| |
เหตุปัจจัยของโลภมูลจิต   |  

โลภมูลจิต ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ จึงทำให้มีสภาพแตกต่างกันออกไปถึง ๘ ดวง กล่าวคือ เกิดด้วยอำนาจแห่งโลภะเป็นประธาน นอกจากนั้น ย่อมมีที่เกิดด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งมานะบ้าง ด้วยอำนาจแห่งโสมนัสสเวทนาบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอุเบกขาเวทนาบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอสังขาริกบ้างและด้วยอำนาจแห่งสสังขาริกบ้าง ซึ่งเหตุปัจจัยแต่ละอย่างนั้น มีเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ดังมีรายละเอียดที่ควรทราบต่อไปนี้

เหตุที่ทำให้เกิดโลภะ ๔ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดความโลภหรือความยึดติดในอารมณ์ ที่เรียกว่า โลภมูลจิต ได้นั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยที่เป็นเครื่องสนับสนุนโลภะ ๔ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

๑. โลภะปะริวาระกัมมะปะฏิสันธิกะตา ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีโลภะเป็นบริวาร หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีโลภะเป็นปัจจัย ได้แก่ ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง เป็นพวกเปรต อสุรกาย ต้องทุกข์ทรมานเพราะความอดอยาก เนื่องจากสร้างกรรมเกี่ยวกับความโลภไว้มาก เป็นผู้ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หรือเป็นผู้สั่งสมอุปนิสัยสันดานแห่งความโลภไว้มาก เมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา [ด้วยวิบากแห่งกุศลกรรมอำนวยผลให้] หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน [เพราะโมหะเป็นปัจจัย] จึงติดนิสัยเป็นผู้มักโลภ มักยินดี พอใจ ติดใจ ยึดติดในสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองชอบใจ ได้โดยง่าย

๒. โลภะอุสสันนะภะวะโต จะวะนะตา จุติจากภพที่มีโลภะมาก หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ตายมาจากภพภูมิที่มีความโลภ ความอยากโดยมาก ได้แก่ เปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นภพภูมิที่เต็มไปด้วยความอดอยาก ทุกข์ทรมานด้วยความโหยหิวอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยได้สมหวังในความสุขสบาย ทำให้เก็บกดความรู้สึกเป็นอุปนิสัยสันดาน เมื่อมาเกิดในภพภูมิใหม่ จึงทำให้เป็นผู้ที่เกิดความพอใจ ติดใจ ทะยานอยากในสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบได้ง่าย และเสพจนไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเบื่อ ไม่รู้จักพอ ถ้าไม่รู้จักประมาณก็ทำให้ตกเป็นทาสแห่งตัณหา เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ทำให้สั่งสมอุปนิสัยสันดานต่อไปในภพภูมิข้างหน้าอีก

๓. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี กินอยู่อย่างสุขสบายไม่อดอยาก อยากได้สิ่งใด ก็มีคนหามาประเคนให้ทุกอย่าง มีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ปรารถนากามสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถเสพได้ดังที่ต้องการ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งเจริญหูเจริญตา ไม่ค่อยมีอะไรทำให้ขัดหู ขัดตา ขัดใจเลย ดังนี้เป็นต้น ทำให้บุคคลนั้นติดในความสะดวกสบาย ไม่มีความรู้สึกที่เก็บกด ไม่มีปมด้อยในชีวิต หรือกลับเป็นปมเขื่องของชีวิต อยากได้อะไร อยากทำอะไร ต้องได้ดังใจ จึงทำให้มีความโลภได้ง่าย

๔. สังโยชะนีเยสุ อัสสาทะทัสสะนัง เป็นผู้ที่มีความเห็นในธรรมที่เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัดว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี หมายความว่า เป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไป มองทุกสิ่งทุกอย่างเห็นเป็นสิ่งที่น่ารื่นเริงสนุกสนาน น่าเพลิดเพลินเจริญใจไปเสียหมด จึงทำให้เกิดความดิ้นรนทะเยอทะยานอยากได้ในอารมณ์ต่าง ๆ และเกิดอาการหลงใหล คลั่งไคล้ ติดใจ ชอบเสพ ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบบันเทิงรื่นเริงสนุกสนาน มองเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของมีสาระแก่นสารของชีวิตไป

เหตุที่ทำให้เกิดโลภะโสมนัส ๔ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาได้นั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. โสมะนัสสะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา หมายความว่า เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยมหาวิปากจิตที่เป็นโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์หรือเทวดา ๖ ชั้น เมื่อเกิดมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยแช่มชื่นเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ชอบรื่นเริงสนุกสนาน หรือมีอารมณ์ขัน ไม่ค่อยเก็บกดความรู้สึกไว้ มักมองโลกในแง่ดี มองปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้เสมอ เป็นผู้รู้จักปลดปล่อยอารมณ์อยู่เสมอ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีได้

๒. อะคัมภีระปะกะติกา เป็นผู้ไม่ค่อยมีความสุขุมคัมภีรภาพ หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยรื่นเริงสนุกสนาน ไม่ค่อยสุขุม ไม่ค่อยสำเหนียกสำรวม ไม่ค่อยเก็บกดความรู้สึกไว้ในใจ มักปลดปล่อยไปตามอารมณ์ และปรับเปลี่ยนความรู้สึกได้ง่าย หรือเป็นคนไม่มักหงุดหงิดรำคาญง่าย ไม่มักโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท มองเห็นเป็นของสนุกสนาน เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีได้

๓. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ [ดังแสดงมาแล้วในเหตุที่ทำให้เกิดโลภะ] เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยความยินดีได้

๔. พ๎ยะสะนะมุตติ เป็นผู้ที่พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง หรือไม่เคยประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ๕ ประการ กล่าวคือ

๑] โภคพยสนะ สูญเสียทรัพย์สมบัติไปหมดสิ้น

๒] ญาติพยสนะ สูญเสียญาติผู้เป็นที่รักยิ่งไป

๓] โรคพยสนะ ถึงความวิบัติเพราะเป็นโรคร้ายแรง

๔] สีลพยสนะ ถึงความวิบัติแห่งศีลที่ตนเองรักษาอยู่ จนไม่สามารถแก้ไขได้อีก

๕] ทิฏฐิพยสนะ ถึงความวิบัติเพราะทิฏฐิ คือ เมื่อทราบว่า ที่ผ่านมานั้นตนเองมีความเห็นผิดและถือผิดปฏิบัติผิดมาตลอด

เมื่อบุคคลไม่เคยประสบภัยพิบัติเหล่านี้ จึงทำให้ไม่มีความเก็บกดทางด้านความรู้สึก มีความปลอดโปร่งโล่งใจ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยความยินดีได้

เหตุที่ทำให้เกิดโลภะอุเบกขา ๕ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาได้นั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. อุเปกขาปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา หมายความว่า เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต เป็นพวกอบายสัตว์ทั้ง ๔ ทำให้ประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์บางอย่างน้อยไป [นอกจากอารมณ์ที่ตนเองเคยเสพคุ้นมา] เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ตนเองไม่เคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยอุเบกขาได้ หรือเป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ที่เป็นสุคติอเหตุกบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีประสิทธิภาพในการรับรู้หรือตอบสนองต่ออารมณ์บางอย่างน้อยไป [นอกจากอารมณ์ที่ตนเองเคยเสพคุ้นมา] เมื่อมีอารมณ์ที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยอุเบกขาได้ หรือเป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยมหาวิปากจิตที่เป็นอุเบกขา ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา ๖ เมื่อเกิดมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเฉย ๆ อืดอาด เฉื่อยชา ยิ้มยาก ไม่ค่อยคบหาสมาคมกับใคร ไม่ค่อยรื่นเริงสนุกสนาน ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน มองเห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องจริงจังไปหมด หรือ เป็นผู้ที่มักเก็บกดความรู้สึกไว้ ไม่ค่อยรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ได้

๒. คัมภีระปะกะติกา เป็นผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีความสำเหนียกสำรวม มีความระมัดระวังอยู่เสมอ อาจเนื่องมาจากมีประสบการณ์ในชีวิตมามาก มีการศึกษาสูง มียศถาบรรดาศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ต้องพยายามระมัดระวังในการวางตนให้เหมาะสมกับฐานะอยู่เสมอ หรือเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ผ่านการสำเหนียกสำรวมกายวาจาใจอยู่เสมอ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ คือ ความรู้สึกแบบธรรมดาได้

๓. มัชฌัตตารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบแต่อารมณ์ระดับปานกลางอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบธรรมดาทั่วไป เช่น อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรือในสังคมที่ยากจน มีชีวิตค่อนข้างฝืดเคือง ไม่ค่อยได้พบเห็นสิ่งที่เจริญหูเจริญตา วัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ก็ได้แต่สิ่งที่หยาบ ๆ ปอน ๆ ไม่หรูหรา ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่ดี ๆ ประณีตหรูหรา ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความพึงพอใจหรือความชอบใจที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ได้ เนื่องจากทำใจไว้ก่อนในสิ่งที่ตนจะได้มานั้นว่าไม่เต็มความปรารถนา

๔. พ๎ยะสะนะมุตติ พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ [ดังที่แสดงมาแล้วในเหตุที่ทำให้เกิดโลภโสมนัส] เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความพึงพอใจหรือชอบใจที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ได้

๕. มูคะธาตุกะตา เป็นผู้มีสันดานแห่งความเป็นคนใบ้ หมายความว่า เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเฉย ๆ อืดอาด เฉื่อยชา ตอบสนองต่ออารมณ์ช้า ยิ้มยาก พูดน้อย ถามหลายคำ ตอบแค่คำสองคำ มีประสบการณ์ในชีวิตน้อย ไม่ค่อยคบหาสมาคมกับใคร ไม่ค่อยรื่นเริงสนุกสนาน ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน หรือมีปมด้อยในชีวิตมาก เป็นผู้ที่มักเก็บกดความรู้สึกไว้ ไม่ค่อยรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความพึงพอใจหรือความชอบใจ ที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |