| |
ความสงสัย ๒ ประการ   |  

๑. นิวรณวิจิกิจฉา ความสงสัยที่เป็นนิวรณ์ คือ ความสงสัยที่เป็นเครื่องสกัดกั้นกุศลธรรมมิให้เกิดขึ้น หรือ ทำกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมลง ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จัดเป็นวิจิกิจฉาที่ประกอบในโมหมูลจิต ซึ่งเป็นความสงสัยแท้ที่เป็นสภาวะของวิจิกิจฉาเจตสิก

๒. ปฏิรูปกวิจิกิจฉา ความสงสัยเทียม ได้แก่ ความสงสัยในชื่อคน สัตว์ สิ่งของ ที่ยังไม่รู้จัก หรือ สงสัยในวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือพระอรหันต์ที่ไม่เชี่ยวชาญในปริยัติ ท่านเกิดความสงสัยในข้อที่เป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ เป็นต้นเหล่านี้ ไม่จัดว่า เป็นวิจิกิจฉาในโมหมูลจิต จัดเป็นวิจิกิจฉาเทียม อันเนื่องมาจากประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ มีน้อย จึงทำให้เกิดความสงสัยได้

ความสงสัยประการอื่น ที่นอกจากสงสัยในธรรม ๘ ประการนี้ เช่น สงสัยในวิชาการต่าง ๆ อันเป็นเรื่องสมมติบัญญัตินั้น เป็นเพราะประสบการณ์แห่งสัญญา ยังอ่อน ไม่ใช่สภาพของวิจิกิจฉาเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิต ชนิดที่เป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ความสงสัยประเภทนี้ ชื่อว่า “ปฏิรูปกวิจิกิจฉา” แปลว่า วิจิกิจฉาเทียม ซึ่งไม่จัดว่า เป็นกิเลสที่ประกอบในโมหมูลจิต แต่อาจสงเคราะห์เข้าในอุทธัจจสัมปยุตตจิตได้

วิจิกิจฉานี้บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นการกระทำอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม ความสงสัยที่เป็นวิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดแล้ว ย่อมทำให้จิตใจของผู้นั้นกระด้าง เพราะวิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นดุจการจับอารมณ์มาขัดถูอยู่ที่ใจ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า วิจิกิจฉาเป็นเหมือนรอยขีดในดวงใจ [มโนวิเลขา] ความสงสัยในบัญญัติต่าง ๆ ไม่จัดเป็นวิจิกิจฉา

วิจิกิจฉา เมื่อเกิดขึ้นครอบงำจิตใจของผู้ใดแล้ว สามารถที่จะนำผู้นั้นไปสู่อบายได้ เพราะว่า คนที่มีวิจิกิจฉาอยู่ เมื่อเห็นคนอื่นสร้างคุณความดีแล้ว อาจจะเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือ ยกตนเสมอท่าน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุให้ไปสู่อบายภูมิได้ทั้งสิ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |