| |
หน้าที่ของวิปากจิต ๗ ประการ   |  

วิปากจิต ได้แก่ อเหตุกวิปากจิต ๑๕ มหาวิปากจิต ๘ มหัคคตวิปากจิต ๙ ย่อมทำหน้าที่กักเก็บเชื้อของสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลไว้ ๗ ประการ กล่าวคือ

๑. วิปากกิจ ทำหน้าที่เป็นผลของกรรมแต่ปางก่อน ซึ่งให้ผลดังต่อไปนี้

๑] ปฏิสนธิกิจ นำให้เกิดในภพภูมิใหม่

๒] ภวังคกิจ เป็นองค์แห่งภพ คือ รักษาสถานภาพของบุคคลนั้นไว้จนตลอดชีวิต

๓] ทัสสนกิจ รับรู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร

๔] สวนกิจ รับรู้สัททารมณ์ทางโสตทวาร

๕] ฆายนกิจ รับรู้คันธารมณ์ทางฆานทวาร

๖] สายนกิจ รับรู้รสารมณ์ทางชิวหาทวาร

๗] ผุสสนกิจ รับรู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร

๘] สัมปฏิจฉนกิจ รับรู้ปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๙] สันตีรณกิจ ไต่สวนปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๑๐] ตทาลัมพนกิจ รับอารมณ์ต่อจากกามชวนะทางทวาร ๖

๑๑] จุติกิจ ตายจากภพชาติที่เกิดอยู่ เป็นอันสิ้นสุดจากภพชาติ หนึ่งไป

๒. อาเสวนกิจ ทำหน้าที่อาเสวนะ คือ ให้ได้เสพผลของวิบากนั้นบ่อย ๆ ทางทวารนั้น ๆ แล้วแต่อำนาจแห่งกรรมที่ตนได้สั่งสมมา

๓. อุปนิสสยกิจ ทำหน้าที่เป็นอุปนิสัย คือ ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นเพในสันดานซึ่งแสดงออกมาอยู่เสมอ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของแต่ละบุคคล ที่เรียกว่า อัธยาศัย หรือ อุดมคติ ได้แก่ ความมุ่งหมายในทางที่ดี ซึ่งเกิดจากการสั่งสมกุศลกรรมหรือบารมีธรรมอย่างเดียว มี ๖ อย่าง คือ

๑] อโลภัชฌาสัย อัธยาศัยที่ไม่โลภ เป็นผู้เสียสละ มีความมักน้อย สันโดษ

๒] อโทสัชฌาสัย อัธยาศัยที่ไม่โกรธ มีเมตตากรุณา เป็นที่ตั้ง

๓] อโมหัชฌาสัย อัธยาศัยที่ไม่หลง ชอบใช้วิจารณญาณในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และมีเหตุผล

๔] เนกขัมมัชฌาสัย อัธยาศัยที่ชอบหลีกเว้นจากกิเลสเครื่องมัวเมา ไม่ก่อเครื่องกังวลผูกพันตนเอง เป็นผู้มีชีวิตเบาสบายไม่ผูกติดกับเครื่องกังวลมากเกินไป

๕] ปวิเวกัชฌาสัย อัธยาศัยชอบสงัด มักปลีกวิเวก หลีกออกจากความมัวเมาและความรื่นเริงสนุกสนานในทางกาม ชอบความสงบ มีจิตน้อมไปในความสงบสงัด ทางกาย ทางวาจาและทางใจ มี ๓ ประการ คือ

[๑] กายวิเวก ความสงบสงัดทางกาย ทางวาจา

[๒] จิตตวิเวก ความสงบสงัดทางใจ

[๓] อุปธิวิเวก ความสงบสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง

๖] นิสสรณัชฌาสัย อัธยาศัยที่มุ่งมั่นในการแสวงหาทางหลุดพ้นจาก ทุกข์ภัยในสังสารวัฏฏ์ ให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน อันเป็นแดนเกษมจากโยคะทั้งปวง

๔. วาสนกิจ ทำหน้าที่เป็นวาสนา หมายถึง สิ่งที่ได้มาโดยไม่ต้องกระทำให้มีให้เกิดขึ้น หรือไม่ได้เจตนาตั้งใจให้เกิดขึ้น ได้แก่ ประพฤติกรรมที่แสดงออกและลาภต่าง ๆ คือ ทุกขลาภ ได้แก่ ลาภที่เจือด้วยทุกข์ หรือนำความทุกข์มาให้ อันเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็ดี หรือ สุขลาภ ได้แก่ ลาภที่เจือด้วยสุขหรือนำความสุขมาให้ อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาก็ดีซึ่งเป็นผลที่บุคคลนั้นได้สั่งสมมาจนกลายเป็นสันดาน ถึงแม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังละวาสนานี้ไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถละได้ทั้งกิเลสและวาสนา ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ละได้แต่กิเลสอย่างเดียว ละวาสนาไม่ได้ วาสนานี้ เปรียบเหมือนกลิ่นน้ำปลาที่ติดอยู่ในไหใส่น้ำปลา แม้จะเทน้ำปลาในไหออกหมดแล้ว และล้างให้สะอาดแล้วก็ตาม แต่กลิ่นน้ำปลา ก็ยังติดอยู่ในไห ล้างออกได้ยาก วาสนานี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะละกิเลสได้หมดสิ้นแล้วก็ตาม แต่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปในทางลบก็ดี ที่เป็นไปในทางบวกก็ดี ซึ่งบุคคลนั้นประพฤติมาจนเคยชิน หรืออิฏฐผลอันน่าปรารถนาต่าง ๆ ก็ดี และอนิฏฐผลอันไม่น่าปรารถนาต่าง ๆ ก็ดี ย่อมปรากฏออกมาอยู่เสมอ เช่น อิริยาบถ การพูดจา ลักษณะนิสัย ลาภสักการะ และอิสริยยศ เป็นต้น

๕. อนุสยกิจ ทำหน้าที่เป็นอนุสัย คือ เป็นสภาพของกิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเฉพาะวิบากของอกุศลเท่านั้น มี ๗ อย่าง คือ

๑] กามราคานุสัย ความยินดีพอใจในกามคุณอารมณ์ จนถึงความหมกมุ่นมัวเมา หลงใหล คลั่งไคล้ ตามแต่กำลังแห่งกามราคะของบุคคลนั้น

๒] ปฏิฆานุสัย ความกระทบกระทั่งประทุษร้ายต่ออารมณ์ ด้วยอำนาจความโกรธ ความไม่พอใจ

๓] ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดจากหลักความจริงของสิ่งทั้งปวง

๔] วิจิกิจฉานุสัย ความรวนเรลังเลสงสัยในคุณทั้งหลาย มีคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทำให้ขาดความมั่นคงทางด้านศรัทธา

๕] มานานุสัย ความเย่อหยิ่งถือตัวถือตน โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่น หรือกับสิ่งอื่น

๖] ภวราคานุสัย ความยินดีติดใจในภพภูมิต่าง ๆ หรือในสถานภาพและยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น

๗] อวิชชานุสัย ความหลง ความไม่รู้ตามเหตุผลที่เป็นจริงของสิ่งทั้งปวง

๖. จริตกิจ ทำหน้าที่เป็นจริต คือ พื้นเพความประพฤติของบุคคลนั้น ๆ มี ๖ อย่าง ได้แก่

๑] ราคจริต มีนิสัยรักสวยรักงาม ชอบความมีระเบียบวินัย ชอบสะอาด หรือมีความโลภ ความทะยานอยากเป็นเจ้าเรือน

๒] โทสจริต มีนิสัยหงุดหงิดรำคาญง่าย ทำอะไรโผงผาง ไม่ค่อยเรียบร้อย หรือมีความโกรธ ความขุ่นเคืองเป็นเจ้าเรือน

๓] โมหจริต มีนิสัยงมงาย ไม่ค่อยมีวิจารณญาณในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ มากนัก มักปล่อยใจไปตามกระแสโลกกระแสสังคม หรือมีความหลง ความโง่เป็นเจ้าเรือน

๔] วิตกจริต โดยมากเป็นผู้มีนิสัยชอบตรึกนึกคิดในเรื่องต่าง ๆ หรือมักชอบครุ่นคิดมากเกินไปให้วุ่นวายใจอยู่เสมอ มีสภาพเลื่อนลอย หรือวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ เป็นเจ้าเรือน

๕] สัทธาจริต มีนิสัยเชื่อและเลื่อมใสง่าย น้อมจิตเข้าไปในบุคคลหรือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาได้ง่าย

๖] พุทธิจริต มีนิสัยชอบพินิจพิจารณา ใช้วิจารณญาณในการรับรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่เสมอ

๗. ปารมีกิจ ทำหน้าที่เป็นบารมี คือ คุณความดีที่ได้บำเพ็ญมา อันเป็นคุณสมบัติที่จะทำให้ยิ่งใหญ่และบรรลุถึงความสำคัญในกาลข้างหน้า ได้แก่ บารมี ๑๐ ประการ คือ

๑] ทานบารมี การสละทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา สามี อวัยวะและชีวิตให้ เป็นทาน ตามสมควรแก่ฐานบารมีนั้น ๆ

๒] ศีลบารมี การประพฤติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลตามสมควรแก่ภาวะของตน คือ เป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา หรือดาบส ฤษี เป็นต้น อย่างเคร่งครัด

๓] เนกขัมมบารมี การหลีกเว้นจากกามแล้วแสวงหาความวิเวกทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๔] ปัญญาบารมี การใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและบุคคลอื่น ๆ

๕] วิริยบารมี การประกอบความเพียรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดอกุศลธรรมให้หมดไป และสร้างกุศลธรรมให้ยิ่งขึ้นไป

๖] ขันติบารมี ความอดทนให้เกิดตบะ สามารถต่อสู้เอาชนะปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ได้ด้วยดี

๗] สัจจบารมี ความจริงใจคือจะทำอะไรก็ทำจริงและมีความซื่อสัตย์สุจริต

๘] อธิษฐานบารมี การมีอุดมการณ์และตั้งใจกระทำให้สำเร็จตามอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้นั้น

๙] เมตตาบารมี การเผื่อแผ่ความรักความปรารถนาดี และประพฤติประโยชน์แก่บุคคลทั้งหลาย ด้วยความปรารถนาดีนั้น

๑๐] อุเบกขาบารมี การวางใจเป็นกลางในบุคคลและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตลอดถึงสรรพสิ่งในโลก ไม่กระทำความยิ่งหรือความหย่อนให้เกิดขึ้น จนเกินขอบเขตแห่งความยุติธรรมไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |