกเป็นประจำ ถ้าไม่ขับถ่ายออกในเวลาที่มันต้องการจะออกแล้ว ก็ย่อมก่อทุกข์และโทษให้อีก ทำให้เกิดโรคผิดปกติของร่างกายตามมาอีก อนึ่ง แม้จะพยายามประคบประหงมดูแลและขับถ่ายตามเวลาอันสมควรแล้ว สรีระร่างกายนี้ก็ยังไม่เชื่อฟัง ไม่ปรานี ยังมีโรคภัยไข้เจ็บมาคอยเบียดเบียนอย่างไม่ว่างเว้น แม้บางคนจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างอื่นเบียดเบียนก็ตาม แต่ก็หนีไม่พ้นภัย ๒ ประการ คือ ภัยจากความแก่ และภัยจากความตาย ซึ่งสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะต้องประสบพบเจอเหมือนกันทุกผู้คน

๔. คำว่า เพราะมีวิการมาก [มหาวิการโต] หมายความว่า มหาภูตรูปนี้ ที่เป็นอุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่มีใจครองก็ดี อนุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่ไม่มีใจครองก็ดี ย่อมเป็นมหาภูตที่มีวิการมาก ในมหาภูต ๒ ชนิดนั้น อาการที่วิการมากของอนุปาทินนกสังขาร ย่อมปรากฏในเวลาที่กัปป์ถูกทำลาย คือ สรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งแผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้ ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ มหาสมุทร ทั้งหมดย่อมย่อยยับไป เพราะภัยจากไฟบ้าง เรียกว่า เตโชสังวัฏฏกัปป์ หรือภัยจากน้ำบ้าง เรียกว่า อาโปสังวัฏฏกัปป์ หรือภัยจากลมบ้าง เรียกว่า วาโยสังวัฏฏกัปป์ แล้วแต่ยุคสมัยของภัยนั้น ๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “เมื่อใด โลกธาตุไหม้อยู่ด้วยความร้อนแห่งเปลวไฟ เปลวไฟพลุ้งขึ้นตั้งแต่ภาคพื้นดิน ลุกขึ้นไปจนกระทั่งถึงพรหมโลก [ชั้นที่ ๓] ฯ เมื่อใด โลกจักฉิบหายด้วยน้ำที่กำเริบขึ้น [น้ำท่วม] เมื่อนั้น จักรวาลประมาณหนึ่งแสนโกฏิ จะละลายไปในเวลาอันรวดเร็ว” เมื่อใด โลกจักฉิบหายด้วยลมกำเริบ เมื่อนั้น จักรวาลประมาณหนึ่งแสนโกฏิ ก็จักวอดวายไปอย่างรวดเร็ว ส่วนอาการวิการของอุปาทินนกสังขารนั้น ย่อมปรากฏในเวลาธาตุกำเริบ [ธาตุภายในทุพพลภาพหรือพิการสูญเสียไป ทำให้จิตใจกระสับกระส่าย อาจทำให้สติฟั่นเฟือน กลายเป็นบ้าเสียสติ หรือถึงกับพิการและตายได้] ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “เมื่อร่างกายถูกงูปากไม้กัด ย่อมแข็งกระด้างโดยฉับพลัน ฉันใด เพราะปถวีธาตุกำเริบ ร่างกายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากไม้ ฉันนั้น เมื่อร่ายกายถูกงูปากเน่ากัด ย่อมเน่าเปื่อยไปโดยฉับพลัน ฉันใด เพราะอาโปธาตุกำเริบ ร่างกายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากเน่า ฉันนั้น เมื่อร่างกายถูกงูปากไฟกัด ย่อมร้อนรุ่ม ฉันใด เพราะเตโชธาตุกำเริบ ร่างกายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากไฟ ฉันนั้น เมื่อร่างกายถูกงูปากศัสตรากัด ย่อมขาดไป ฉันใด เพราะวาโยธาตุกำเริบ ร่างกายนั้นก็เป็นดุจอยู่ในปากของงูปากศาสตรา ฉันนั้น” มหาภูตรูปมีวิการมากดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า มหาภูต

๕. คำว่า เพราะเป็นของมีอยู่โดยความเป็นของใหญ่ [มหตฺตภูตตฺตา] หมายความว่า มหาภูตรูปเหล่านี้ ชื่อว่า เป็นของใหญ่ เพราะจะต้องประคับประคองด้วยความพยายามอย่างหนัก และชื่อว่า มีอยู่จริง เพราะปรากฏมีอยู่อย่างชัดเจน คือ สามารถสังเกตรู้และพิจารณาเห็นได้ง่ายกว่าอุปาทายรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นพื้นฐานรองรับให้อุปาทายรูปได้อาศัยเกิด เช่น ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีธาตุดิน ซึ่งสามารถสัมผัสรู้ได้ถึงความแข็งหรือความอ่อน ธาตุน้ำ แม้จะสัมผัสรู้ไม่ได้ด้วยกายสัมผัส แต่ก็เป็นสภาพที่ทำให้ธาตุดินเกาะกุมกันอยู่ได้โดยไม่กระจัดกระจายออกจากกัน ธาตุไฟ สามารถสัมผัสรู้ได้ถึงสภาพร้อนหรือเย็น ธาตุลม สามารถสัมผัสรู้ได้ถึงความหย่อนหรือความตึง เมื่อมหาภูตรูปทั้ง ๔ ประชุมเกาะกุมกันอยู่อย่างสมดุลเช่นนี้แล้ว อุปาทายรูปทั้งหลายย่อมปรากฏตัวขึ้นได้ กล่าวคือ วัณณรูปย่อมแสดงสีต่าง ๆ ของมหาภูตรูปออกมาได้ สัททรูปย่อมแสดงเสียงของมหาภูตรูปออกมาได้ คันธรูปย่อมแสดงกลิ่นของมหาภูตรูปออกมาได้ รสรูปย่อมแสดงรสของมหาภูตรูปออกมาได้ อิตถีภาวรูปหรือปุริสภาวรูปซึมซับอยู่ทั่วร่างกายอันเป็นมหาภูตรูปแล้ว ย่อมแสดงความรู้สึกและอาการแห่งความเป็นหญิงหรือความเป็นชายออกมาได้ ชีวิตรูปซึมซับอยู่ทั่วร่างกายแล้ว ย่อมแสดงความรู้สึกแห่งความมีชีวิตและปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาได้ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปจึงได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นของมีอยู่จริงโดยความเป็นของใหญ่

สรุปความว่า ธาตุเหล่านี้ทั้งหมด ได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นของปรากฏอยู่โดยความเป็นของใหญ่ เป็นต้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ธาตุทุกอย่างย่อมไม่ล่วงพ้นลักษณะแห่งความเป็นธาตุไปได้ คือ เป็นสภาพที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลงสภาวะลักษณะไปเป็นอย่างอื่นเลย กล่าวคือ ธาตุดินไม่ว่าจะเกิดกับใครหรือสิ่งใด ที่ไหน เมื่อไรก็ตาม ย่อมทรงไว้ซึ่งสภาพแข็งหรือสภาพอ่อนเสมอ แม้ธาตุอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน

อนึ่ง มหาภูตรูป ได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นฐานแห่งทุกข์ คือ เป็นเครื่องรองรับความทุกข์และเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ต่าง ๆ มากมาย มีทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น และเพราะเป็นสภาพที่อัดทุกข์ไว้ภายใน กล่าวคือ ภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นตัวทุกข์ ที่รวมกันอยู่อย่างหนาแน่น เรามีสิ่งใดก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น เช่น มีตาก็ทุกข์เพราะตา มีหูก็ทุกข์เพราะหู มีผมก็ทุกข์เพราะผม เป็นต้น สรุปแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ดังบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขารุ.๓๑” แปลความว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ซึ่งหมายความว่า โดยปกติรูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นรังของโรค เป็นอาหารของหมู่หนอน เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งสิ่งสกปรกทั้งปวง เป็นต้นอยู่แล้ว ถ้ายิ่งบุคคลเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายและนามขันธ์ทั้ง ๔ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ด้วยแล้ว เมื่อรูปนามขันธ์ ๕ เหล่านั้น แปรเปลี่ยนหรือเสื่อมสลายไป ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เช่น ทุกข์เพราะความเศร้าโศกเสียใจ พิไรรำพัน ความคับแค้นใจ ความหม่นหมองใจ ความแห้งใจ เป็นต้น

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๒ ได้แสดงความหมายของมหาภูตรูปนี้ไว้ดังต่อไปนี้

มหาภูตรูป หมายถึง รูปที่ใหญ่โตปรากฏชัดเจนตามลักษณะและรูปร่างของตน เมื่อเทียบกับอุปาทายรูปแล้ว มหาภูตรูปย่อมมีสภาพใหญ่โตและปรากฏชัดเจนตามสภาวะของตนมากกว่า

ในคัมภีร์วิภาวินีและมหาฎีกากล่าวว่า “[รูปที่ใหญ่โตและปรากฏชัด] โดยเนื่องกับรูปร่าง” ข้อความนั้นไม่สมควร เพราะชื่อว่า มหาภูตรูป มิได้เป็นไปโดยเนื่องกับรูปร่าง โดยปราศจากความกว้างขวางด้วยลักษณะของตน [มีความแข็งเป็นต้น] ความใหญ่โตโดยรูปร่างของมหาภูตรูปในกระแสแห่งขันธ์ที่มีใจครองและไม่มีใจครอง โดยความเป็นแผ่นดิน ภูเขา ปลา และเต่า เป็นต้น ในมหาสมุทร มีมูลเหตุคือความกว้างขวางด้วยลักษณะของตน

อีกนัยหนึ่ง มายากร [นักเล่นกล] เรียกว่า มหาภูต เพราะเป็นผู้ใช้เล่ห์กลในโลก

อีกนัยหนึ่ง ยักษ์เป็นต้น เรียกว่า มหาภูต เพราะเป็นสิ่งที่คาดคะเนไม่ได้ ในการเข้าสิงมนุษย์

อีกนัยหนึ่ง ยักษิณี เรียกว่า มหาภูต เพราะหลอกลวง [ให้หลงผิด โดยจำแลงร่างที่งดงามให้ปรากฏ เป็นต้น]

รูปทั้ง ๔ อย่างนี้เหมือนมายากรเป็นต้น เนื่องจากคล้ายกับมายากรเป็นต้นด้วยความหมายเหล่านั้น จึงชื่อว่า มหาภูตรูป

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว คำว่า มหาภูต จึงมีความหมาย ๔ อย่าง คือ

๑. รูปใหญ่โตปรากฏชัด ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “มหนฺตานิ หุตฺวา ภวนฺติ ปาตุภวนฺตีติ มหาภูตานิ” แปลความว่า รูปเหล่าใดเป็นของใหญ่และปรากฏชัด เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป

๒. รูปที่คล้ายกับมายากร ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “มหาภูตา วิยาติ มหาภูตานิ” แปลความว่า รูปใดเป็นเหมือนกับมหาภูต [คือมายากร] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป

๓. รูปที่คล้ายกับอมนุษย์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “มหาภูตา วิยาติ มหาภูตานิ” แปลความว่า รูปใดเป็นเหมือนกับมหาภูต [คืออมนุษย์มียักษ์เป็นต้น] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป

๔. รูปที่คล้ายกับนางยักษิณี ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “มหาภูตา วิยาติ มหาภูตานิ” แปลความว่า รูปใดเป็นเหมือนกับมหาภูต [คือนางยักษิณี] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป

อนึ่ง ในฝ่ายอุปมาและอุปไมยทั้ง ๒ พึงมีรูปวิเคราะห์ว่า “มหาภูต” คือ มายากร เป็นต้น หรือรูปที่ไม่มีจริง หรือรูปที่มีความอัศจรรย์อันใหญ่หลวง

ในคัมภีร์วิภาวินีแสดงยักษิณีให้เป็นคำอุปมาโดยเฉพาะ แล้วกล่าวว่า “อีกนัยหนึ่ง มหาภูตรูป คือ รูปที่ไม่มีจริง เพราะหลอกลวงเหล่าสัตว์ ด้วยการแสดงรูปสตรีหรือรูปบุรุษที่น่าพึงพอใจเป็นต้น ประดุจนางยักษิณีผู้หลอกลวงเหล่าสัตว์ ด้วยการเนรมิตรผิวพรรณรูปร่างที่น่าพึงพอใจให้ปรากฏ ฉันนั้น” ข้อความนั้นดูไม่สอดคล้องกับคัมภีร์อรรถกถา เพราะในคำอธิบายของคำว่า “มหาภูตสามญฺโต” [เพราะเหมือนมายากร ปีศาจ และยักษิณี ที่ชื่อว่า มหาภูต] พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงมหาภูต ๓ อย่างไว้ในคัมภีร์อรรถกถา คือ มายากร ปีศาจ และยักษิณีรุ.๓๓

ในอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ชื่อว่า อภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๓๔ ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงความหมายของมหาภูตรูปไว้ดังต่อไปนี้

ธรรมทั้งหลายมีปถวีธาตุเป็นต้น ชื่อว่า มหาภูต เพราะอรรถว่า เกิด คือ ปรากฏเป็นสภาพใหญ่ในสันดานที่มีใจครอง [ในสัตว์มีชีวิต] และไม่มีใจครอง [ในสิ่งไม่มีชีวิต] ด้วยอำนาจแห่งธาตุพร้อมทั้งสัมภาระ ฯ อีกนัยหนึ่ง บุคคลที่ชื่อว่า มหาภูต เพราะอรรถว่า มีสิ่งที่ไม่เคยมีหรือมีสิ่งที่ไม่เป็นจริงมากหลาย โดยแสดงสิ่งที่ไม่เคยมีแปลก ๆ มากมาย หรือโดยแสดงสิ่งที่ไม่เป็นจริงหลากหลาย ได้แก่ พวกนักแสดงกล เป็นต้น ฯ ภูตรูปชื่อว่าเหมือนพวกนักแสดงกล เป็นต้นเหล่านั้น เพราะตนเองเป็นสภาพที่ไม่เขียวเป็นต้นเลย แต่ก็แสดงอุปาทายรูปที่มีสีเขียว เป็นต้นให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปจึงชื่อว่า มหาภูต ฯ อีกนัยหนึ่ง ธรรมคือมหาภูตรูป ชื่อว่า มหาภูต เพราะอรรถว่า มีของไม่เป็นจริงมากมาย เพราะหลอกลวงเหล่าสัตว์ โดยแสดงรูปสตรีและรูปบุรุษที่น่าชอบใจเป็นต้น ดุจนางยักษิณีเป็นต้น ผู้หลอกลวงเหล่าสัตว์ด้วยอาการมีการเนรมิตรสีและสัณฐานอันน่าชอบใจเป็นต้นให้ปรากฏ ฉันนั้น ฯ แม้ข้อนี้ ก็สมจริงดังคำที่ท่านอาจารย์พุทธทัตตะ กล่าวไว้ว่า

มหนฺตา ปาตุภูตาติ    มหาภูตสมาติ วา
วญฺจกตฺตา อภูเตน    มหาภูตาติ สมฺมตาติ ฯ

แปลความว่า

ธรรมมีปถวีธาตุเป็นต้น บัณฑิตเรียกว่า มหาภูต เพราะปรากฏเป็นสภาพอันใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหมือนกับคนที่แสดงสิ่งที่ไม่เคยมีให้มีขึ้น แสดงสิ่งที่ไม่เป็นจริง ให้ดูเหมือนกับว่าเป็นของจริงขึ้นมาได้หลายอย่าง เพราะหลอกลวงด้วยสิ่งที่ไม่เป็นจริง

เนื้อความจากคัมภีร์ต่าง ๆ ในรุ่นหลังดังกล่าวมานี้ มีความหมายและคำอธิบายเหมือนกันกับเนื้อความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ดังได้แสดงและอธิบายไปแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านและท่านผู้ศึกษาพึงทำการทบทวนในเนื้อหาที่ได้อ่านได้ศึกษามาแล้วนั้นโดยละเอียดถี่ถ้วน และใช้วิจารณญาณในการคิดพิจารณากำหนดรู้สภาพของมหาภูตรูปตามที่ได้แสดงไปแล้วในเบื้องต้น ทั้งจากคัมภีร์ต่าง ๆ และจากคำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียนเอง เมื่อได้ทบทวนและกำหนดพิจารณาตามเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้อ่านและผู้ศึกษาย่อมเข้าใจในเรื่องมหาภูตรูปได้ตามสมควรแก่กำลังสติปัญญาและอุปนิสสัยบารมีของตนเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |