ไปยังหน้า : |
อรหันตสูตร
[สภาพของมานะ ๗ ประการ]
๑. มานะ ความถือตัว
๒. อติมานะ ความดูหมิ่น
๓. มานาติมานะ ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว
๔. โอมานะ ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๕. อธิมานะ ความถือตัวว่าเด่นกว่าเขา
๖. อัสมิมานะ ความถือตัวว่าเรามีเราเป็น
๗. มิจฉามานะ ความถือตัวแบบผิด ๆ
ดังที่มาในอรหันตสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ มานะ ความถือตัว ๑ โอมานะ ความสำคัญว่าเลวกว่าเขา ๑ อติมานะ ความเย่อหยิ่ง ๑ อธิมานะ ความเข้าใจผิด ๑ ถัมภะ ความหัวดื้อ ๑ อตินิปาตะ ความดูหมิ่นตนเองว่าเป็นคนเลว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัต [ความเป็นพระอรหันต์]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความถือตัว ๑ ความสำคัญว่าเลวกว่าเขา ๑ ความเย่อหยิ่ง ๑ ความเข้าใจผิด ๑ ความหัวดื้อ ๑ ความดูหมิ่นตัวเองว่าเป็นคนเลว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ฯ
มานสูตร [๑]
[ว่าด้วยการละมานะไม่ได้ ไม่พ้นความทุกข์]
จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า [พระอานนท์] ได้สดับมาแล้วว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้มานะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในมานะ ยังละมานะไม่ได้เด็ดขาด ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้รู้ยิ่ง กำหนดรู้มานะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในมานะ ละมานะได้เด็ดขาด ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้ ในพระสูตรนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า
“หมู่สัตว์นี้ประกอบแล้วด้วยมานะ มีมานะเป็นเครื่องร้อยรัด ยินดีแล้วในภพ ไม่กำหนดรู้มานะ ต้องเป็นผู้มาสู่ภพอีก ส่วนสัตว์เหล่าใดละมานะได้แล้ว น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งมานะ สัตว์เหล่านั้นครอบงำกิเลสเครื่องร้อยรัดคือมานะเสียได้ ก้าวล่วงได้แล้วซึ่งกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง”
เนื้อความนี้พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า [พระอานนท์] ได้สดับมาแล้ว อย่างนี้แล
มานสูตร [๒]
[ว่าด้วยการละมานะได้เป็นอนาคามี]
จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า [พระอานนท์] ได้สดับมาแล้วว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราเป็นผู้รับรองเธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่ง คือ มานะได้ เราเป็นผู้รับรองเธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี
พระพุทธเจ้าครั้นได้ตรัสเนื้อความนี้ในพระสูตรแล้ว ซึ่งได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า
“ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งมานะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ถือตัวไปสู่ทุคติแล้วละเสียได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้ในกาลไหน ๆ”
เนื้อความนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า [พระอานนท์] ได้สดับมาแล้ว อย่างนี้แล
อปคตสูตร
[ว่าด้วยการละมานะว่าเรา ว่าของเรา]
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระราหุลท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไร มนัส [ใจ] จึงปราศจากอหังการ มมังการ และปราศจากมานะในกายที่มีใจครองนี้ ทั้งมานะในสรรพนิมิตภายนอกได้แล้ว ย่อมก้าวล่วงส่วนแห่งมานะด้วยดี เป็นผู้สงบระงับ พ้นวิเศษแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี ที่เป็นอนาคตก็ดี ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั้น อริยสาวกเห็นแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา ดังนี้ ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นไป เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน [แม้ขันธ์ทั้ง ๕ ก็มีอธิบายนี้ คือ]
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง. . .สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง. . .สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง. . . วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี ที่เป็นอนาคตก็ดี ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั้น อริยสาวกเห็นแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา ดังนี้ ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นไป เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล มนัส [ใจ] จึงปราศจากอหังการ มมังการ และปราศจากมานะในกายที่มีใจครองนี้ ทั้งมานะในสรรพนิมิตภายนอก ก้าวล่วงส่วนแห่งมานะด้วยดีได้แล้ว ย่อมสงบระงับ พ้นวิเศษแล้ว ดังนี้
วิธาสูตร
[ว่าด้วยการถือตัว ๓ อย่าง]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถือตัว ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การถือตัวว่า เราประเสริฐกว่าเขา ๑ เราเสมอเขา ๑ เราเลวกว่าเขา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถือตัว ๓ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละการถือตัว ๓ อย่างนี้แล อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ...ฯลฯ... ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการกําหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละการถือตัว ๓ อย่างนี้แล