| |
เหตุให้เกิดมหากุศลโสมนัส ๖ ประการ   |  

มหากุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ๔ ดวง ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. โสมะนัสสะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเป็นโสมนัส หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ปฏิสนธิมาด้วยจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ได้แก่ มหาวิบากโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์หรือเทวดาในกามสุคตภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ทำให้เป็นผู้มีอัธยาศัยยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงสนุกสนาน ขบขัน เป็นปกตินิสัย ฉะนั้น เมื่อได้ประสบพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอารมณ์ของกุศลซึ่งตนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก็ทำให้เกิดความโสมนัสยินดี และสามารถทำกุศลนั้น ๆ ด้วยความเต็มใจ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นได้

๒. สัทธาพะหุละตา มีศรัทธามาก หมายความว่า การที่บุคคลนั้น เป็นผู้มีศรัทธาในสิ่งใดมาก เมื่อได้พบได้เห็น หรือได้รับรู้สิ่งนั้น ๆ แล้ว ย่อมทำให้เกิดความโสมนัสยินดีได้ง่าย และเมื่อทำกุศลก็ทำด้วยความเต็มใจ มหากุศลจิตที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา เช่น บุคคลที่ศรัทธาในพระเกจิอาจารย์รูปใดรูปหนึ่ง เมื่อได้พบ ได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ ได้กราบ ได้ไหว้ ได้อุปัฏฐากรับใช้ ได้ถวายจตุปัจจัย เป็นต้น ย่อมมีความปลาบปลื้มยินดี และย่อมทำด้วยความเต็มใจ โดยไม่มีการเสียดายหรือจำใจทำแต่ประการใด ฉะนั้น มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ก็เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนาได้

๓. วิสุทธะทิฏฐิกะตา มีความเห็นถูกต้องหมดมลทิน หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจโดยถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรม โดยหลักศาสนาและศีลธรรมอันดีงามแล้ว ย่อมเชื่อในกรรมและผลของกรรม เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมสามารถพิจารณาวางใจได้ในสภาพสังคมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ฉะนั้น ในเวลาทำกุศลใด ๆ ถึงแม้จะไม่พร้อมด้วยปัจจัยบางประการ หรือหลาย ๆ อย่างก็ตาม แต่สามารถใช้โยนิโสมนสิการปรับจิตใจให้เกิดความปลาบปลื้มยินดีได้ เช่น บุคคลที่มีความรู้เรื่องหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เมื่อจะทำกุศล แม้จะได้ปัจจัยที่ไม่ประณีต หรือได้ปฏิคาหกผู้รับทานที่ไม่มีศีล หรือบกพร่องด้วยเหตุปัจจัยอย่างอื่น แต่สามารถปรับจิตปรับใจให้เกิดความปลาบปลื้มยินดี ทำให้มหากุศลจิตเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาได้

๔. อานิสังสะทัสสาวิตา เคยเห็นอานิสงส์แห่งกุศลกรรมนั้น ๆ หมายความว่า เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำกุศลนั้น ๆ เป็นอย่างดี และได้เคยประสบอิฏฐผลจากการทำกุศลนั้น ๆ เช่น ทำให้วิถีชีวิตดีขึ้น ในด้านฐานะความเป็นอยู่ก็ดี ในด้านจิตใจก็ดี ในด้านการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในด้านยศถาบรรดาศักดิ์หน้าที่การงานก็ดี เป็นต้น ทำให้มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในกุศลที่ตนเองกระทำอยู่นั้นว่า จะอำนวยอิฏฐผลที่ดีงามให้ดังที่เคยเป็นมาแล้วแน่นอน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จิตใจของบุคคลนั้นเกิดความปลาบปลื้มยินดี มหากุศลจิตที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาได้

๕. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีที่น่าปรารถนาอยู่เสมอ หมายความว่า การที่บุคคลได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมเป็นปฏิรูปเทส มีสภาพแวดล้อมหรือสภาพสังคมที่ดี เป็นที่น่าเจริญตาเจริญใจ บรรยากาศดี บุคคลทั้งหลายรักใคร่สามัคคีกัน มีความพร้อมเพรียงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือในขณะที่ทำกุศลนั้น ๆ อยู่ ก็ได้ปัจจัยเครื่องไทยทานที่เหมาะสมกับฐานะของตน และได้ปฏิคาหกผู้รับทานที่ตนเองต้องการ มีคนช่วยเหลือจัดแจงให้พร้อมสรรพ มีญาติมิตรบริวารห้อมล้อมอย่างพร้อมเพรียง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้จิตใจของผู้นั้น มีความปลาบปลื้มยินดี ทำให้มหากุศลจิตเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาได้

๖. กัสสะจิปีฬาภาโว ไม่มีอุปสรรคใด ๆ บีบคั้นหรือขัดขวาง หมายความว่า สำหรับบุคคลผู้มีวิถีชีวิตที่ดีงามนั้น ย่อมมีความพร้อมบริบูรณ์ด้วยคุณธรรม หรือเป็นผู้ที่ไม่เคยประสบกับภัยพิบัติที่ร้ายแรง ไม่เคยประสบความสูญเสียที่ใหญ่หลวง ไม่ถูกความเสื่อมเข้าครอบงำ หรือในขณะที่ทำกุศลนั้น ๆ อยู่ ไม่มีอุปสรรคใด ๆ ขัดขวาง เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ไม่มีความป่วยไข้ มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่มีใครทำให้ขุ่นข้องหมองใจ และได้ปัจจัยในการทำกุศลที่พร้อมบริบูรณ์ทุกประการ ฉะนั้น มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงสามารถเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |