| |
มนุษย์โอปปาติกะกำเนิด   |  

[นางอัมพปาลี เกิดที่กิ่งมะม่วง]

ในอดีตชาติ เมื่อกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนภัทรกัปป์นี้ ในยุคสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิขี นางอัมพปาลีได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ นางได้ด่าพระเถรีรูปหนึ่งว่าเป็นหญิงแพศยา เมื่อนางจุติจากอัตภาพนั้นแล้วจึงไปบังเกิดในนรกสิ้นกาลนาน เมื่อได้กลับมาบังเกิดเป็นมนุษย์ นางต้องเป็นหญิงแพศยานับเป็นหมื่นชาติ จนถึงยุคสมัยแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางได้บวชเป็นภิกษุณีประพฤติพรหมจารย์จนตลอดชีวิต และเกิดความเบื่อหน่ายในการเกิดในครรภ์ จึงตั้งความปรารถนาไว้เสมอว่าอย่าได้เกิดในครรภ์มารดาเลย

ครั้นถึงพุทธุปบาทกาลของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ นางได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ในกำเนิดพิเศษ คือ อุบัติเกิดขึ้นเติบโตเป็นสาวเต็มตัวทันทีตามคำอธิษฐาน ได้ชื่อว่า อัมพปาลี เพราะอุบัติขึ้นที่กิ่งต้นมะม่วงในพระราชอุทยานของพวกเจ้าลิจฉวีแห่งกรุงเวสาลี เป็นผู้มีรูปร่างงดงามมาก แต่ด้วยยังมีเศษบาปที่เคยด่าพระเถรีรูปหนึ่งว่าเป็นหญิงแพศยานั้นเหลืออยู่ ทำให้ความสวยของนางเป็นภัย กล่าวคือ เมื่อบรรดาเจ้าลิจฉวีทั้งหลายได้พบเห็นนางเข้าแล้ว ก็เกิดทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งชิงนางไปครอบครองเชยชม ถึงกับตีรันฟันแทงกันสะบักสะบอมเลือดอาบทั่วร่าง พวกมหาดเล็กจึงต้องนำกลับเข้าเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงต้องขึ้นศาลหลวง คณะผู้พิพากษาต้องยุติข้อพิพาทนั้นด้วยการตัดสินให้นางอัมพปาลีนั้นเป็นหญิงแพศยา เป็นนางคณิกาประจำพระนคร เป็นสมบัติส่วนกลางของทุกคน สามารถจองตัวไปเชยชมได้ตามกติกาของอาญากบิลเมือง ศึกชิงนางจึงสงบลงได้

แต่ด้วยอุปนิสัยที่เคยบวชเป็นภิกษุณีในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน นางอัมพปาลีจึงมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ได้ถวายสวนมะม่วงของตนให้เป็นอาราม ภายหลังต่อมาได้ออกบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระเถระผู้เป็นบุตรชาย คือ พระวิมลโกณฑัญญเถระ เมื่อนางมีอายุมากขึ้น ความสวยสดก็ลดน้อยลง ความชราปรากฏแทนที่ นางได้พิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งสังขารและรู้เท่าทันไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนาภาวนา ในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ดังที่พระเถรีได้เล่าประวัติของตนในอดีตชาติไว้ดังต่อไปนี้

ดิฉันเกิดในสกุลกษัตริย์ เป็นภคินีแห่งพระมหามุนีพระนามว่า ปุสสะ ผู้มีพระรัศมีงามรุ่งเรือง มีธรรมดังว่าเทริดดอกไม้บนศีรษะ ดิฉันได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วมีจิตเลื่อมใส ถวายมหาทานแล้ว ปรารถนาซึ่งรูปสมบัติ ในกัปป์ที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปป์นี้ พระพิชิตมารพระนามว่า สิขี ผู้เป็นนายกชั้นเลิศของโลก ทรงยังโลกให้รุ่งเรือง เป็นสรณะในไตรโลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ดิฉันเกิดในสกุลพราหมณ์ ในเมืองอรุณอันน่ารื่นรมย์ โกรธแล้ว ด่าภิกษุณีองค์หนึ่งผู้มีจิตพ้นแล้วจากกิเลสว่า ท่านเป็นหญิงแพศยา ประพฤติอนาจารประทุษร้ายพระพุทธศาสนา ครั้นด่าอย่างนี้แล้ว ดิฉันต้องไปสู่นรกอันร้ายกาจ เพรียบพร้อมไปด้วยมหันตทุกข์ เพราะกรรมอันลามกนั้น เคลื่อนจากนรกนั้นแล้วมาเกิดในหมู่มนุษย์เป็นผู้มีธรรมอันลามก [มีวิบากแห่งอกุศลกรรมเหลืออยู่] เป็นเหตุให้เดือดร้อน ครองความเป็นหญิงแพศยาอยู่หมื่นชาติ ยังมิได้พ้นจากบาปกรรมนั้น เปรียบเหมือนคนกินยาพิษอันร้ายแรง ดิฉันได้บวชเป็นภิกษุณี มีเพศอันประเสริฐในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์ เพราะผลแห่งบรรพชากรรมนั้น

ในภพนี้ ซึ่งเป็นภพหลัง ดิฉันเป็นอุปปาติกสัตว์เกิดในระหว่างกิ่งต้นมะม่วง จึงมีชื่อว่า อัมพปาลี ตามนิมิตนั้น ดิฉันมีประชาชนหลายพันโกฏิ แห่ห้อมมาบวชในพุทธศาสนาเป็นโอรสธิดาแห่งพระพุทธเจ้า บรรลุถึงฐานะอันไม่หวั่นไหว ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ รู้บุพเพนิวาสญาณและทิพพจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มีอีก หม่อมฉันมีญาณอันปราศจากมลทิน บริสุทธิ์ ในอรรถะ ธรรมะ นิรุตติ และปฏิภาณ เพราะอำนาจแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด หม่อมฉันเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้หมดสิ้นแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูก ดังช้างพังตัดเชือกแล้ว ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่หม่อมฉันได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ หม่อมฉันบรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนาหม่อมฉันได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาหม่อมฉันได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้ ทราบว่า ท่านพระอัมพปาลีภิกษุณีได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แลรุ.๗๑๖


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |