| |
ปฏิสัลลานคุณ ๒๘ ประการ   |  

ปฏิสัลลานคุณ หมายถึง คุณธรรมที่เกิดขึ้นจากการเป็นผู้ชอบอยู่ในสถานที่หลีกเร้นหาความสงัดให้แก่ร่างกายและจิตใจ มี ๒๘ ประการ คือ

๑. ย่อมรักษาตนเองได้ ๒. ย่อมเจริญด้วยอายุ

๓. ย่อมมอบกำลังให้ ๔. ย่อมปิดกั้นโทษ [ในอบาย] ได้

๕. ย่อมขจัดความเป็นคนไม่มียศ ๖. ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมียศ

๗. ย่อมบรรเทาความไม่ยินดี ๘. ย่อมทำความยินดีให้ตั้งขึ้น

๙. ย่อมขจัดความกลัวได้ ๑๐. ย่อมสร้างความกล้าหาญ

๑๑. ย่อมขจัดความเกียจคร้านได้ ๑๒. ย่อมทำให้เกิดความเพียร

๑๓. ย่อมขจัดราคะได้ ๑๔. ย่อมขจัดโทสะได้

๑๕. ย่อมขจัดโมหะได้ ๑๖. ย่อมถอนมานะได้

๑๗. ย่อมทำลายวิตกกังวลได้ ๑๘. ย่อมทำให้เกิดลาภ

๑๙. ย่อมทำให้เป็นที่น่านอบน้อม ๒๐. ย่อมทำให้เกิดความบันเทิงในธรรม

๒๑. ย่อมทำให้เป็นคนน่าเคารพ ๒๒. ย่อมทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้ง่าย

๒๓. ย่อมทำให้ผูกจิตไว้ได้ ๒๔. ย่อมให้ได้รับปีติ

๒๕. ย่อมสร้างความปราโมทย์ ๒๖. ย่อมเห็นสภาวะแห่งสังขารทั้งหลาย

๒๗. ย่อมเพิกถอนปฏิสนธิในภพได้ ๒๘. ย่อมมอบสามัญผล [มรรคผล] ให้

พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงมีพระดำริสำเร็จพร้อมแล้ว ทรงเป็นผู้ใคร่จะเสวยรสอันน่ายินดี แห่งสมาบัติซึ่งมีความสงบเป็นสุข จึงทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ

๑. ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นเพื่อความอยู่ผาสุก

๒. ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้น แม้เพราะความ [ที่ทรงเล็งเห็นว่า] ไม่มีโทษและมากด้วยคุณ

๓. ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้น แม้เพราะเป็นทางดำเนินแห่งพระอริยเจ้าทุกท่านไม่มียกเว้น

๔. ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้น แม้เพราะเป็นของประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสชมเชยสรรเสริญ

คำว่า “การอยู่หลีกเร้น” คือ การหลีกออกจากหมู่คณะไปสู่สถานที่ซึ่งมีความวิเวกแต่เพียงผู้เดียว และเร้นคือยับยั้งจิตไว้ในกรรมฐาน เจริญสมถะหรือวิปัสสนา อันเป็นตัวปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ซึ่งเป็นประธานในชวนจิตที่เป็นโสภณจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |