| |
วิการรูป ๕   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๔๑๔ ได้แสดงสรุปความเรื่องวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิญญัติรูป ๒ ที่แสดงไปแล้วนั้นก็นับเข้าในวิการรูปเหมือนกัน เพราะฉะนั้น วิการรูปจึงมี ๕ และวิการรูปทั้ง ๕ นี้ เป็นรูปที่เกิดเฉพาะแต่ในสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น สำหรับวิการรูป ๓ คือ ลหุตารูป มุทุตารูป กัมมัญญตารูป ทั้ง ๓ นี้ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน และเมื่อเกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ย่อมแสดงให้รู้ว่ากิริยาอาการต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่น้อย หรือการพูด ย่อมเป็นไปได้โดยสะดวก ไม่มีการขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๑๕ ได้แสดงสรุปความเรื่องวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการรูปทั้ง ๓ นี้ [คือ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา] ย่อมมีแก่สัตว์มีชีวิตทั้งหลายในขณะที่มีความสบายกายสบายใจ ไม่อาพาธป่วยไข้ เมื่อเกิดขึ้นในอาการของนิปผันนรูปนั้นแล้ว ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ รูป แต่อาจมีความยิ่งหรือหย่อนกว่ากันได้

วิการรูปนี้ บางทีก็นับว่า มี ๕ อย่าง ทั้งนี้โดยนับวิญญัติรูป ๒ ที่แสดงไปแล้วนั้นเข้าร่วมในวิการรูปด้วย เพราะเป็นรูปที่เกิดได้กับสิ่งที่มีชีวิตด้วยกัน คือ การเคลื่อนไหวร่างกายและวาจานั้นย่อมประกอบด้วยรูปลหุตา รูปมุทุตา รูปกัมมัญญตา ได้แก่ รูปเบา รูปอ่อน รูปเหมาะควรแก่การงาน แสดงการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่อิริยาบถน้อย หรือ การพูดที่เป็นไปได้โดยสะดวกคล่องแคล่ว ไม่มีอาการขัดข้องแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น วิการรูปนี้ บางทีท่านก็นับว่า มี ๕ ดังกล่าวแล้ว

บทสรุปของผู้เขียน :

วิการรูป ๓ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ มีได้เฉพาะในสัตว์มีชีวิตทั้งหลายเท่านั้น ในขณะที่มีความสบายกายสบายใจ ไม่อาพาธหรือไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง เมื่อเกิดขึ้นในอาการของนิปผันนรูปนั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ รูป แต่อาจจะมีความยิ่งหรือความหย่อนกว่ากันอยู่บ้าง อันไหนมีความยิ่ง อันนั้นย่อมปรากฏเช่นเจนกว่า ส่วนอีก ๒ อย่างก็เป็นตัวสนับสนุนหรือคล้อยตาม

วิการรูปนี้ บางทีก็นับว่า มี ๕ อย่าง ทั้งนี้โดยนับวิญญัติรูป ๒ เข้าร่วมด้วย จึงรวมเป็นวิการรูป ๕ เพราะเป็นรูปที่เกิดได้กับสิ่งมีชีวิตด้วยกัน กล่าวคือ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการเปล่งวาจานั้น ย่อมประกอบด้วย รูปลหุตา รูปมุทุตา และรูปกัมมัญญตา อันได้แก่ อาการเบา อาการอ่อน อาการเหมาะควรแก่การงานด้วย จึงจะทำให้การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถน้อย หรือ การพูด การร้อง เป็นต้นของสัตว์ทั้งหลายเป็นไปได้โดยสะดวก ไม่มีอาการข้องขัดแต่อย่างใด

วิการรูปเหล่านี้ มีสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่กำหนดรู้ได้ทางใจเท่านั้น ส่วนที่แสดงออกมาภายนอกที่ตนเองและบุคคลอื่นเห็นได้นั้น เป็นเพียงปฏิกิริยาอาการหรือปรากฏการณ์ของรูปเหล่านั้นเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |