| |
มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร   |  

ในกรุงสาวัตถีมีพราหมณ์คนหนึ่ง เขาไม่เคยให้สิ่งของอะไร แก่ใคร ๆ เลย เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายจึงให้ฉายาเขาว่า อทินนปุพพกะ เจ.๑๙ เขามีลูกชายคนเดียว ซึ่งเป็นที่รักใคร่พอใจดังแก้วตาดวงใจ อยู่ต่อมาวันหนึ่งเขาต้องการจะทำเครื่องประดับให้ลูกชายบ้าง จึงคิดว่า “ถ้าเราจักจ้างช่างทอง ก็จะต้องให้ค่าบำเหน็จรางวัล เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ” แล้วจึงได้จัดการบุแผ่นทองคำ ทำให้เป็นตุ้มหูมีลักษณะเกลี้ยง ๆ เสร็จแล้วก็ได้ประดับหูให้ลูกชายของตน เพราะฉะนั้น ลูกชายของเขาจึงได้มีชื่อว่า มัฏฐกุณฑลี แปลว่า นายตุ้มหูเกลี้ยง

เมื่อนายมัฏฐกุณฑลีมีอายุได้ ๑๖ ปี ก็เกิดเป็นโรคผอมเหลืองขึ้นมา มารดามองดูลูกชายด้วยความสงสารแล้ว จึงพูดกับพราหมณ์ผู้สามีว่า พราหมณ์ ลูกชายของท่านป่วยหนักแล้ว ท่านจงไปหาหมอมารักษาลูกเถิด พราหมณ์ตอบว่า แม่มหาจำเริญ ถ้าเราจะหาหมอมารักษาลูก เราก็จะต้องให้ค่าจ้างรางวัลแก่เขา หล่อนช่างไม่คำนึงถึงความสิ้นเปลืองทรัพย์สินของเราบ้างเลย นางพราหมณีถามว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจะทำอย่างไรเล่า พราหมณ์ พราหมณ์ตอบว่า ทรัพย์ของเราจะไม่ขาดไปได้ด้วยวิธีใด ฉันจะทำโดยวิธีนั้นแหละ พราหมณ์นั้นจึงไปหาพวกหมอแล้วถามว่า “เมื่อคนเป็นโรคชนิดนี้ พวกท่านจะให้ยาขนานไหนดี ลำดับนั้น พวกหมอได้บอกสูตรยาที่เข้ากับเปลือกไม้ เป็นต้นแก่เขา เขาก็ไปหาสมุนไพร มีรากไม้ เป็นต้น ที่พวกหมอบอกให้นั้นมาแล้วปรุงยาให้แก่ลูกชายด้วยตนเอง เมื่อพราหมณ์ทำอยู่เช่นนั้น โรคก็กำเริบหนักขึ้นจนเข้าถึงอาการสาหัสไม่มีใครที่จะเยียวยารักษาได้ พราหมณ์รู้ว่า ลูกชายอาการทรุดหนักแล้ว จึงไปหาหมอคนหนึ่งมา พอหมอนั้นมาตรวจดูอาการแล้ว ก็รู้ว่าไม่สามารถจะเยียวยารักษาได้แล้ว จึงพูดเลี่ยงไปว่า “ข้าพเจ้ามีภารกิจอยู่อย่างหนึ่ง ที่จะต้องรีบไป ท่านจงไปหาหมอคนอื่นมาให้รักษาลูกชายของท่านเถิด” แล้วก็บอกเลิกกับพราหมณ์นั้นลากลับไป พราหมณ์รู้ว่าเวลานี้ลูกชายจวนจะตายแล้ว จึงคิดว่า “เหล่าชนที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนดูอาการป่วยของลูกชายเรา ก็จักเห็นทรัพย์สมบัติภายในบ้านของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาก็จะรู้ว่าเรามีทรัพย์สมบัติมาก เดี๋ยวจะมาขอหยิบยืมไปให้วุ่นวาย กระไรหนอ เราจะเอาลูกชายไปไว้ข้างนอกดีกว่า ผู้คนมาเยี่ยมจะได้เยี่ยมอยู่เฉพาะข้างนอก” เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงอุ้มลูกชายออกมาให้นอนอยู่ที่ระเบียงบ้าน

ในเวลาจวนจะสว่างของวันนั้น พระพุทธเจ้า เสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงเล็งแลดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อตรวจดูเหล่าเวไนยสัตว์ที่สมควรจะไปโปรด ซึ่งเป็นผู้ได้สั่งสมกุศลสมภารไว้หนาแน่นแล้ว เคยได้ตั้งความปรารถนาไว้ เจ.๒๐ กับพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เพื่อจะได้เป็นพุทธเวไนย สามารถบรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าได้ แล้วได้ทรงแผ่ข่ายพระญาณไปในหมื่นจักรวาล ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพก็ได้ปรากฏเข้าไปภายในข่ายพระญาณของพระองค์โดยอาการที่นอนอยู่ที่ระเบียงบ้านข้างนอกนั่นเอง พระบรมศาสดาครั้นทรงทอดพระเนตรเห็นเขาแล้วก็ทรงทราบว่า พราหมณ์ผู้เป็นบิดาได้นำเขาออกจากภายในบ้านแล้วให้มานอนอยู่ที่นั้น ทรงพระดำริว่า ถ้าพระองค์เสด็จไปที่นั้นแล้ว จะมีประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่หนอ เมื่อทรงรำพึงอยู่เช่นนั้น ก็ทรงได้เห็นเหตุนี้ว่า มัฏฐกุณฑลีมาณพนี้จักทำจิตให้เลื่อมใสในเรา ครั้นตายแล้วก็จักได้ไปบังเกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในดาวดึงสเทวโลก มีนางอัปสรเป็นบริวาร ๑,๐๐๐ นาง ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาจักทำฌาปนกิจสรีระศพของลูกชายนั้นแล้ว ร้องไห้ไปในป่าช้า เทพบุตรนั้นจักพิจารณาดูอัตภาพของตนซึ่งสูงประมาณ ๓ คาวุต [๓๐๐ เส้นประมาณ ๗๕๐ เมตร] ที่ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการหนัก ๖๐ เล่มเกวียน มีนางอัปสรแวดล้อม ๑,๐๐๐ นาง แล้วคิดว่า สิริสมบัตินี้ เราได้ด้วยกรรมอะไรหนอ แล้วจักพิจารณาดูก็จะทราบว่า ได้ด้วยจิตที่เลื่อมใสในสมเด็จพระตถาคตเจ้า และคิดต่อไปว่า บิดาของเราไม่ยอมหาหมอมารักษาเราให้ทันการณ์ เพราะกลัวแต่ทรัพย์จะหมดไป เดี๋ยวนี้ทำเป็นไปนั่งร้องไห้อยู่ในป่าช้า เราจักทำเขาให้ได้รู้สึกตัวเสียบ้าง ด้วยความขัดเคืองในบิดา เทพบุตรนั้นก็จักจำแลงตัวเป็นมัฏฐกุณฑลีมาณพ มาทำทีเป็นร้องไห้อยู่ใกล้ ๆ ในป่าช้านั้น ทีนั้น พราหมณ์ก็จักถามเขาว่า เจ้าเป็นใคร เขาก็จักตอบว่า ฉันเป็นมัฏฐกุณฑลีมาณพผู้เป็นลูกชายของท่านอย่างไรล่ะ พราหมณ์ก็จะถามว่า เจ้าไปเกิดที่ไหน เทพบุตรก็จะตอบว่า ไปเกิดในภพดาวดึงส์ เมื่อพราหมณ์ถามว่า เพราะทำกรรมอะไร เขาก็จักบอกว่า ที่เขาเกิดในภพดาวดึงส์ได้นั้นก็เพราะได้ทำจิตให้เลื่อมใสในสมเด็จพระตถาคตเจ้าพราหมณ์ก็จักมาถามเราว่า เพียงการทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์เท่านั้นแล้วสามารถไปบังเกิดในสวรรค์ได้หรือ ทีนั้น เราก็จักตอบเขาว่า ไม่มีใครสามารถจะกำหนดนับได้เลยว่า มีประมาณเท่านั้นร้อย หรือเท่านี้พัน หรือเท่านั้นแสน ในเพราะอานิสงส์ของการทำจิตให้เลื่อมใสในเราตถาคต แล้วเราก็จักแสดงพระธรรมภาษิตบทธรรมแก่เขา ในเวลาจบพระธรรมภาษิตนั้น เวไนยสัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ ก็จะได้ตรัสรู้ธรรม มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็จักได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แม้อทินน ปุพพกพราหมณ์ก็จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเหมือนกัน อาศัยมัฏฐกุณฑลีผู้นี้แล้ว การบูชาธรรมก็จักบังเกิดมีเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้ เมื่อทรงเห็นเหตุอันนี้แล้ว ในวันรุ่งขึ้น ทรงทำวัตรปฏิบัติพระสรีระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อมได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี และเสด็จถึงประตูบ้านของอทินนปุพพกพราหมณ์โดยลำดับ

ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพ กำลังนอนหันหน้าไปทางด้านในของบ้าน พระบรมศาสดาทรงทราบว่า เขาไม่เห็นพระองค์ จึงได้เปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง มัฏฐกุณฑลีมาณพคิดว่า นี่เป็นแสงอะไรหนอ จึงพลิกตัวกลับมาทางด้านนอกบ้าน ก็ได้เห็นพระบรมศาสดา แล้วจึงคิดว่า เราอาศัยบิดาผู้เป็นคนเขลา จึงไม่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเห็นปานนี้แล้วทำความขวนขวายในบุญกุศลด้วยกาย หรือถวายทาน ฟังพระธรรมเทศนาเลย เดี๋ยวนี้ แม้แต่มือทั้งสองข้างของเราก็ยกไม่ไหว เราจะทำอย่างอื่นก็ไม่ได้แล้ว จึงได้ทำใจให้เลื่อมใสในสมเด็จพระตถาคตเจ้าเพียงอย่างเดียว พระบรมศาสดาทรงพระดำริว่า การที่มาณพผู้นี้ได้ทำจิตให้เลื่อมใสในเราประมาณเท่านี้ก็พอแล้ว จึงได้เสด็จหลีกไป พอสมเด็จพระตถาคตเจ้าเสด็จลับสายตาไปเท่านั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพ ซึ่งกำลังมีจิตเลื่อมใสอยู่ ก็สิ้นใจตายลงในขณะนั้นนั่นเอง ได้ไปบังเกิดในวิมานทองสูงประมาณ ๓๐ โยชน์ในภพดาวดึงส์ เป็นประดุจดังว่า หลับไปแล้วก็กลับตื่นขึ้นมา ฉันนั้น

ฝ่ายพราหมณ์ทำฌาปนกิจศพลูกชายเสร็จแล้วก็ได้แต่ร้องไห้คร่ำครวญน้ำตานองหน้า เดินไปที่ป่าช้าทุก ๆ วัน ร้องไห้พลางบ่นเพ้อรำพันพลางกล่าวว่า เจ้าลูกน้อยคนเดียวของพ่อเอ๋ย เจ้าไปอยู่ที่ไหน เจ้าลูกน้อยคนเดียวของพ่อเอ๋ย เจ้าไปอยู่ที่ไหน ฝ่ายเทพบุตรนั้น เมื่อแลดูสมบัติของตนแล้วก็คิดว่า ทิพยสมบัติอันประณีตงดงามและมากมายเห็นปานนี้เราได้มาด้วยกรรมอะไรหนอ เมื่อพิจารณาไปก็รู้ว่า ได้ด้วยการทำจิตให้เลื่อมใสในพระบรมศาสดา แล้วก็คิดต่อไปว่า พราหมณ์ผู้นี้ เมื่อเวลาเราไม่สบาย ก็ไม่ยอมหาหมอมารักษาเรา แต่เดี๋ยวนี้ ทำเป็นไปร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าช้า เราควรจะทำให้แกรู้สึกตัวเสียบ้าง จึงได้แปลงร่างเป็นมัฏฐกุณฑลีมาณพเดินมาแล้วก็ทำเป็นยืนกอดแขนร้องไห้อยู่ ณ สถานที่ที่ไม่ไกลจากที่พราหมณ์นั้นนั่งอยู่เท่าใดนัก

พราหมณ์เห็นเขาแล้ว จึงคิดว่า เราร้องไห้เพราะเศร้าโศกถึงลูกชายที่ตายไปแล้ว ส่วนไอ้หนุ่มผู้นี้ร้องไห้เพราะต้องการอะไรหนอ เราจะถามเขาดู จึงเอื้อนเอ่ยถามด้วยสุนทรพจน์บทนี้ว่า เจ้าประดับประดาตนเองด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว ดูลักษณะหน้าตาคล้ายกับมัฏฐกุณฑลี เป็นผู้มีระเบียบดอกไม้ห้อยย้อย มีกายหอมฟุ้งไปด้วยจันทน์เหลือง ยืนกอดแขนทั้ง ๒ ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในท่ามกลางป่าช้าเช่นนี้ เจ้าเป็นทุกข์เพราะเรื่องอะไรหรือ

เทพบุตรนั้นกล่าวว่า โครงรถของข้าพเจ้า ทำด้วยทองคำ ผุดผ่องยิ่งนัก แต่ข้าพเจ้ายังหาคู่ล้อของมันไม่ได้ ข้าพเจ้าเห็นจักยอมตาย เพราะความทุกข์นั้น

พราหมณ์จึงพูดกับเขาว่า พ่อหนุ่มเอ๋ย คู่ล้อของรถนั้น จะทำด้วยทองคำก็ตาม ทำด้วยแก้วมณีก็ตาม ทำด้วยโลหะก็ตาม หรือทำด้วยเงินก็ตาม เจ้าจงบอกเรามาเถิด เจ้าอยากได้แบบไหน เราขอรับประกันว่า จะให้เจ้าได้ล้อรถทั้งคู่สมใจปรารถนาแน่นอน

เทพบุตรนั้นได้ฟังคำนั้นแล้วคิดว่า พราหมณ์ผู้นี้ ไม่ยอมหาหมอมารักษาลูกชายของตน ครั้นมาเห็นเรามีรูปร่างหน้าตาคล้ายลูกชายของตน ซึ่งกำลัง [แกล้ง] ร้องไห้อยู่ ยังมีหน้ามาพูดว่า เราจะทำล้อรถซึ่งทำด้วยทองคำเป็นต้นให้ เอาเถอะ เราจักแกล้งแกเล่นให้รู้สึกตัวเสียบ้าง จึงได้พูดว่า ท่านจะทำล้อรถทั้งคู่ให้ข้าพเจ้าใหญ่ขนาดไหนเล่า เมื่อพราหมณ์ถามว่า แล้วเจ้าจะต้องการใหญ่โตขนาดไหนละเทพบุตรตอบว่า ข้าพเจ้าต้องการพระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้ง ๒ ดวง มาทำเป็นล้อรถ เมื่อข้าพเจ้าขอแล้ว ท่านโปรดเอาพระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมาให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

เทพบุตรพูดกับพราหมณ์ซ้ำอีกว่า พระจันทร์และพระอาทิพย์ ส่องแสงเป็นคู่กันในวิถีทั้ง ๒ [คือกลางวันและกลางคืน] รถของข้าพเจ้าทำด้วยทองคำ ย่อมงามสมกับคู่ล้ออันนั้น

พราหมณ์จึงพูดกับเขาว่า พ่อหนุ่มเอ๋ย เจ้าจะบ้าหรือ ? เจ้าปรารถนาของที่ไม่ควรปรารถนา เป็นคนเขลาแท้ ๆ เราคิดว่า เจ้าคงจะตายเสียเปล่า จักไม่ได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้ง ๒ เป็นแน่นอน

ลำดับนั้นเทพบุตรจึงพูดกับพราหมณ์นั้นว่า แล้วท่านคิดว่า บุคคลที่ร้องไห้อยากได้สิ่งที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เป็นคนโง่เขลา หรือว่า บุคคลที่ร้องไห้เพราะอยากได้สิ่งที่มองไม่เห็น จะเป็นคนโง่เขลากันแน่ แล้วจึงกล่าวสุนทรพจน์ว่า การโคจรของพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ ธาตุคือวรรณะแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็ปรากฏอยู่ในวิถีทั้ง ๒ ส่วนคนที่ตายไปแล้ว ละโลกนี้ไปแล้ว ใคร ๆ ก็มองไม่เห็น บรรดาเราทั้งสอง ผู้คร่ำคราญอยู่ในที่นี้ ใครเล่าจะเป็นคนโง่เขลามากกว่ากัน

พราหมณ์ได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงรู้สึกตัวได้ว่า หนุ่มน้อยผู้นี้พูดถูก จึงกล่าวสุนทรพจน์ตอบไปว่า พ่อหนุ่มเอ๋ย เจ้าพูดก็ถูก บรรดาเราทั้ง ๒ ซึ่งกำลังร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ เราเองเป็นคนโง่เขลามากกว่า เพราะเราอยากได้ลูกชายที่ตายไปแล้วกลับคืนมา เป็นเหมือนเด็กน้อยที่ร้องไห้เพราะอยากได้พระจันทร์ ฉันนั้น

พราหมณ์นั้นได้บรรเทาอาการเศร้าโศก เพราะคำพูดให้สติของเทพบุตรนั้น เมื่อจะทำการชมเชยเทพบุตรนั้นจึงได้กล่าวสุนทรพจน์นี้ว่า พ่อหนุ่มเอ๋ย เจ้าช่วยดับเราผู้เร่าร้อนด้วยความทุกข์เป็นหนักหนา เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ติดน้ำมัน เราดับความกระวนกระวายทั้งปวงได้แล้ว เจ้าช่วยบรรเทาความเศร้าโศกถึงลูกให้แก่เราซึ่งถูกความเศร้าโศกครอบงำแล้ว ทั้งได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศกที่เสียดแทงหทัยของเราด้วย เราออกจากความเศร้าโศกได้แล้วหนอ เราเป็นผู้ที่เจ้าได้ช่วยถอนลูกศรให้ได้แล้ว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว พ่อหนุ่มเอ๋ย เราหายเศร้าโศกหยุดร้องไห้ได้แล้ว ก็เพราะได้ฟังถ้อยคำสุภาษิตของเจ้า

พราหมณ์ เมื่อจะถามเขาว่า ท่านชื่ออะไร จึงกล่าวสุนทรพจน์นี้ว่า เจ้าเป็นเทวดา หรือว่าคนธรรพ์ หรือว่าเป็นท้าวบุรินทรสักกเทวราช เจ้าชื่ออะไร หรือว่าเป็นบุตรของใคร ทำอย่างไรเราจึงจะรู้จักเจ้าได้

เทพบุตรจึงบอกแก่พราหมณ์ว่า ท่านเผาบุตรคนใดในป่าช้าเองและคร่ำครวญร้องไห้ถึงบุตรคนใด บุตรคนนั้นคือข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าทำกุศลกรรมแล้วจึงได้เข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าทวยเทพในไตรทศ

พราหมณ์กล่าวว่า เราไม่เคยเห็นเจ้าให้ทานน้อยหรือมาก ในบ้านของตนเลย หรือแม้แต่การรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้นก็ไม่เคยเห็นเจ้าทำเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าไปสู่เทวโลกได้ เพราะทำกรรมอะไรหนอ

เทพบุตรตอบว่า ข้าพเจ้าป่วยหนัก มีกายกระสับกระส่ายอยู่ในบ้านของตน ได้เห็นพระทศพลพุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลสดังธุลี ผู้ทรงข้ามความสงสัยเสียได้ เสด็จไปดี มีพระปัญญาไม่เสื่อมทราม ข้าพเจ้านั้น มีจิตเลื่อมใสมีใจเบิกบานแล้วได้ถวายอัญชลีด้วยใจ แด่สมเด็จพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าได้ทำกุศลกรรมนั้นแล้ว จึงได้เข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าทวยเทพในไตรทศ

เมื่อเทพบุตรนั้นกำลังพร่ำพูดอยู่นั่นเอง สรีระทั้งสิ้นของพราหมณ์นั้น ก็ได้เอิบอิ่มพรั่งพรูเต็มเปี่ยมด้วยปีติปราโมทย์ เมื่อเขาต้องการจะประกาศความเอิบอิ่มนั้นจึงกล่าวออกมาว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าประหลาดจริงหนอ ผลของการทำอัญชลีกรรมนี้เป็นไปได้ถึงปานนี้ แม้ข้าพเจ้าเองก็มีจิตเลื่อมใสมีใจเบิกบานแล้ว ขอถึงพระพุทธเจ้าว่า เป็นสรณะที่พึ่ง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เทพบุตรได้กล่าวตอบเขาว่า ท่านจงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้วถึงพระพุทธเจ้ากับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ในวันนี้แล ท่านจงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส อย่างนั้นนั่นแหละ สมาทานสิกขาบททั้ง ๕ อย่าให้ขาดอย่าให้ทำลาย จงรีบเว้นจากปาณาติบาต [การฆ่าสัตว์] จงเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก จงเป็นผู้พอใจในภรรยาของตน จงอย่าพูดปด และจงอย่าดื่มน้ำเมา

พราหมณ์ตอบรับว่า ดีมาก แล้วได้กล่าวสุนทรพจน์นี้ว่า ดูก่อนยักษ์ เจ.๒๑ ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ดูก่อนเทพเจ้า ท่านเป็นผู้ใคร่สิ่งที่เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำตามถ้อยคำของท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะด้วย ขอถึงพระธรรมซึ่งไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่าว่าเป็นสรณะด้วย ขอถึงพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์พิเศษดุจเทพยดาว่าเป็นสรณะด้วย ข้าพเจ้าจักรีบเว้นจากปาณาติบาต เว้นจากของที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก เป็นผู้พอใจในภรรยาของตน ไม่พูดปด และไม่ดื่มน้ำเมา

ลำดับนั้น เทพบุตรจึงพูดกับเขาว่า พราหมณ์ ทรัพย์ในบ้านของท่านมีมาก ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วจงถวายทาน ฟังธรรมและถามปัญหาเถิด เมื่อกล่าวสอนดังนี้แล้วก็อันตรธานหายวับไปจากที่นั้น

ฝ่ายพราหมณ์กลับไปบ้านแล้ว ก็เรียกนางพราหมณีผู้เป็นภรรยามาแล้วพูดว่า แม่มหาจำเริญ ฉันจักนิมนต์สมเด็จพระสมณโคดมบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วทูลถามปัญหา หล่อนจงช่วยจัดแจงเครื่องสักการะบูชาให้ฉันด้วย แล้วได้เดินไปที่วัด เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่ได้ถวายบังคมพระบรมศาสดาและไม่ได้ทำปฏิสันถารอะไรเลย ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหมด จงทรงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันนี้เถิด พระบรมศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เขาทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับนิมนต์แล้วจึงรีบกลับมาบ้านโดยเร็ว บอกคนใช้ให้ตกแต่งขาทนียะและโภชนียาหารอันประณีตไว้ในบ้านของตน สมเด็จพระทศพลมีหมู่ภิกษุสงฆ์เป็นบริวารได้เสด็จไปบ้านของพราหมณ์นั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้แล้ว พราหมณ์ก็ได้อังคาสโดยเคารพ มหาชนพากันแตกตื่นมาประชุมกัน เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อสมเด็จพระตถาคตเจ้าถูกพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐินิมนต์แล้ว หมู่ชน ๒ จำพวกย่อมแตกตื่นมาชุมนุมกัน คือ พวกมิจฉาทิฏฐิย่อมประชุมกันด้วยตั้งใจว่า วันนี้พวกเราจักคอยดูพระสมณโคดมซึ่งจะถูกพราหมณ์ข่มเหงด้วยการถามปัญหาให้ลำบากพระทัย จนด้วยพระปัญญาที่จะตอบได้ ทำให้เกิดความอับอายขายหน้ากลับไป ส่วนพวกสัมมาทิฏฐิย่อมประชุมกันด้วยตั้งใจว่า วันนี้พวกเราจักคอยดูพระพุทธวิสัย พระพุทธลีลา ในการโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้า ลำดับนั้น พราหมณ์เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระตถาคตเจ้าซึ่งทรงทำภัตกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขานั่งบนอาสนะต่ำกว่าแล้วได้ทูลถามปัญหาว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ มีหรือ ที่ว่าเหล่าชนที่ไม่ได้ถวายทานแด่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถกรรมเลย แล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์ด้วยมาตรว่าทำใจให้เลื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า พราหมณ์ เหตุใดท่านจึงมาถามเราเล่า ข้อที่ตนทำใจให้เลื่อมใสในเราตถาคตแล้วเกิดในสวรรค์นั้น มัฏฐกุณฑลีผู้เป็นบุตรของท่านก็ได้บอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ ?” พราหมณ์ทูลถามว่า เมื่อไร พระโคดมผู้เจริญ

พระบรมศาสดาตรัสว่า วันนี้ท่านไปร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าช้า เห็นมาณพคนหนึ่งยืนกอดแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ไม่ไกลนักแล้วถามว่า เจ้าประดับตกแต่งแล้วด้วยเครื่องอลังการ มีลักษณะคล้ายมัฏฐกุณฑลี มีระเบียบดอกไม้ห้อยย้อยอยู่ มีลำตัวหอมฟุ้งกระจายไปด้วยจันทน์เหลือง ดังนี้เป็นต้นมิใช่หรือ เมื่อจะทรงประกาศถ้อยคำที่คนทั้งสองได้สนทนาปราศรัยกัน จึงได้ตรัสเรื่องมัฏฐกุณฑลีตั้งแต่ต้นจนจบ ครั้นพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องมัฏฐกุณฑลีจบแล้ว จึงตรัสว่า พราหมณ์ ใช่ว่าจะมีแต่ร้อยเดียว หรือสองร้อย เป็นต้นเท่านั้น โดยที่แท้ การที่จะคณานับเหล่าสัตว์ที่ทำใจให้เลื่อมใสในเราตถาคตแล้วเกิดในสวรรค์นั้น ย่อมไม่มี [นับไม่ได้] มหาชนได้ฟังแล้วก็เกิดความสงสัย ลำดับนั้น พระบรมศาสดาทรงทราบว่ามหาชนเหล่านั้นยังไม่สิ้นความสงสัย จึงได้ทรงอธิษฐานว่า ขอให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจงมาพร้อมด้วยวิมานเดี๋ยวนี้เถิด ในขณะนั้นเอง มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรซึ่งมีร่างกายที่ประดับตกแต่งแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทิพย์ สูงประมาณ ๓ คาวุต ลอยมาทางอากาศแล้วก็ลงจากวิมานถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น พระบรมศาสดาเมื่อจะตรัสถามเธอว่า ท่านทำกรรมอะไรไว้ จึงได้สมบัติเห็นปานนี้ จึงได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูก่อนเทวดา ท่านมีสีกายงามยิ่งนัก ยืนส่องแสงทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสวเหมือนดาวประจำรุ่ง ดูก่อนเทวดาผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน ตอนที่ท่านเป็นมนุษย์นั้น ได้ทำบุญอะไรไว้

เทพบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมบัติเห็นปานนี้ ข้าพระองค์ได้มาเพราะทำใจให้เลื่อมใสในพระองค์ พระบรมศาสดาตรัสว่า สมบัติเห็นปานนี้ท่านได้เพราะทำใจให้เลื่อมใสในเราอย่างนั้นหรือ เทพบุตรกราบทูลว่า ถูกแล้ว พระพุทธเจ้าข้า มหาชนมองดูเทพบุตรแล้วได้ประกาศความยินดีว่า แน่ะพ่อเอ๋ย พระพุทธคุณนี้น่าอัศจรรย์จริงหนอ บุตรของพราหมณ์ ชื่อว่า อทินนปุพพกะ ไม่ได้ทำบุญอะไร ๆ อย่างอื่นเลย เพียงทำใจให้เลื่อมใสในพระบรมศาสดาแล้วก็ยังได้สมบัติเห็นปานนี้

ลำดับนั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสพระธรรมเทศนาแก่มหาชนเหล่านั้นว่า ในการทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลนั้น ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า เพราะว่ากรรมที่ทำด้วยใจอันผ่องใสแล้ว ย่อมไม่ละบุคคลผู้ไปสู่เทวโลก มนุษยโลก ดุจเงาติดตามตัวไป ฉันนั้น ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้ว พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชา จึงได้ตรัสพระพุทธภาษิตเพื่อสืบต่อเนื้อความแห่งพระธรรมเทศนา ดุจพระราชาทรงประทับพระราชลัญจกรบนพระราชสาส์นซึ่งมีดินประจำไว้แล้วว่า

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ย่อมดีตามไปด้วย เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไปดุจเงาตามตัวไปฉันนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |