| |
รูปกลาปนัย   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๖๑๔ ได้แสดงรูปกลาปนัยไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า เอกุปปาทะ แปลว่า เกิดขึ้นขณะเดียวกัน หมายถึง รูปที่มีการเกิดขึ้น ที่เรียกว่า การอุบัติขึ้นขณะเดียวกัน

คำว่า เอกนิโรธะ แปลว่า ดับขณะเดียวกัน หมายถึง รูปที่มีการดับไป คือ ความไม่เที่ยงขณะเดียวกัน

เอก ศัพท์ในที่นี้เป็นไปในความหมายว่า “จำนวน” ด้วยคำนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงว่า กลุ่มรูปที่เกิดขึ้นขณะเดียวกันและดับขณะเดียวกัน ชื่อว่า รูปกลาป ในที่นี้

บางคนดำริการเกิดขึ้นเป็นต้นมากมาย ในรูปกลาปหนึ่งตามจำนวนรูปที่มีในรูปกลาป มติของท่านไม่สอดคล้องกับคัมภีร์มูลฎีกา ทั้งไม่ชอบด้วยเหตุผลอีกด้วย ดังสาธกในคัมภีร์นั้นว่า “เอเกกกลาปปริยาปนฺนานํ รูปานํ สเหว อุปฺปาทาทิปวตฺติโต เอเกกกลาปสฺส อุปฺปาทาทโย เอเกกาว โหนฺติรุ.๖๑๕ แปลความว่า การเกิดขึ้นเป็นต้นของรูปกลาปหนึ่ง ๆ เป็นขณะหนึ่ง ๆ เพราะรูปที่นับเข้าในรูปกลาปหนึ่ง มีความเป็นไปโดยการเกิดขึ้นเป็นต้นร่วมกันโดยแท้

ชีวิตินทรีย์ของรูปกลาปหนึ่ง ๆ ได้ชื่อว่า อุปาทายรูปที่รักษารูปกลาป ฉันใด การเกิดขึ้นของรูปเป็นต้นที่มีสภาพอุบัติเกิดในกลาปหนึ่ง ๆ ก็ได้ชื่อว่า อุปาทายรูป ฉันนั้น แม้วิการรูปและปริจเฉทรูปก็พึงประกอบเหมือนอย่างนี้รุ.๖๑๖

บางคนอ้างว่า ลักขณรูปมีการเกิดขึ้นของรูปเป็นต้นเป็นลักษณะของรูปทั้งหลาย โดยเฉพาะ ๆ ไม่ใช่ลักษณะของรูปกลาป ดังพระพุทธดำรัสว่า “โย อายตนานํ อาจโย, โส รูปสฺส อุปจโยรุ.๖๑๗ แปลความว่า การเกิดขึ้นก่อนของ [นิปผันน] รูป มีอยู่ การเกิดขึ้นก่อนนั้นเป็นการเกิดต่อมาของรูป [มีจักขุทสกกลาปเป็นต้น] “โย รูปสฺส อุปจโย, สา รูปสฺส สนฺตติรุ.๖๑๘ แปลความว่า การเกิดต่อมาของรูปนั้น เป็นการดำเนินไปของรูป

หากเป็นตามนี้ จักขุปสาทรูปเป็นต้นและชีวิตรูปเป็นต้นก็ควรเกิดได้มากมายในรูปกลาปหนึ่ง ดังพระพุทธดำรัสว่า “จตุนฺนํ มหาภูตานํ อุปาทาย ปสาโทรุ.๖๑๙ แปลความว่า ปสาทรูปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมหาภูตรูป ๔ “รูปีนํ ธมฺมานํ อายุรุ.๖๒๐ แปลความว่า อายุของธรรมทั้งหลายที่มีรูป” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรดำริอย่างนั้น พึงวินิจฉัยว่า แม้ลักขณรูปก็มีอย่างละหนึ่งรูปในรูปกลาปหนึ่ง เหมือนอุปาทายรูปอย่างอื่น

คำว่า เอกนิสสยะ แปลว่า มีที่ตั้งเหมือนกัน หมายถึง มีที่ตั้งคือมหาภูตรูปเหมือนกัน [อันเดียวกัน]

เอก ศัพท์ในที่นี้ย่อมสมควรในอรรถว่า “เหมือนกัน” [อันเดียวกัน] เพราะมีมหาภูตรูป ๔ เป็นที่อาศัย [เหมือนกัน]

รูปที่ประกอบด้วยลักษณะ ๓ มีการเกิดขึ้นขณะเดียวกันเป็นต้น ย่อมดำเนินไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สหวุตฺติโน แปลว่า ดำเนินไปด้วยกัน

คำว่า ทสกะ คือ กลุ่มรูปที่มีจำนวน ๑๐ รูป

อีกนัยหนึ่ง คำว่า ทสกะ คือ กลุ่มแห่งรูป ๑๐ รูป

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว คำว่า ทสกะ มีความหมาย ๒ ประการคือ

๑. กลุ่มรูปที่มีจำนวน ๑๐ อย่าง ดังแสดงวจนัตถะว่า “ทส ปริมาณานิอสฺสาติ ทสกํ” แปลความว่า จำนวน ๑๐ แห่งรูปนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทสกะ

๒. กลุ่มแห่งรูป ๑๐ อย่าง ดังแสดงวจนัตถะว่า “ทสนฺนํ สมูโห ทสกํ” แปลความว่า ประชุมแห่งรูป ๑๐ รูป ชื่อว่า ทสกะ

แม้กลาปอื่นก็มีนัยเดียวกันนี้

ท่านกล่าวว่า “วจีวิญฺตฺติสทฺเทหิ สห วจีวิญฺตฺติทสกํ” แปลความว่า [อวินิพโภครูป] กับวจีวิญญัติและสัททรูป เรียกว่า วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป โดยมุ่งหมายว่า เสียงที่เกิดจากจิตย่อมไม่เกิดขึ้นโดยปราศจากวิญญัติรูป และวิญญัติรูปย่อมไม่เกิดขึ้นโดยปราศจากเสียงเช่นเดียวกัน จึงไม่มีจิตตชรูปที่เป็นสัททนวกะ [กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีเสียงเป็นประธาน] หรือที่เป็นวจีวิญญัตตินวกะ [กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีวจีวิญญัติเป็นประธาน]

ในเรื่องนี้ วจีวิญญัติย่อมไม่เกิดขึ้นโดยปราศจากเสียง ข้อความนี้สอดคล้องกับพระพุทธภาษิตว่า“ยา ตาย วาจาย วิญฺตฺติ วิญฺาปนา วิญฺาปิตตฺตํ ฯ อิทํ ตํ รูปํ วจีวิญฺตฺติรุ.๖๒๑ ฯ แปลความว่า การให้รู้ การให้เข้าใจ ภาวะที่ให้รู้ด้วยเสียงซึ่งสำเร็จจากถ้อยคำนั้น รูปดังกล่าวนั้น ชื่อว่า วจีวิญญัติ

ส่วนจิตตชรูปที่ปราศจากวจีวิญญัติ เป็นสัททนวกะ [กลุ่มรูป ๙ รูปมีเสียงเป็นประธาน] พบในคัมภีร์อรรถกถา ดังสาธกในปฏิจจสมุปบาทนิทเทศว่า “ปฏิสนฺธิกฺขณโต อุทฺธํ ปวตฺตอุตุโต เจว จิตฺตโต จ สทฺทนวกํรุ.๖๒๒ แปลความว่า รูปกลาปสัททนวกะย่อมปรากฏเพราะอุตุและจิตที่เกิดขึ้นถัดจากขณะปฏิสนธิ

ส่วนตามนัยจากคัมภีร์มหาอรรถกถาว่า “เสียงที่เกิดจากจิตที่ปราศจากวจีวิญญัติ อันเกิดจากความคิดนึก ไม่มีใครรับรู้ได้ด้วยโสตประสาท มีอยู่ได้โดยแท้” ซึ่งท่านผู้ประพันธ์อรรถกถาประมวลความได้ปฏิสนธิรุ.๖๒๓ ข้อความนั้นไว้ สมจริงดังสาธกว่า “ปฏฺาเนปิ จิตฺตสมุฏฺานํ สทฺทายตนํ โสตวิญฺาณสฺส อารมฺมณปจฺจเยน ปจฺจโยติรุ.๖๒๔ อาคตํ ฯ ตสฺมา วินา วิญฺตฺติฆฏฺฏนาย อุปฺปชฺชมาโน อโสตวิญฺเยฺโย วิตกฺกวิปฺผารสทฺโท นาม นตฺถิรุ.๖๒๕”ฯ แปลความว่า ในคัมภีร์ปัฏฐานมีพระพุทธภาษิตว่า “อายตนะคือเสียงที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณโดยความเป็นอารัมมณปัจจัย จึงไม่มีเสียงที่เกิดจากความคิดนึก ซึ่งโสตประสาทไม่ได้ยิน อันเกิดขึ้นโดยปราศจากการกระทบของวจีวิญญัติ”

สัททนวกะ [กลุ่มรูป ๙ รูปมีเสียงเป็นประธาน] ที่เกิดจากจิต กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องลมหายใจเข้าออกในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สมจริงดังที่ท่านสาธกไว้ว่า “จิตฺตเช อสฺสาสปสฺสาสโกฏฺาเสปิ โอชฏฺมกญฺเจว สทฺโท จาติ นวรุ.๖๒๖”ฯ แปลความว่า รูป ๙ รูป คือ กลุ่มรูปมีโอชาเป็นที่ ๘ และเสียง มีอยู่ในลมหายใจเข้าออกที่เกิดจากจิต

เมื่อท่านกล่าวถึงสัททนวกะ ก็เป็นอันกล่าวถึงสัททลหุตาทิทวาทสกะด้วยเช่นกัน ดังนั้น รูปกลาปที่เกิดจากจิตจึงมี ๘ กลุ่ม คือ สุทธัฏฐกกลาป [กลุ่มรูป ๘ รูป ที่มีแต่อวินิพโภครูปล้วน ๆ] สัททนวกกลาป [กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีเสียงเป็นประธาน] กายวิญญัตตินวกกลาป [กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีกายวิญญัติรูปเป็นประธาน] วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป [กลุ่มรูป ๑๐ รูป ที่มีวจีวิญญัติรูปเป็นประธาน] ลหุตาเทกาทสกกลาป [กลุ่มรูป ๑๑ รูป ที่มีลหุตารูปเป็นต้นเกิดร่วมด้วย] สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป [กลุ่มรูป ๑๒ รูป ที่มีเสียงเป็นประธานและมีลหุตารูปเป็นต้นร่วมด้วย] กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป [กลุ่มรูป ๑๒ รูปที่มีกายวิญญัติรูปเป็นประธานและมีลหุตารูปเป็นต้นร่วมด้วย] และวจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป [กลุ่มรูป ๑๓ รูปที่มีวจีวิญญัติรูปและเสียงเป็นประธาน และมีลหุตารูปเป็นต้นเกิดร่วมด้วย

ในคัมภีร์สัจจสังเขปรุ.๖๒๗ กล่าวว่า “จิตตชกลาปมี ๗ กลุ่ม” โดยไม่รวมเอา สัททลหุตาทิทวาทสกกลาปไว้โดยเฉพาะด้วย

ในฎีกาทั้ง ๒ ฉบับของคัมภีร์นั้น ฎีกาเก่าแสดงสัททนวกะในเสียงที่เกิดจากความนึกคิด ไม่มีใครรับรู้ได้ด้วยโสตประสาท และปราศจากวิญญัติ โดยคล้อยตามนัยจากคัมภีร์มหาอรรถกถา ต่อมาเมื่อจะแสดงมติอื่นอีก จึงกล่าวว่า “อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า เสียงพูดที่เกิดจากจิต แต่มีพยางค์ บท พยัญชนะ และความหมายไม่ประจักษ์ชัด จากที่ไกลของหมู่ชน ก็เป็นเสียงที่ปราศจากวิญญัติเช่นเดียวกันนี้ เสียงที่เกิดจากจิตที่ไม่มีวจีวิญญัติ มีอยู่แก่เนื้อและนกทั้งหลาย กับชาวเตลคูและชาวทมิฬ เป็นต้น ผู้ไม่เข้าใจภาษาของกันและกัน”

ในพากย์นั้น เสียงที่เกิดจากความนึกคิด ปราศจากวิญญัติ ไม่มีใครรับรู้ได้ด้วยโสตประสาท มีปฏิเสธไว้ในคัมภีร์อัฏฐสาลินี แม้เสียงพูดที่มีจิตเป็นสมุฏฐานของหมู่ชนเมื่อมีพยางค์ บท พยัญชนะ และความหมายประจักษ์ชัดแก่ผู้ที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ ก็ประกอบด้วยวจีวิญญัติได้ มิฉะนั้นแล้ว เสียงที่เกิดจากจิตทั้งหมดอาจมีบทพยัญชนะไม่ประจักษ์ชัดแก่ผู้ที่ยืนอยู่ในที่ไกล เสียงทุกอย่างก็ควรจะปราศจากวิญญัติได้ ทั้งเสียงที่เกิดจากจิตของเนื้อและนกเป็นต้น ก็มิได้ปราศจากวิญญัติ เพราะแสดงความหมายที่ตนประสงค์แก่สัตว์ประเภทเดียวกันได้

ส่วนในฎีกาใหม่ของคัมภีร์สัจจสังเขปกล่าวว่า “สทฺทนวกํ ปเนตฺถ อจฺฉราสงฺฆาตปาณิปฺปหาราทิสทฺทสหิตํ อฏฺกเมวรุ.๖๒๘”ฯ แปลความว่า สัททนวกกลาปในที่นี้ คือ อัฏฐกกลาปที่ประกอบด้วยเสียงดีดนิ้วและปรบมือ เป็นต้น

ข้อความนั้นไม่สมควร เพราะเสียงดังกล่าวมีอุตุเป็นสมุฏฐาน มีจิตเป็นเหตุ สัททนวกกลาปจึงปรากฏในลมหายใจเข้าออก หรือเสียงกระแอม ไอ เรอ และถ่มน้ำลาย เป็นต้น ที่ไม่มีเสียงพูดและปราศจากความตั้งใจในบางคราว ตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ถามว่า เพราะเหตุใด รูปกลาป ๒ อย่างหลัง ในอุตุชกลาปจึงไม่เกิดขึ้นภายนอกร่างกายของสัตว์ รูปภายนอกก็มีความเบา ความหนัก ความอ่อน ความแข็ง หรือความเหมาะควรแก่กิริยาได้มิใช่หรือ ?

ตอบว่า ถูกแล้ว แต่รูปเหล่านั้นมีอยู่ด้วยความมากหรือน้อยของมหาภูตรูป ไม่ใช่มีอยู่ด้วยความเป็นวิการรูป ๓ อย่าง [มีลหุตารูปเป็นต้น]

ท่านกล่าวคำที่ขึ้นต้นว่า “กลาปานํ” แปลความว่า ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า อากาสธาตุและลักขณรูป มิใช่ส่วนประกอบของรูปกลาป เพราะเป็นเพียงเครื่องกำหนดและเป็นลักษณะของสังขตธรรม เพื่อแสดงเหตุที่อากาสธาตุและลักขณรูปไม่นับเข้าในรูปกลาป กล่าวคือ ท่านแสดงว่า อากาสธาตุมิใช่ส่วนประกอบของรูปกลาปใด ๆ เพราะเป็นเพียงเครื่องกำหนดรูปกลาปทั้งหลาย ทั้งลักขณรูปก็มิใช่เหตุให้รู้ความต่างกันของรูปกลาป ซึ่งทำให้รูปกลาปมีประเภทหลากหลายเหมือนวิการรูป เพราะเป็นเพียงลักษณะมีการเกิดขึ้นเป็นต้นของรูปกลาปทั้งหมด อากาสธาตุและลักขณรูปจึงไม่นับเข้าในรูปกลาป

ข้อความนั้นแสดงว่า ข้อกำหนดที่กล่าวมาแล้วด้วยคำว่า “เอกุปฺปาทา” แปลว่า เกิดขึ้นขณะเดียวกัน เป็นต้น ย่อมมีแก่นิปผันนรูปเท่านั้น ไม่มีแก่อนิปผันนรูป และแสดงว่า การที่อนิปผันนรูปกระทำความต่างกันแห่งรูปกลาป จัดเป็นองค์ประกอบของกลาป ดังนั้น จึงสมควรถือเอาวิญญัติรูป ๒ ที่ปราศจากความดับไปขณะเดียวกันในรูปกลาป เพราะวิญญัติรูปอาจกระทำรูปกลาปให้ต่างกันได้

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๖๒๙ ท่านได้แสดงเรื่องกลาปของรูปไว้ ดังต่อไปนี้

ก็เพราะรูปเหล่านี้ เมื่อบังเกิดจากสมุฏฐานมีกรรมเป็นต้น ย่อมไม่เกิดแยกกัน โดยที่แท้ ย่อมเกิดรวมเป็นหมวดเดียวกัน เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงการกำหนดนับรูปเป็นหมวด ๆ ท่านอาจารย์จึงกล่าวคำว่า เอกุปฺปาท เป็นต้น

บทว่า สหวุตฺติโน มีความหมายว่า มีความเป็นไปร่วมกัน ด้วยสามารถแห่งรูปที่เข้าถึงกลาปเป็นหมวด ๆ มิใช่ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปร่วมกันและกันแห่งกลาปทั้งหมด

รูปที่ชื่อว่า ทสกะ เพราะอรรถว่า มีประมาณ ๑๐ คำนี้เป็นชื่อแห่งหมวด ทสกะที่ท่านกำหนดด้วยจักษุ หรือทสกะที่มีจักษุนั้นเป็นประธาน ชื่อว่า จักขุทสกะ แม้ในทสกะที่เหลือก็มีนัยอย่างนี้ แม้เสียงท่านก็สงเคราะห์ด้วยศัทพ์คือวจีวิญญัติ เพราะวจีวิญญัตินั้น เว้นเสียงนั้นเสีย ย่อมมีไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า วจีวิญญัตติทสกะรุ.๖๓๐ เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ก็กลาป ๒๑ เหล่านี้แม้ทั้งหมด ย่อมมีได้ในทุก ๆ หมวด หรือว่าบางกลาปมีได้ในบางหมวด ดังนี้ ท่านอาจารย์จึงได้กล่าวคำว่า ตตฺถ เป็นต้น

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๖๓๑ ได้แสดงการเกิดขึ้นเป็นกลุ่มของรูปธรรม ที่เรียกว่า รูปกลาปนัย ไว้ ดังต่อไปนี้

รูปกลาป หมายถึง กลุ่มรูป, คำว่า กลาป แปลว่า หมวด หมู่ มัด คณะ กลุ่ม

ในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า “กลาปิยนฺติ เอตฺถาติ กลาปารุ.๖๓๒ฯ” แปลความว่า ธรรมชาติที่นับเป็นหมวดหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นคณะ ชื่อว่า กลาป เพราะฉะนั้น รูปกลาป จึงหมายถึง รูปที่เป็นหมวด ๆ เป็นหมู่ ๆ หรือเป็นคณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บรรดารูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม ที่จะเกิดขึ้นตามลำพังรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะนั้นไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ ในรูปกลาปหนึ่ง ๆ จะต้องมีสภาพความเป็นไปของกลุ่มรูปที่พร้อมเพรียงกัน เรียกว่า สหวุตติ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “เอกุปฺปาท เอกนิโรธ เอกนิสฺสยา สหวุตฺติโน เอกวีสติ รูปกลาปา นาม ฯ” แปลความว่า รูปที่เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกัน ดับพร้อมกัน มีที่อาศัยร่วมกัน รวมองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ชื่อว่า รูปกลาป มีจำนวน ๒๑ กลาป

การเกิดขึ้นและเป็นไปของรูปกลาป ที่เรียกว่า สหวุตติ จะต้องประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ

๑. เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกัน

๒. เอกนิโรธะ ดับพร้อมกัน

๓. เอกนิสสยะ มีที่อาศัย คือ มหาภูตรูปอย่างเดียวกัน

ความเป็นไปของรูปที่พร้อมด้วยองค์ทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงเรียกว่า รูปกลาป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะแสดงรูปที่ไม่นับเป็นองค์ของกลาป ดังมีหลักฐานคาถาสังคหะรับรองไว้ว่า

กลาปานํ ปริจฺเฉท-    ลกฺขณตฺตา วิจกฺขณา
น กลาปงฺคมิจฺจาหุ    อากาสํ ลกฺขณานิ จ

แปลความว่า

อากาสรูป [ปริจเฉทรูป] ๑ และลักขณรูป ๔ บัณฑิตทั้งหลายไม่แสดงว่า เป็นองค์ของกลาป เพราะรูปทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นเครื่องหมายของรูปกลาปเท่านั้น

หมายความว่า ปริจเฉทรูปนั้น เป็นรูปที่กำหนดขอบเขตระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาป กล่าวคือ เป็นเพียงส่วนคั่นของรูปกลาป จึงไม่นับเข้าอยู่ในองค์ของกลาป

ส่วนลักขณรูป ๔ เป็นรูปที่เป็นเครื่องหมายของรูปกลาป จึงไม่นับเข้าเป็นองค์ของกลาปเช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |