| |
มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป   |  

ในอภิธัมมัตถสังคหฎีกาชื่อว่าอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๒๖ ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงอารัมภบทเบื้องต้นในเรื่องมหาภูตรูปและอุปาทายรูปไว้ดังนี้

อีกนัยหนึ่ง ภูตรูป ชื่อว่า เป็นรูปใหญ่ เพราะมีความปรากฏใหญ่ และชื่อว่า เป็นภูต เพราะอรรถว่า เป็นรูปที่มีอุปาทายรูปอาศัย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต รูปที่อาศัยมหาภูตเป็นไป ชื่อว่า อุปาทายรูป มีคำท้วงว่า “ถ้าเช่นนั้น มหาภูตแต่ละอย่าง ๆ ย่อมเป็นที่อาศัยของมหาภูตที่เหลือ เพราะพระบาลีมีอาทิว่า “มหาภูตทั้ง ๓ อาศัยมหาภูตอย่างหนึ่ง” ดังนี้ เพราะฉะนั้น มหาภูตที่เหลือแม้เหล่านั้นก็จะต้องไปพ้องกับอุปาทายรูปเข้าละซี” แก้ว่า ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างที่ท่านกล่าวนั้น เพราะรูปที่เพียงอาศัยเป็นไปสำเร็จนั้น ชื่อว่า อุปาทายรูป จริงอยู่ รูปที่อาศัยเพียงมหาภูตและตนเองถูกมหาภูตอื่นอาศัยนั้น ไม่ชื่อว่า อุปาทายรูป แต่รูปที่อาศัยอย่างเดียว [และตนเอง] ไม่ถูกรูปอะไร ๆ อาศัยนั่นแหละ ชื่อว่า อุปาทายรูป เพราะฉะนั้น ภูตรูปทั้งหลายจึงไม่มีความพ้องกันกับชื่ออุปาทายรูปนั้น อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของอุปาทายรูป [มี] เพราะคำว่า รูปอาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่าอุปาทายรูป ดังนี้ เพราะฉะนั้น พวกภูตรูปที่อาศัยภูตรูป ๓ เป็นไปนอกนี้ จึงไม่ได้ชื่อว่า อุปาทายรูป ฉะนี้แล

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๒๗ ได้แสดงความหมายของมหาภูตรูปกับอุปาทายรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปมีจำนวน ๒๘ รูป แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ

๑. มหาภูตรูป หมายถึง รูปที่เป็นใหญ่และปรากฏชัดเจน ดังมีวจนัตถะ [คำจำกัดความ] ว่า“อุปาทินฺนานุปาทินฺนสนฺตาเนสุ สลกฺขณโต สสมฺภารโต จ มหนฺตานิ หุตฺวา ภวนฺติ ปาตุภวนฺตีติ มหาภูตานิ” แปลความว่า รูปเหล่าใดเป็นใหญ่และปรากฏชัดเจนโดยลักษณะของตนและโดยสัณฐานของตนในสันดานแห่งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปเหล่านั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป มี ๔ อย่าง คือ ปถวี อาโป เตโช วาโย

๒. อุปาทายรูป หมายถึง รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด ดังมีวจนัตถะ [คำจำกัดความ] ว่า “มหาภูตานํ อุปาทยปวตฺตํ รุปนฺติ อุปาทายรูปํ” แปลความว่า รูปใด ที่เกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ [หรือวิสยรูป ๗] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔

บทสรุปของผู้เขียน :

ในเรื่องมหาภูตรูปกับอุปาทายรูปนี้ ผู้เขียนมีข้อสรุปโดยย่อดังต่อไปนี้

คำว่า มหาภูตรูป แปลว่า รูปที่ใหญ่และปรากฏชัด หมายความว่า ที่ชื่อว่า เป็นรูปใหญ่ นั้น เพราะเป็นรูปที่เป็นพื้นฐานและเป็นที่อาศัยของบรรดารูปทั้งหมด รูปทั้งหลายจะปรากฏได้ ก็เพราะมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้เป็นฐานและเป็นที่อาศัย กล่าวคือ มหาภูตรูปเหล่านี้ย่อมเป็นส่วนประกอบของบรรดารูปทั้งหมด เช่น ในจักขุปสาทรูป ย่อมมีสภาพแห่งมหาภูตรูปเป็นส่วนประกอบหลักร่วมอยู่ด้วย หรือเป็นเนื้อแท้ของจักขุปสาทรูปนั้น ได้แก่ สภาพแข็งหรืออ่อน สภาพเอิบอาบทำให้รูปอื่น ๆ เกาะกุมกันเป็นรูปร่างสัณฐาน สภาพร้อนหรือเย็น และสภาพหย่อนหรือตึง ทำให้จักขุปสาทรูปซึ่งมีสภาพใสเหมือนกระจกเงา สามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้ ซึ่งความใสนั้น ก็ได้แก่ ความใสของมหาภูตรูปนั้นเอง ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ แล้ว ความใสแห่งมหาภูตรูปนั้นย่อมปรากฏขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากจักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปจะมีความใสมากหรือน้อย หรือจะมีประสิทธิภาพในการรับกระทบกับรูปารมณ์มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจแห่งกรรมของบุคคลนั้นและเหตุปัจจัยอื่น ๆ ของรูปนั้นด้วย อนึ่ง ที่ชื่อว่า เป็นรูปที่ปรากฏชัด นั้น เพราะเป็นรูปที่สามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ง่ายกว่าบรรดารูปอื่น ๆ เช่น ในขณะกระทบสัมผัสนั้น ย่อมรู้สึกต่อสภาพแห่งมหาภูตรูปได้ก่อน ได้แก่ สภาพแข็งหรืออ่อน สภาพร้อนหรือเย็น สภาพหย่อนหรือตึง ส่วนธาตุน้ำนั้นเป็นสภาพที่เอิบอาบทำให้รูปอื่น ๆ เกาะกุมกันอยู่ได้ ซึ่งเป็นสภาพธัมมารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ เหล่านี้เป็นต้น

คำว่า อุปาทายรูป นั้น แปลว่า รูปอาศัย หมายความว่า เป็นรูปที่ต้องอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานจึงจะปรากฏได้ ตัวอย่างเช่น สีต่าง ๆ มีเขียว เหลือง แดง ขาว เป็นต้น จะปรากฏให้เห็นได้ ก็ต้องมีสิ่งต่าง ๆ ที่สีนั้นอาศัยอยู่ จึงเรียกกันว่า สีของสิ่งนั้น สีของสิ่งนี้ ถ้าไม่มีสิ่งต่าง ๆ ปรากฏเป็นฐานอาศัยแล้ว สีของสิ่งนั้น ๆ ย่อมปรากฏไม่ได้เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |