| |
เหตุให้เกิดมานะ ๔ ประการ   |  

๑. มานะเกิดเพราะลาภ คือ เมื่อบุคคลมีลาภสักการะ หรือมีทรัพย์สมบัติมาก ย่อมเกิดการหยิ่งผยองลำพองตนว่า ตนไม่ต้องไปสนใจใคร บุคคลทั้งหลายต้องมานอบน้อมตนเพราะเห็นแก่ทรัพย์ หรือเพราะลาภสักการะเป็นเหตุ บุคคลจึงเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่น เช่น คิดว่า เรามีลาภสักการะมากกว่าคนอื่น คนอื่นมีลาภสักการะมากกว่าเรา หรือเรามีลาภสักการะเสมอเทียมเท่ากับบุคคลนั้น บุคคลนั้นมีลาภสักการะเทียมเท่ากับเรา คนนั้นมีทรัพย์น้อยกว่าเรา หรือเรามีทรัพย์น้อยกว่าบุคคลนั้น เหล่านี้เป็นต้น

๒. มานะเกิดเพราะยศ คือ เมื่อบุคคลมียศตำแหน่ง หรือมีชาติชั้นวรรณะที่สูง ย่อมเกิดความเย่อหยิ่งถือตัวว่า ตนเองสูงกว่าคนอื่น สำคัญกว่าคนเหล่าอื่น หรือเมื่อปรารภเรื่องยศตำแหน่งชาติชั้นวรรณะแล้ว ย่อมเกิดการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น เช่น คิดว่า เรามียศตำแหน่งชาติชั้นวรรณะสูงกว่าคนอื่น คนนั้นมียศตำแหน่งชาติชั้นวรรณะสูงกว่าเรา หรือเรามียศตำแหน่งชาติวรรณะเสมอด้วยบุคคลนั้น หรือเรามียศตำแหน่งชาติวรรณะต่ำต้อยกว่าบุคคลนั้น เป็นต้น

๓. มานะเกิดเพราะสรรเสริญ คือ เมื่อบุคคลได้รับเกียรติสรรเสริญจากบุคคลทั้งหลาย ย่อมเกิดความหยิ่งผยองลำพองตนว่า ตนดีเด่นกว่าบุคคลอื่น ไม่มีบุคคลใดสู้เราได้ หรือเมื่อปรารภเรื่องเกียรติศัพท์ชื่อเสียงแล้ว บุคคลย่อมเกิดความเย่อหยิ่งถือว่า เราเป็นคนมีเกียรติมากกว่าคนอื่น หรือคนนั้นมีเกียรติมากกว่าเรา เราดีเด่นกว่าคนอื่น คนนั้นดีเด่นกว่าเรา หรือเรามีความดีเด่นเทียมเท่ากับบุคคลนั้น เป็นต้น

๔. มานะเกิดเพราะสุข คือ เมื่อบุคคลมีความสุขสบายแล้ว ย่อมเกิดความหยิ่งผยองลำพองตนว่า เรามีความสุขสบายมากกว่าคนอื่น คนนั้นมีความสุขสบายมากกว่าเรา หรือเมื่อปรารภถึงความสุขสบายแล้ว ทำให้บุคคลเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นว่า เรามีความสุขมากกว่าคนนั้น คนนั้นมีความสุขสบายมากกว่าเรา หรือเรามีความสุขสบายเสมอด้วยบุคคลนั้น บุคคลนั้นมีความสุขสบายไม่เท่าเรา ดังนี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |