| |
การเกิดขึ้นของมหาวิปากจิต   |  

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๑

โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๑ นี้เป็นจิตที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลที่อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยบางอย่างเข้ามาบั่นทอน ก็อาจทำให้เป็นผู้ไม่มีความคิดเป็นของตนเองก็ได้] หมายความว่า เป็นผู้มีความริเริ่มด้วยตนเองในกิจการงานต่าง ๆ ที่ตนเองได้สั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญแล้วนั้น และมีปัญญาในการพิจารณาและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สำเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระบรมโพธิสัตว์ พระปัจเจกโพธิสัตว์บางท่าน พระสาวกโพธิสัตว์บางท่าน หรือฌานลาภีบุคคล อภิญญาลาภีบุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๒

โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๒ นี้เป็นจิตที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนก็อาจทำให้เป็นผู้มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้] หมายความว่า ถ้ากิจการงานบางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่งสมมา หรือไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในการงานหรืออารมณ์นั้น อาจทำให้ไม่มีความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะมีการลงมือทำกิจการนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ แต่เป็นผู้มีปัญญาในการพิจารณาและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง [ยกเว้นบุคคลที่มีเหตุปัจจัยบางอย่างเข้ามาบั่นทอน อาจทำให้เป็นผู้ไม่มีปัญญาก็ได้] เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล และเป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สำเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้าบางองค์ พระสาวกบางรูป หรือ ฌานลาภีบุคคล อภิญญาลาภีบุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๓

โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๓ นี้เป็นจิตที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอนก็อาจทำให้เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเองก็ได้] หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองได้เคยสั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญแล้ว ก็ทำให้มีความริเริ่มด้วยตนเองที่จะลงมือทำกิจการงานนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ด้วยตนเอง เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ในปัจจุบันชาตินั้นได้

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๔

โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๔ นี้เป็นจิตที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพที่เป็นมาแต่กำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนก็อาจทำให้เป็นผู้มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้] หมายความว่า ถ้ากิจการงานบางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่งสมมา ไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในการงานหรืออารมณ์นั้น อาจทำให้ไม่มีความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะมีการลงมือทำกิจการนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น อนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีปัญญาในการพิจารณาและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งเท่าใดนัก [ยกเว้นผู้ที่มีการสั่งสมประสบการณ์เพิ่มขึ้นในปัจจุบันชาตินั้น อาจทำให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษในเรื่องปริยัติขึ้นมาก็ได้] เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล เป็นผู้ที่ไม่สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดขึ้นได้ในปัจจุบันชาตินั้น

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๕

อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๕ นี้ซึ่งเป็นจิตที่นำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใคร ๆ หรือสิ่งใดมากนัก แต่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพที่เป็นมาแต่กำเนิด ยกเว้นมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอน อาจทำให้เป็นผู้ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้] หมายความว่า ถ้าเป็นกิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองได้เคยสั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญแล้ว ก็ทำให้มีความริเริ่มในกิจการงานหรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยตนเอง และเป็นคนมีปัญญาสามารถพิจารณาและรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง [ยกเว้นกิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่มีความถนัดเจนจัดหรือชำนาญ หรือมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอนทำให้เป็นผู้ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตนเองก็ได้] เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สำเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระสาวกโพธิสัตว์ หรือฌานลาภีบุคคล อภิญญาลาภีบุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๖

อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๖ นี้เป็นจิตที่นำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใคร ๆ หรือสิ่งใดมากนัก ทั้งไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนก็อาจทำให้เป็นผู้มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้] หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่งสมมา ไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในการงานหรืออารมณ์นั้น อาจทำให้ไม่มีความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะมีการลงมือทำกิจการนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น แต่เป็นผู้มีปัญญาในการพิจารณาและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล และเป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สำเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกบางรูป หรือ ฌานลาภีบุคคล อภิญญาลาภีบุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๗

อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๗ นี้เป็นจิตที่นำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใครหรือสิ่งใดมากนัก แต่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอน ก็อาจทำให้เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเองก็ได้] หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองได้เคยสั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญแล้ว ก็ทำให้มีความริเริ่มด้วยตนเองที่จะลงมือทำกิจการงานนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยตนเองทันที เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ในปัจจุบันชาตินั้นได้

มหาวิปากจิต ดวงที่ ๘

อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง

จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

มหาวิปากจิตดวงที่ ๘ นี้เป็นจิตที่นำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใครหรือสิ่งใดมากนัก และไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกำเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุน ก็อาจทำให้เป็นผู้ที่มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้] หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่งสมมา ย่อมไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในกิจการงานหรืออารมณ์นั้น อาจทำให้ไม่มีความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงจะลงมือทำกิจการงานนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ในปัจจุบันชาตินั้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |