| |
เหตุให้เกิดโลภะอสังขาริก ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนนั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งคือ

๑. อะสังขาริกะกัมมะชะนิตะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเกิดมาจาก อสังขาริกจิต หมายความว่า เป็นบุคคลผู้เกิดมาด้วยวิบากของกรรมที่เป็นอสังขาริก กล่าวคือ ทำกรรมโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงทำให้เป็นผู้ที่มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด [เฉพาะในเรื่องที่ตนถนัด เจนจัดและชำนาญ] ฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความถนัด เจนจัดและชำนาญ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ เกิดความโลภขึ้นมาเองได้

๒. กะละละกายะจิตตะตา เป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความป่วยไข้ทางกาย มีความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีความวิตกกังวล หรือเดือดร้อนใจในสิ่งต่าง ๆ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความพร้อม ความเหมาะควร ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ เกิดความโลภขึ้นมาเองได้

๓. สีตุณหาทีนัง ขะมะนะพะหุละตา เป็นผู้มีความอดทนต่อความหนาวและ ความร้อนเป็นต้นจนเคยชิน หมายความว่า เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านความลำบาก มีความอดทนต่ออุปสรรคอันตรายต่าง ๆ มาจนเคยชิน หรือเคยเสพคุ้นในสิ่งนั้นมาจนชำนาญ สามารถตัดสินใจชอบในสิ่งนั้นได้ตามที่ตนมีประสบการณ์มา โดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวน คือ เกิดความโลภขึ้นมาเองได้

๔. กัตตัพพะกัมเมสุ ทิฏฐานิสังสะตา เป็นผู้เคยเห็นผลในการงานที่จะพึงกระทำ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ได้ผ่านประสบการณ์ ได้ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนต้องการ หรือต้องการอะไรแล้ว มักจะได้ดังใจหวังเสมอ โดยไม่ยากเย็นเข็ญใจมากนัก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเช่นนั้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ เกิดความโลภขึ้นมาเองได้

๕. กัมเมสุ จิณณะวะสิตา เป็นบุคคลผู้มีความชำนาญในการงานที่ทำ หมาย ความว่า เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเช่นนั้นหรือมีประสบการณ์ในการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง และมั่นใจในสิ่งที่ตนหวังว่าไม่เกินวิสัยไปได้ หรือมีความมั่นใจในการงานที่จะลงมือทำเพราะต้องการผลประโยชน์ในบางสิ่งบางอย่างทั้งโดยชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม ซึ่งตนมีความรู้ความเข้าใจหรือมีความชำนาญในวิธีการที่จะทำการงานนั้นได้เป็นอย่างดี ย่อมสามารถที่จะตัดสินใจลงมือทำได้หรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความถนัด เจนจัดและชำนาญเช่นนั้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือเกิดความโลภขึ้นมาเองได้

๖. อุตุโภชะนาทิสัปปายะลาโภ เป็นผู้ที่ได้รับอากาศและอาหารเป็นต้นที่เป็น สัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้รับปัจจัยแวดล้อมที่ดี ไม่มีปัญหาอุปสรรคขัดข้องใด ๆ มีความพร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ได้อยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่อึดอัด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความถนัด เจนจัดและชำนาญ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ เกิดความโลภขึ้นมาเองได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |