| |
ความหมายของหทยรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๗๗ ท่านได้แสดงความหมายของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า หทยะ คือ รูปที่ทำให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่มาของชื่อนั้นนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง หทยะ คือ รูปที่เหล่าสัตว์ปล่อยความคิดต่าง ๆ ออกไป

อีกนัยหนึ่ง หทยะ คือ รูปที่เหล่าสัตว์คุ้มครองรักษาดั่งชีวิต

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว คำว่า หทยะ ย่อมมีความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. รูปที่ทำให้เหล่าสัตว์ทำคุณหรือโทษนั้น ๆ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า“หทนฺติ สตฺตา ตํ ตํ อตฺถํ วา อนตฺถํ วา ปูเรนฺติ เอเตนาติ หทยํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบำเพ็ญคุณหรือโทษนั้น ๆ โดยอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปอันเป็นเหตุแห่งการบำเพ็ญคุณหรือโทษนั้น ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า หทยะ

๒. รูปที่เหล่าสัตว์ปล่อยความคิดต่าง ๆ ออกมา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “หทนฺติ สตฺตา อิโต นานาวิตกฺเก โอสชฺชนฺติ มุญฺจนฺตีติ หทยํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมปลดปล่อยความคิดต่าง ๆ ออกมาจากรูปนี้ เพราะเหตุนั้น รูปนี้ จึงชื่อว่า หทยะ

๓. รูปที่เหล่าสัตว์คุ้มครองรักษาดั่งชีวิต ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “หรนฺติ ปริหรนฺติ ตํ สตฺตา ชีวิตํ วิย ทยนฺติ รกฺขนฺติ จาติ หทยํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริหารรักษาหรือคุ้มครองป้องกันซึ่งรูปนั้นไว้ราวกะชีวิต เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า หทยะ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๒๗๘ ท่านได้แสดงความหมายของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

ดวงหทัยนั่นแล เป็นที่อยู่ด้วย เพราะเป็นที่อาศัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หทัยวัตถุ จริงอย่างนั้น หทัยวัตถุนั้น มีความเป็นที่อาศัยแห่งธาตุทั้ง ๒ เป็นลักษณะ ก็หทัยวัตถุนั้น อาศัยโลหิตในภายในกล่องดวงหทัยมีประมาณซองมือเป็นไป

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอรรถกถา ท่านพระพุทธโฆสาจารย์รุ.๒๗๙ ได้แสดงความหมายของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า หทยํ ได้แก่ เนื้อหัวใจ หัวใจนั้น โดยสี มีสีแดงดังสีหลังกลีบดอกปทุม โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังดอกปทุมตูมที่เขาปลิดกลีบชั้นนอกออกแล้วตั้งคว่ำลง ภายนอกเกลี้ยงเกลา ภายในเหมือนกับภายในแห่งรังบวบขม สำหรับคนมีปัญญาย่อมแย้มหน่อยหนึ่ง ของพวกคนมีปัญญาอ่อน คงตูมมิดทีเดียว อนึ่ง ข้างในหัวใจนั้นมีแอ่งขนาดที่เมล็ดบุนนาคตั้งอยู่ได้ เป็นที่ขังอยู่แห่งโลหิตประมาณกึ่งซองมือ ที่มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยเป็นไป ก็โลหิตนี้นั้นของคนราคจริตมีสีแดง ของคนโทสจริตมีสีดำ ของคนโมหจริตมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ของคนวิตกจริตมีสีดังเยื่อถั่วฟู ของคนสัทธาจริตมีสีดังดอกกรรณิการ์ ของคนปัญญาจริตใสผ่องไม่ขุ่นมัว ขาวบริสุทธิ์ปรากฏดังสีแก้วมณีแท้ที่เจียระไนแล้ว โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน [ร่างกายส่วนกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมกาย] โดยโอกาส ตั้งอยู่ระหว่างกลางนม [ราวนม] ทั้ง ๒ ภายในร่างกาย โดยปริจเฉท หัวใจกำหนดด้วยส่วนของหัวใจ นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งหัวใจ ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นวิสภาคกันนั้น คือ หัวใจนี้มิใช่ส่วนอื่นมีผมเป็นต้น และผมเป็นต้นนั้นก็มิใช่หัวใจ กำหนดเช่นนี้ว่า ส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนี้ เป็นการกำหนดส่วนที่ไม่เสมอกัน อันนี้เป็นการกำหนดหัวใจโดยลักษณะมีสีเป็นต้น

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๒๘๐ ได้แสดงความหมายของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า หทยรูป ในที่นี้ มุ่งหมายเอาวัตถุหทยรูป หรือที่เรียกว่า หทยวัตถุรูป แปลว่า รูปอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ซึ่งตั้งอยู่ในช่องเนื้อหัวใจที่มีลักษณะเหมือนบ่อที่โตประมาณเท่าเมล็ดในดอกบุนนาค ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ มีโลหิตหล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุฯ

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๘๑ ได้แสดงความหมายของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

หทยรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ ซึ่งมีลักษณะเหมือนบ่อมีโลหิตอันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ มีสัณฐานโตประมาณเท่าเมล็ดในดอกบุนนาครุ.๒๘๒ เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ

บทสรุปของผู้เขียน:

จากความหมายของหทยวัตถุรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น สรุปความหมายได้ดังต่อไปนี้

หทยรูป คือ รูปธรรมชนิดหนึ่งอันเป็นที่ตั้งหรือที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกที่เป็นมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นรูปธรรมที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ มีลักษณะเหมือนบ่อน้ำมีสัณฐานโตประมาณเท่าเมล็ดบุนนาค มีโลหิตที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ [ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่าประมาณกึ่งซองมือ]รุ.๒๘๓

วัตถุ หมายถึง สถานที่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก

หทยวัตถุ หมายถึง หทัยรูปซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก

หทยวัตถุรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ในบ่อเลือดประมาณครึ่งซองมือ ดำรงอยู่ในก้อนเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า มังสหทยะ ซึ่งมีรูปเหมือนดอกบัวตูมคว่ำ

หทยวัตถุรูป มีคุณลักษณะ คือ เป็นที่อาศัยเกิดของธาตุทั้ง ๒ ได้แก่ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ

มโนธาตุ แปลว่า ธาตุใจ หมายถึง จิตประเภทหนึ่งที่อาศัยหทยวัตถุรูปเกิด แต่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีกำลังในการทำหน้าที่น้อยกว่าจิตดวงอื่น ๆ เนื่องจากเป็นจิตที่อาศัยเกิดในสถานที่แห่งหนึ่ง แต่ทำงานในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง จึงทำให้มีกำลังน้อย ได้แก่ จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทำหน้าที่อาวัชชนะทางปัญจทวาร และสัมปฏิจฉนจิต ๒ ทำหน้าที่สัมปฏิจฉนะทางปัญจทวาร

มโนวิญญาณธาตุ แปลว่า ธาตุที่รับรู้ทางใจ หมายถึง จิตประเภทหนึ่งที่อาศัยหทยวัตถุรูปเกิด และทำหน้าที่ทางมโนทวารคือภวังคจิต หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการที่ภวังคจิตกระทบกับอารมณ์ก่อนแล้วจิตเหล่านี้จึงเกิดขึ้นตามลำดับต่อมา เป็นจิตที่มีกำลังในการทำหน้าที่มากกว่าจิตประเภทอื่น ๆ เพราะในบรรดาวัตถุรูปทั้งหมดนั้น หทยวัตถุรูปย่อมมีกำลังมากกว่าวัตถุรูปอย่างอื่น และทวารคือภวังคจิตก็มีสภาพเป็นนามธรรมอย่างเดียวกันกับมโนวิญญาณธาตุ จึงเป็นปัจจัยแก่กันและกันได้เป็นอย่างมาก สามารถรองรับการเกิดขึ้นของจิตและเจตสิกได้มากกว่าวัตถุรูปอื่น ๆ

วัตถุรูป ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ มีคุณลักษณะ คือ เป็นที่อาศัยเกิดของวิญญาณธาตุ ๗ แต่ละอย่างตามสมควร กล่าวคือ

จักขุวัตถุ คือ ประสาทตา เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณธาตุ

โสตวัตถุ คือ ประสาทหู เป็นที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณธาตุ

ฆานวัตถุ คือ ประสาทจมูก เป็นที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณธาตุ

ชิวหาวัตถุ คือ ประสาทลิ้น เป็นที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณธาตุ

กายวัตถุ คือ ประสาทกาย เป็นที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณธาตุ

หทยวัตถุ คือ หัวใจ เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |