| |
ลักษณะของผู้ที่หนักในโมหจริต ๗ ประการ   |  

๑. ถีนัง เป็นผู้มีจิตใจหดหู่อยู่เสมอ ไม่ค่อยสดใส อาจหาญ ร่าเริง มักมีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เสมอ แม้จะนอนมาจนเต็มอิ่มแล้ว ก็มักมีอาการง่วงตามมา จึงมักเคลิ้บหลับอยู่เสมอ

๒. มิทธัง เป็นคนเซื่องซึม เชื่องช้าอืดอาดยืดยาด ไม่สดชื่นกระปรี่กระเปร่า ไม่คล่องแคล่วว่องไว ขาดความพร้อมในการทำการงานทุกอย่าง จึงไม่ค่อยขวนขวายริเริ่มในการทำการงานด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนจากบุคคลอื่นอยู่เสมอ ต้องให้คอยบอกคอยสั่งจึงจะลงมือทำงานได้

๓. อุทธัจจัง เป็นคนฟุ้งซ่าน มักคิดเลื่อนลอยไปในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการงานซึ่งตนกระทำอยู่ในขณะนั้น มักไม่ค่อยรู้สึกตัวในการทำงาน จึงไม่ค่อยใส่ใจในการงาน ทำไปสักแต่ว่าพอให้ผ่านไป โดยไม่คำนึงถึงความสะอาดเรียบร้อยของงาน ไม่คำนึงถึงผลของงาน หรือไม่หวังจะพัฒนาฝีมือในการทำงานให้ดีขึ้น

๔. กุกกุจจัง มักหงุดหงิดรำคาญใจง่าย เมื่อเป็นคนเซื่องซึม เลื่อยลอย เชื่องช้าอืดอาด มักทำการงานไม่สำเร็จ ผลงานออกมาใช้ไม่ได้ หรือทำให้งานเกิดความเสียหายไปโดยความประมาทของตนเอง จึงมักเกิดอาการหงุดหงิดรำคาญใจ ด้วยคิดเบื่อหน่ายตนเอง เบื่อหน่ายบุคคลที่สั่งให้ทำ หรือเบื่อหน่ายงานที่ทำ ว่า ทำอย่างไรก็ไม่ถูก ทำอย่างไรก็ไม่ได้ ทำอย่างไรก็ไม่ดี ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เป็นต้น

๕. วิจิกิจฉา เป็นคนที่มักเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ควรสงสัย เพราะเหตุที่คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น ๆ อยู่เสมอ โดยไม่เอาใจใส่ในการงานที่ทำอยู่ จึงถูกกระแสความคิดทำให้สับสน แล้วเกิดความสงสัยในสิ่งที่คิดนั้นว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ จะมีจริงหรือไม่ เป็นต้น

๖. อาทานัคคาหิตา เป็นคนที่มักถือมั่นในสิ่งที่ยึดอยู่ คือ เป็นคนงมงายไร้เหตุผล ยึดถือในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารว่ามีสาระแก่นสาร ยึดถือในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ว่าเป็นประโยชน์ ย่อมหลงงมงายอยู่ในสิ่งที่ไม่มีสาระยากที่จะละคลายได้

๗. ทุปปะฏินิสสัคคิตา เป็นคนที่สละสิ่งที่ยึดถือได้ยาก เพราะเป็นคนที่ไม่ค่อยตื่นตัวมาสนใจสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่มักมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความฝันที่เลื่อนลอย ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้หรือเป็นไปในทางที่ไม่มีประโยชน์ และมักงมงายจมปลักอยู่กับความคิดอันไม่แยบคายนั้น จนยากที่จะละคลายให้บรรเทาเบาบางจากจิตใจได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |