ไปยังหน้า : |
จำแนกโดยชาติเภทนัย อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ รวม ๑๕ ดวงนี้ เป็นวิบากชาติทั้งหมด จึงเรียกว่า อเหตุกวิปากจิต ๑๕
อเหตุกกิริยาจิต เป็นกิริยาชาติ จึงเรียกว่า อเหตุกกิริยาจิต ๓
จำแนกโดยภูมิเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมดจัดเป็นกามาวจรภูมิ หรือกามอวัตถาภูมิ คือ ภูมิชั้นของจิตที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจการเป็นอารมณ์ของกามตัณหา คือ มีความเกี่ยวเนื่องในการรับกามอารมณ์โดยมาก [ยกเว้นมโนทวาราวัชชนจิต ที่สามารถรับอารมณ์ได้ทุกอย่าง] จึงเรียกว่า กามาวจรจิต
จำแนกโดยโสภณเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมด จัดเป็นอโสภณะ เพราะเป็นจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเลย จึงเรียกว่า อโสภณจิต
จำแนกโดยโลกเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมด จัดเป็นโลกียจิต เพราะยังรับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับโลก คือ กามโลก อันเต็มไปด้วยกามอารมณ์โดยมาก [ยกเว้นมโนทวาราวัชชนจิตที่สามารถรับอารมณ์ได้ทุกอย่าง] จึงเรียกว่า โลกียจิต
จำแนกโดยเหตุเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมด จัดเป็นอเหตุกจิต เพราะเป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งเลย จึงเรียกว่า อเหตุกจิต
จำแนกโดยฌานเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมด จัดเป็นอฌานจิต เพราะเจตสิกที่ประกอบกับอเหตุกจิตนั้น มีกำลังอ่อน ไม่เข้าถึงความเป็นองค์ฌานเลย จึงเรียกว่า อฌานจิต
จำแนกโดยเวทนาเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ มีเวทนา ๔ อย่าง [ยกเว้นโทมนัสเวทนา] คือ
เป็นสุขเวทนา ๑ ดวง ได้แก่ สุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ที่เป็นกุศลวิปากจิต จึงเรียกว่า สุขสหคตจิต
เป็นทุกขเวทนา ๑ ดวง ได้แก่ ทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ที่เป็นอกุศลวิปากจิต จึงเรียกว่า ทุกขสหคตจิต
เป็นโสมนัสสเวทนา ๒ ดวง ได้แก่ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ที่เป็นกุศลวิปากจิต และหสิตุปปาทจิต ๑ ที่เป็นอเหตุกกิริยาจิต จึงเรียกว่า โสมนัสสสหคตจิต
เป็นอุเบกขาเวทนา ๑๔ ดวง ได้แก่ จิตที่เหลืออีก ๑๔ ดวง จึงเรียกว่า อุเบกขาสหคตจิต [หรือ อุเปกขาสหคตจิต]
จำแนกโดยสัมปโยคเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมด จัดเป็นวิปปยุตตจิต เพราะเป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยสัมปยุตตธรรม ๕ อย่าง คือ ทิฏฐิ ปฏิฆะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ และญาณะ อย่างใดอย่างหนึ่งเลย จึงเรียกว่า วิปปยุตตจิต
จำแนกโดยสังขารเภทนัย อเหตุกจิต ๑๘ ทั้งหมด จัดเป็นอสังขาริกจิต เพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการประชุมพร้อมกันแห่งอุปัตติเหตุโดยเฉพาะของตน ๆ ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดขึ้นแต่อย่างใดเลย จึงเรียกว่า อสังขาริกจิต
จบอเหตุกจิต