| |
รูปฌานวิปากจิต   |  

รูปาวจรวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติ ของรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เกิดด้วยรูปอย่างเดียว] มี ๕ ดวง เท่ากับรูปาวจรกุศลจิต เพราะรูปาวจรกุศลจิตแต่ละดวง จะให้ผลเป็นรูปาวจรวิปากจิตเพียง ๑ ดวง ตรงกันดวงต่อดวงเท่านั้น คือ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ให้ผลเป็นวิบากดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น ดังต่อไปนี้

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๑

วิตักกวิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ปฐมัชฌานวิปากจิตตัง

ปฐมฌานวิปากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๑ นี้นำให้ปฐมฌานลาภีบุคคลนั้นไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ พรัหมปาริสัชชาภูมิ พรัหมปุโรหิตาภูมิและมหาพรัหมาภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล [ตามความเป็นจริงแล้ว ภูมิทั้ง ๓ นี้อยู่ในชั้นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงตำแหน่งเท่านั้น กล่าวคือ มหาพรหมานั้น เป็นเจ้าปกครอง พรหมปุโรหิตา เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง และพรหมปาริสัชชาเป็นพรหมบริษัทหรือราษฎรทั่วไป] รูปาวจรวิบากปฐมฌานจิตนี้ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในปฐมฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในมหาพรัหมาภูมิ ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนำให้เกิดในพรัหมปุโรหิตาภูมิ ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนำให้เกิดในพรัหมปาริสัชชาภูมิ โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของฌานที่ตนใช้เจริญปฐมฌาน [ในชาติก่อน] นั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญฌาน ปฐมฌานวิปากจิตนี้ ย่อมมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทำหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากปฐมฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในปฐมฌานภูมินั้น

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๒

วิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ทุติยัชฌานวิปากจิตตัง

ทุติยฌานวิปากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๒ นี้นำให้ทุติยฌานลาภีบุคคลนั้นเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิและอาภัสสราภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง [ซึ่งภูมิทั้ง ๓ นี้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับปฐมฌานภูมิ ๓ นั่นเอง] เป็นติเหตุกบุคคลโดยทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติในทุติยฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในอาภัสสราภูมิ [เป็นเจ้าผู้ปกครอง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนำให้เกิดในอัปปมาณาภาภูมิ [เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนำให้เกิดในปริตตาภาภูมิ [เป็นพรหมบริษัทหรือราษฎรทั่วไป] โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของฌานที่ตนใช้เจริญทุติยฌานกุศลจิต [ในชาติก่อน] นั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญทุติยฌานกุศลจิต ทุติยฌานวิปากจิตนี้ ก็จะมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทำหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากทุติยฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในทุติยฌานภูมินั้น

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๓

ปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ตติยัชฌานวิปากจิตตัง

ตติยฌานวิปากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรวิปากจิตดวงที่ ๓ นี้นำให้ตติยฌานลาภีบุคคลนั้น ไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิและอาภัสสราภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล [ซึ่งภูมิทั้ง ๓ นี้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับปฐมฌานภูมิ ๓ นั่นเอง]โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในทุติยฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในอาภัสสราภูมิ [เป็นเจ้าผู้ปกครอง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนำให้เกิดในอัปปมาณาภาภูมิ [เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนำให้เกิดในปริตตาภาภูมิ [เป็นพรหมราษฎรทั่วไป] โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของฌานที่ตนใช้เจริญตติยฌานกุศลจิต [ในชาติก่อน] นั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญตติยฌานกุศลจิต ตติยฌานวิปากจิตนี้ ก็จะมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทำหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากทุติยฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในทุติยฌานภูมินั้น

ตติยฌานวิปากจิตนี้ นำเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ เหมือนกับทุติยฌานวิปากจิต เพราะสภาพของวิตกกับวิจารนั้นมีสภาพใกล้เคียงกัน คือ ตรึกอารมณ์ กับ ตรองอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ ฌานลาภีบุคคล ที่เป็นติกขบุคคล คือ บุคคลที่มีกำลังบารมีแก่กล้ามาก ขณะที่เจริญทุติยฌานนั้น ย่อมสามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกันเลย ฉะนั้น ติกขบุคคลจึงมีรูปฌานเพียง ๔ เท่านั้น แต่ที่แสดงในอภิธรรมนี้ เป็นการแสดงโดยอุปนิสัยของมันทบุคคล คือ บุคคลที่มีกำลังบารมีอ่อนไปหน่อยหนึ่ง จึงไม่สามารถละวิตกและวิจารในทุติยฌานพร้อมกันได้ จึงต้องละทีละอย่าง คือ ทุติยฌานละวิตกตติยฌานจึงละวิจาร ด้วยเหตุนี้ มันทบุคคลจึงมีรูปฌาน ๕ ดังแสดงมาแล้ว

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๔

สุขเอกัคคตาสหิตัง จตุตถัชฌานวิปากจิตตัง

จตุตถฌานวิปากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรวิปากจิตดวงที่ ๔ นี้นำให้จตุตถฌานลาภีบุคคลนั้น ไปเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณหาภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล [ซึ่งภูมิทั้ง ๓ นี้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับปฐมฌานภูมิ ๓ นั่นเอง] โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติในตติยฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในสุภกิณหาภูมิ [เป็นเจ้าผู้ปกครอง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนำให้เกิดในอัปปมาณสุภาภูมิ [เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนำให้เกิดในปริตตสุภาภูมิ [เป็นพรหมราษฎร] โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของฌานที่ตนใช้เจริญจตุตถฌานนั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญจตุตถฌานกุศล จตุตถฌานวิปากจิตนี้ ย่อมมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทำหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากตติยฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในตติยฌานภูมินั้น

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๕

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง ปัญจมัชฌานวิปากจิตตัง

ปัญจมฌานวิปากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๕ นี้นำให้ปัญจมฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน พระโสดาบัน และพระสกิทาคามีไปเกิดในเวหัปผลาภูมิ ถ้าเป็นพระอนาคามี ย่อมนำเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสีภูมิ สุทัสสาภูมิและอกนิฏฐาภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในจตุตถฌานภูมิ ๖ นั้นภูมิใดภูมิหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ สำหรับพระอนาคามีที่จะเกิดในสุทธาวาส ๕ ภูมิใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความแก่กล้าของอินทรีย์ที่ใช้ในการเจริญภาวนา หมายความว่า ถ้าเจริญภาวนามาด้วยปัญญินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในอกนิฏฐาภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยสมาธินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในสุทัสสาภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยสตินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในสุทัสสีภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยวิริยินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในอตัปปาภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยสัทธินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนำให้เกิดในอวิหาภูมิ โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ที่ตนใช้เจริญรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตนั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต รูปาวจรปัญจมฌานวิปากจิตนี้ ย่อมมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทำหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากจตุตถฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในจตุตถฌานฌานภูมิที่ตนเกิดอยู่นั้น

สำหรับอสัญญสัตตภูมินั้น จัดอยู่ในจตุตถฌานภูมิเช่นเดียวกัน แต่เป็นภูมิที่ไม่มีจิตเกิดเลย มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว ฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็ดี ภวังคจิตก็ดี จุติจิตก็ดีของอสัญญสัตตพรหมนั้นจึงไม่มี มีแต่ปฏิสนธิกัมมชรูปเกิดขึ้น ๑ กลาปเท่านั้น คือ ชีวิตนวกกลาป และรูปนั้นทำหน้าที่เป็นภวังค์ไม่ได้ ฉะนั้น พวกอสัญญสัตตพรหมจึงไม่มีภวังค์เกิด เมื่อหมดอายุขัย ๕๐๐ มหากัปป์แล้ว ชีวิตนวกกลาปนั้น ก็จะทำหน้าที่จุติ เรียกว่า จุติกัมมชรูป เป็นการสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลนั้นในอสัญญสัตตภูมิ และต้องมาเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่งก่อนแล้ว จึงจะเวียนไปสู่ภพอื่นต่อไป เนื่องจากในขณะที่เจริญสมถภาวนาอยู่นั้น ก่อนที่ฌานจิตจะเกิดขึ้น ย่อมมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ขณิกสมาธิจนถึงอุปจารสมาธิ โดยเฉพาะมหากุศลจิตในขณะแห่งอุปจารสมาธินั้น เป็นมหากุศลจิตที่มีกำลังแรงกล้ากว่ามหากุศลจิตในขณะอื่น ๆ และเป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ บรรดาพรหมปุถุชนทั้งหลายใน ๑๕ ภูมิ คือ รูปภูมิ ๑๑ [เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕] อรูปภูมิ ๔ เมื่อหมดอายุขัยจากพรหมโลกแล้ว ถ้าไม่ได้ทำฌานขึ้นมาใหม่ จะต้องมาเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่งก่อนเสมอ และต้องเป็นติเหตุกบุคคลด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |