| |
ประเภทของมุทุตารูป   |  

ผู้เขียนได้ประมวลสรุปประเภทของมุทุตารูปไว้ดังต่อไปนี้

มุทุตารูป เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ จิต อุตุ อาหาร ซึ่งมีอยู่เฉพาะภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ปรากฏเป็นเพียงอาการอ่อนของนิปผันนรูปคือร่างกายของสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น ซึ่งสามารถรับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น มี ๓ ประเภทตามสมุฏฐาน คือ

๑. จิตตชมุทุตา ได้แก่ ความอ่อนของนิปผันนรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

๒. อุตุชมุทุตา ได้แก่ ความอ่อนของนิปผันนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

๓. อาหารชมุทุตา ได้แก่ ความอ่อนของนิปผันนรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน

มีอธิบายดังต่อไปนี้

๑. จิตตชมุทุตา คือ ความอ่อนของนิปผันนรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เช่น สภาพร่างกายที่ยังอ่อนและยังสดอยู่นั้น ก็เพราะมีจิตหล่อเลี้ยงอยู่ และเมื่อบุคคลมีจิตใจที่เข้มแข็งอดทนต่อสู้กับอาการเจ็บไข้ ความป่วยไข้บางอย่างก็สามารถจงคลายหายไปได้ ทำให้ร่างกายเป็นปกติมีความอ่อนนุ่ม สามารถผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวขึ้น อนึ่ง เมื่อบุคคลมีจิตใจอ่อนโยนหรืออ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมแสดงกิริยาท่าทางที่อ่อนน้อมหรืออ่อนโยนได้ดีกว่าบุคคลที่มีจิตใจแข็งกระด้างด้วยกิเลสมีมานะ เป็นต้น

๒. อุตุชมุทุตา คือ ความอ่อนของนิปผันนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เช่น เมื่อรูปร่างกายอยู่ในสภาพที่ร้อนหรืออบอุ่น ร่างกายก็จะมีสภาพอ่อน สามารถผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ถ้าร่างกายอยู่ในภาพที่เย็นจัด อาการอ่อนก็จะลดลง ทำให้การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ไม่คล่องแคล่วเหมือนปกติ อนึ่ง ถ้าร่างกายได้รับการลูบไล้ด้วยเครื่องประทินผิวซึ่งเป็นอุตุชรูปอยู่เสมอ ผิวพรรณย่อมมีสภาพอ่อนนุ่มและเกิดความเบาสบาย ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง แต่ถ้าร่างกายกรำแดดกรำฝนอยู่เป็นประจำ ผิวพรรณย่อมมีสภาพหยาบกระด้าง เหล่านี้เป็นต้น

๓. อาหารชมุทุตา คือ ความอ่อนของนิปผันนรูปที่เกิดจากอาหาร เช่น รูปร่างกายที่ได้รับอาหารดี มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ ร่างกายย่อมแข็งแรง ผิวพรรณอ่อนนุ่ม เรี่ยวแรงดีมีความกระฉับกระเฉง แต่ถ้าร่างกายได้รับแต่อาหารที่ไม่ดีหรือขาดแคลนอาหาร ขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ร่างกายย่อมซูบผอมหยาบกระด้าง ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถก็เชื่องช้าอ่อนโรยตามไปด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |