ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๗๐ ได้แสดงความหมายของคำว่า อาโป ดังนี้
อาโป คือ รูปที่แผ่ไปสู่สหชาตรูป
อีกนัยหนึ่ง อาโป คือ รูปที่ทำให้สชาตรูปเจริญเพิ่มพูนขึ้น
อีกนัยหนึ่ง อาโป คือ รูปที่รักษาสหชาตรูปยิ่งนัก โดยทำให้ไม่กระจัดกระจาย
อีกนัยหนึ่ง อาโป คือ รูปที่รวบรวมสหชาตรูปเหมือนซึมซาบเข้าไป
เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า อาโป มีความหมาย ๔ ประการ คือ
๑. รูปที่แผ่ไปสู่สหชาตรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อาเปติ สหชาตรูปานิ พฺยาเปตฺวา ติฏฺตีติ อาโป” แปลความว่า รูปใดย่อมเอิบอาบแผ่เข้าไปสู่สหชาตรูปทั้งหลายแล้วตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า อาโป
๒. รูปที่ทำให้สหชาตรูปเจริญเพิ่มพูน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อปฺปายติ ตานิ สุฏฺฐุ พฺรูเหติ วฑฺเฒตีติ อาโป”แปลความว่า รูปใดย่อมทำให้สหชาตรูปเจริญเพิ่มพูนขึ้นเพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า อาโป
๓. รูปที่รักษาสหชาตรูปยิ่งนัก ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ตานิ ภุโส ปาติ รกฺขตีติ อาโป” แปลความว่า รูปใดย่อมรักษาสหชาตรูปทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า อาโป
๔. รูปที่รวบรวมสหชาตรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ปิวติ ตานิ สงฺคณฺหติ สมฺปิณฺเฑตีติ อาโป” แปลความว่า รูปใดย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสหชาตรูป เพราะฉะนั้น รูปเหล่านั้น จึงชื่อว่า อาโป
ธาตุน้ำนั่นเอง ชื่อว่า อาโปธาตุ
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๗๑ ได้แสดงความหมายของอาโปธาตุไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
ชื่อว่า อาโป ด้วยอรรถว่า เอิบอาบ คือ ซึมซาบรูปที่เกิดร่วมกัน หรือด้วยอรรถว่า เพิ่มพูน คือ พอกพูนให้เจริญ
ส่วนคณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๗๒ ได้แสดงความหมายของอาโปธาตุไว้ดังต่อไปนี้
อาโปธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ธาตุน้ำ มีลักษณะไหลหรือเกาะกุม [ปคฺฆรณลกฺขณา หรือ อาพนฺธนลกฺขณา] อาโปธาตุนี้ ถ้ามีอยู่เป็นจำนวนมากในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ย่อมทำให้วัตถุสิ่งนั้นเหลวและไหลไปได้ ถ้ามีอยู่เป็นจำนวนน้อย ย่อมทำให้วัตถุสิ่งของนั้น ๆ เกาะกุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อุปมาเหมือนยางเหนียว ที่สามารถเชื่อมวัตถุสิ่งของให้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ ฉันใด อาโปธาตุก็ฉันนั้น ย่อมสามารถเชื่อมปรมาณูของปถวีธาตุให้เกาะกุมกันเป็นรูปร่างสัณฐานขึ้นได้
ในวัตถุที่มีจำนวนอาโปธาตุมากกว่าปถวีธาตุนั้น ด้วยอำนาจของอาโปธาตุนั่นเองทำให้ปถวีธาตุมีอำนาจน้อยลง จึงเป็นเหตุให้วัตถุสิ่งนั้นอ่อนเหลวและสามารถไหลไปมาได้ ดังเช่นน้ำที่เราแลเห็นว่าน้ำนั้นไหลไปมาได้ ก็เพราะว่าในน้ำนั้น มีอาโปธาตุมาก มีปถวีธาตุน้อยนั่นเอง เมื่อปถวีธาตุน้อยแล้ว ปถวีธาตุนั้นแหละเป็นผู้ไหลไปมาโดยอาศัยอาโปธาตุเป็นผู้ทำให้ไหล ไม่ใช่ตัวอาโปธาตุเป็นตัวไหล ดังที่เราเข้าใจกัน เพราะอาโปธาตุเป็นธาตุที่เห็นด้วยตาหรือสัมผัสด้วยกายไม่ได้ เพียงแต่รู้ได้ด้วยใจเท่านั้น และถ้าในวัตถุใดมีจำนวนอาโปธาตุน้อยกว่าปถวีธาตุแล้ว ด้วยอำนาจของอาโปธาตุย่อมทำให้ปรมาณูของปถวีธาตุเกาะกุมกันเข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังเช่นสิ่งที่แข็ง มีผืนแผ่นดินเป็นต้น ที่เราเห็นอยู่ทั่วไป
อนึ่ง เมื่ออาโปธาตุถูกความร้อนเข้า ปัคฆรณลักษณะ หรือ ทรวภาวะ ย่อมปรากฏ คือ ทำให้ไหลได้ แต่ถ้าอาโปธาตุถูกความเย็น อาพันธนลักษณะ ย่อมปรากฏ คือ ทำให้เกาะกุม เช่น เหล็กหรือขี้ผึ้งถูกความร้อนเข้า ก็เหลวจนสามารถไหลไปได้ เมื่อเย็นแล้วก็กลับแข็งตัวตามเดิม หรือน้ำแข็ง ถ้าถูกความร้อนก็ละลายและไหลไปได้ เมื่อถูกความเย็นจัด ก็จะจับกันเป็นก้อนน้ำแข็งอีก เหล่านี้เป็นต้น
ธรรมชาติที่รักษาสหชาตรูปได้อย่างมั่นคง ไม่ให้กระจัดกระจายไป ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาโป หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวว่า ธรรมชาติที่แผ่ซึมซาบทั่วไปในรูปที่เกิดพร้อมกับตน แล้วตั้งอยู่กับรูปเหล่านั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาโป
อาโปธาตุนี้ บุคคลไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยจักขุวิญญาณที่อาศัยจักขุปสาทรูป และไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยกายวิญญาณที่อาศัยกายปสาทรูป ส่วนน้ำที่เรามองเห็นกัน ใช้กันอยู่นั้น เป็นการเห็นสีของธาตุต่าง ๆ ที่รวมกันอยู่ในสภาพที่อ่อนหรือเหลว เพราะมีปถวีธาตุน้อย มีอาโปธาตุมากเท่านั้น ไม่ได้มองเห็นอาโปธาตุโดยส่วนเดียว ความปรากฏเป็นลักษณะอ่อนเหลวของน้ำที่เราใช้ดื่มกินกันอยู่นั้น เนื่องมาจากอาโปธาตุนั่นเองเป็นตัวทำให้ปถวีธาตุมีความอ่อนเหลวและไหลไปได้ ดังกล่าวแล้ว
บทสรุปของผู้เขียน :
จากหลักฐานที่ได้แสดงมาแล้วนั้น จึงสรุปได้ว่า อาโปเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่า อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ เป็นรูปธรรมที่มีลักษณะไหลหรือเกาะกุม คือ ถ้ามีอยู่เป็นจำนวนมากในวัตถุสิ่งใด วัตถุสิ่งนั้นย่อมมีสภาพเหลวและไหลไปได้ เหมือนน้ำที่ไหลไปได้ เพราะมีธาตุน้ำมากนั่นเอง แต่สิ่งที่ไหลไปนั้นเป็นธาตุดินเป็นตัวไหล ถ้าในวัตถุสิ่งใดมีธาตุน้ำน้อย วัตถุสิ่งนั้นย่อมมีสภาพเกาะกุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อุปมาธาตุน้ำเหมือนกาวหรือยางเหนียว ที่สามารถเชื่อมยึดสิ่งต่าง ๆ ให้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ ฉันใด อาโปธาตุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมสามารถเชื่อมยึดปรมาณูแห่งปถวีธาตุให้เกาะกุมกันเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ อยู่ได้
อนึ่ง อาโปธาตุนี้เป็นสุขุมรูป คือ รูปละเอียด เป็นสภาพที่รู้ได้ยาก ไม่สามารถสัมผัสรู้โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ เพราะตารับสัมผัสได้เฉพาะรูปารมณ์ หูรับสัมผัสได้เฉพาะสัททารมณ์ จมูกรับสัมผัสได้เฉพาะคันธารมณ์ ลิ้นรับสัมผัสได้เฉพาะรสารมณ์ และกายก็รับสัมผัสได้เฉพาะโผฏฐัพพารมณ์ ส่วนรูปนอกนั้น เป็นสภาวะที่รับรู้ได้ทางมโนทวารคือทางใจเท่านั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นน้ำ จึงไม่ใช่ธาตุน้ำอย่างเดียว เพราะสีที่เห็นเป็นรูปารมณ์ที่รู้ได้ทางตา ความอ่อนที่สัมผัสรู้นั้นเป็นโผฏฐัพพารมณ์ที่รู้ได้ทางกาย เป็นต้น สิ่งที่นอกจากสัมผัสรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั้น เรียกว่า ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารคือทางใจเท่านั้น อาโปธาตุก็จัดอยู่ในจำพวกธัมมารมณ์ จึงเป็นสภาวะที่รับรู้ได้ทางใจอย่างเดียว และการที่สามารถรู้ได้ว่า อาโปธาตุนั้นมีอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อน หรือทำให้ไหลไปได้ นั่นเอง