ไปยังหน้า : |
๑. สังวิธานะกิจ การจัดแจงปรุงแต่งให้กรรมสำเร็จลง
๒. พีชะนิทานะกิจ การเก็บเชื้อของกรรมไว้รอโอกาสส่งผล
อธิบายความหมาย
เจตนาเจตสิก ในขณะที่ประกอบกับจิตดวงใดดวงหนึ่งนั้น ย่อมทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ อย่างให้สำเร็จลง หมายความว่า ถ้าประกอบกับอกุศลจิตและโลกียกุศลจิต ย่อมทำกิจทั้ง ๒ อย่างให้สำเร็จไปพร้อมกัน คือ สังวิธานกิจและพีชนิทานกิจ แต่ถ้าประกอบกับกิริยาจิตและโลกุตตรจิต ย่อมทำกิจอย่างเดียว คือ สังวิธานกิจ และถ้าประกอบกับโลกียวิบากจิต ย่อมทำกิจอย่างเดียว คือ พีชนิทานกิจ
๑. สังวิธานะกิจ หมายถึง การจัดแจงปรุงแต่งให้การงานนั้นสำเร็จลง หมายความว่า เจตนาเจตสิก ย่อมจัดแจงหรือกระตุ้นเตือนให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้กระทำกิจของตน ๆ โดยไม่ย่อหย่อน เพื่อให้กิจการงานนั้น ๆ สำเร็จลงไปได้โดยเรียบร้อย ไม่คั่งค้าง ได้แก่ การกระตุ้นให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนมุ่งมั่นในการรับอารมณ์ที่ปรากฏอยู่อย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน ให้กระทำกิจสำเร็จเรียบร้อยก่อนที่จะถึงกำหนดแห่งภังคขณะ คือ ให้สัมปยุตตธรรมรับอารมณ์ที่ปรากฏอยู่นั้นให้ได้ก่อนที่จะหมดกำลังลง ชั่ว ๓ อนุขณะ ได้แก่ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับไป โดยเฉพาะในฐีติขณะ คือ ขณะที่ตั้งอยู่นั้น เจตนาเจตสิกต้องจัดแจงสัมปยุตตธรรมทั้งหลายให้รับอารมณ์ได้ทุกดวงโดยไม่มีการเกี่ยงงอนกันแต่อย่างใด เมื่อรับอารมณ์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลจิต ย่อมให้สำเร็จกิจที่เป็นอกุศล พร้อมที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ต่อไป ถ้าเป็นโลกียกุศลจิต ก็ให้สำเร็จเป็นกุศลกรรม พร้อมที่จะให้ผลเป็นกุศลวิบากต่อไป ถ้าเป็นวิบากจิต ให้สำเร็จกิจ เพียงจัดแจงให้สัมปยุตตธรรมทำกิจนั้น ๆ ให้สำเร็จลงเท่านั้น เช่น จักขุวิญญาณจิต ก็ให้รับรู้รูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารนั้นให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดความอืดอาดหรือท้อแท้ต่อการรับรูปารมณ์นั้น เป็นต้น ถ้าเป็นกิริยาจิต ก็ให้สำเร็จเป็นกิริยา คือ เพียงให้สำเร็จกิจในการรับรู้อารมณ์ หรือในการทำกิจนั้น ๆ ให้สำเร็จลง แต่ไม่มีการส่งผลให้ได้รับต่อไปอีก ถ้าเป็นมรรคจิตย่อมสำเร็จเป็นกุศลกรรม โดยทำการประหาณอนุสัยกิเลสให้ขาดลง ตามสมควรแก่กำลังของมรรค พร้อมกับการรับพระนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นวิวัฏฏคามินีกุศล คือ กุศลที่เป็นเหตุให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏฏ์ จึงไม่ให้ผลเป็นปฏิสนธิวิญญาณในภพชาติต่อไป ถ้าเป็นผลจิต ก็ให้สำเร็จกิจเพียงเป็นผลของมรรคจิต โดยทำหน้าที่เสวยวิมุตติสุขหลังจากมรรคจิตได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว เป็นอกาลิกธรรม คือ เป็นผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากมรรคจิตดับลงแล้ว โดยไม่มีจิตดวงอื่นเกิดขึ้นมาคั่นระหว่างเลย พร้อมกับทำการรับพระนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกับมรรคจิต แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุขเท่านั้น ไม่มีการให้ผลเป็นปฏิสนธิหรือให้ได้รับอารมณ์อื่น ๆ ทางทวารทั้ง ๖ แต่อย่างใด รับเฉพาะพระนิพพาน ทางมโนทวารเท่านั้น
๒. พีชะนิทานะกิจ หมายถึง การเก็บเชื้อของกรรมไว้รอโอกาสส่งผล หมายความว่า เจตนาเจตสิก นอกจากจะจัดแจงหรือกระตุ้นเตือนให้สัมปยุตตธรรมกระทำกิจของตน ๆ ให้สำเร็จลง ที่เรียกว่า สังวิธานกิจ แล้ว ถ้าเป็นกิจในอกุศลจิตและโลกียกุศลจิต ยังทำกิจในการเก็บเชื้อที่เป็นผลของอกุศลหรือโลกียกุศลกรรมไว้ ไม่ให้สูญหายไปไหน หรือไม่ให้เสื่อมเสียคุณภาพไปก่อนจะถึงกำหนดเวลา แม้จะล่วงไปเป็นเวลาหลายภพชาติก็ตาม แต่ถ้ากรรมนั้นยังไม่หมดโอกาสส่งผล เมื่อได้โอกาสเหมาะในภพชาติใด และในสถานที่ใด ย่อมจะส่งผลให้ได้รับในภพชาติและสถานที่นั้น ทั้งในปฏิสนธิกาล คือ การนำเกิดเป็นสัตว์หรือบุคคลต่าง ๆ และในปวัตติกาล คือ ในขณะที่เกิดขึ้นในภพชาตินั้นแล้ว ย่อมให้ได้รับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ ตามสมควรแก่หน้าที่ของวิบากจิต จนกว่าบุคคลนั้น จะเข้าสู่นิพพาน หรือจนกว่าคุณภาพของกรรมนั้นจะหมดกำลังลง กรรมนั้นจึงจะไม่มีโอกาสส่งผลอีกต่อไป เพราะฉะนั้น การที่สัตว์ทั้งหลายได้รับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ อยู่ทุกวัน ก็เนื่องด้วยกิจ คือ หน้าที่ของเจตนาเจตสิกที่เป็นตัวกรรมนี้เอง เป็นผู้เก็บเชื้อไว้ และเมื่อส่งผลเป็นวิบากจิตแล้ว ก็จะอำนวยผลให้ได้รับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ เรื่อยไป