| |
ปีติสัมโพชฌังคุปปาทธรรม ๑๑ ประการ   |  

ปีติสัมโพชฌังคุปปาทธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดปีติสัมโพชฌงค์อันเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นปีติเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตและมัคคจิต ในขณะเจริญวิปัสสนาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับจนบรรลุถึงมรรคญาณผลญาณ ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดปีติสัมโพชฌงค์นี้ มี ๑๑ ประการ คือ

๑. พุทธานุสสติ การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า หมายความว่า เมื่อบุคคลระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า มีอรหันตคุณ คือ ความเป็นผู้ไกลจากกิเลสหรือผู้ทรงหักซี่กำแห่งสังสารวัฏได้โดยเด็ดขาดแล้ว เป็นต้น อยู่เนือง ๆ ย่อมเกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธคุณนั้น ถ้าบุคคลมีศรัทธาในพระพุทธคุณเป็นอย่างมาก ปีติคือความเอิบอิ่มใจย่อมเกิดขึ้นและเฟื่องฟูเอิบอาบซาบซ่านไปตามกำลังของความศรัทธาด้วย

๒. ธัมมานุสสติ การระลึกถึงคุณพระธรรม หมายความว่า เมื่อบุคคลระลึกถึงคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อันได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ หรือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ปริยัติธรรม ๑ ที่เรียกว่า พระสัทธรรม แปลว่า ธรรมอันดีงาม หรือธรรมของสัตบุรุษ ได้แก่ พระพุทธเจ้าซึ่งทรงเป็นยอดแห่งสัตบุรุษนั้น เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมที่ควรชักชวนให้มาทดลองศึกษาปฏิบัติดู เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว และเป็นธรรมที่พึงรู้ได้เฉพาะบุคคลที่เข้าถึงเท่านั้น ไม่สามารถรู้แทนกันได้ เมื่อบุคคลมาระลึกถึงสภาพของพระธรรมดังนี้แล้ว ย่อมเกิดศรัทธาปสาทะในธรรม เมื่อนั้น ปีติคือความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจย่อมเกิดขึ้นตามกำลังแห่งความศรัทธาปสาทะนั้นด้วย

๓. สังฆานุสสติ การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ หมายความว่า เมื่อบุคคลระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์เจ้า ซึ่งเป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจนได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าแล้วได้นำเอาหลักธรรมนั้นมาบอกสอนแก่บุคคลเหล่าอื่นให้ได้รู้ได้เข้าใจ ตามสมควรแก่บารมีธรรมของแต่ละบุคคล พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งแสงธรรม ปฏิบัติสมควรแก่เหตุปัจจัย เป็นผู้ควรแก่ของบูชา เป็นผู้ควรแก่ของคำนับรับไหว้ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทานอันเลิศ เป็นผู้ควรแก่การกระทำอัญชลีกรรม และเป็นบุญเขตของบุคคลทั้งหลายผู้หว่านเมล็ดพืชคือบุญลงไปแล้ว ย่อมได้รับผลิตผลอันเป็นวิบากสมบัติหลายเท่าทวีคุณ เมื่อบุคคลมาระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์เจ้าเหล่านี้แล้ว ย่อมเกิดความศรัทธาปสาทะในสังฆคุณ เมื่อนั้นปีติคือความเอิบอิ่มใจย่อมบังเกิดขึ้นตามกำลังของความศรัทธาปสาทะนั้นด้วย

๔. สีลานุสสติ การระลึกถึงศีลของตน หมายความว่า บุคคลได้รักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ดีแล้ว โดยไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ทะลุ มีความเป็นอริยกันตศีล คือ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าทั้งหลายยินดีพอใจและยกย่องสรรเสริญ เมื่อมาระลึกนึกถึงภาวะแห่งศีลของตนอันบริสุทธิ์ผุดผ่องเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อนั้นปีติคือความเอิบอิ่มใจย่อมเกิดขึ้นแผ่ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ถ้าบุคคลยังรักษาสภาพของศีลให้บริสุทธิ์อยู่เช่นนั้นได้นานเพียงใด ปีติย่อมดำรงอยู่และเฟื่องฟูมากขึ้นเพียงนั้น และเป็นบาทฐานให้บรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป ด้วยบทสรุปของศีลที่ว่า สีเลนะ สุคคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัส๎มา สีลัง วิโสธะเย แปลความว่า บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล บุคคลจะสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ บุคคลจะไปสู่พระนิพพานได้ก็เพราะศีล เพราะฉะนั้น จึงควรชำระนิสัยสันดานของตนให้บริสุทธิ์หมดจนทั้งปวง

๕. จาคานุสสติ การระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว หมายความว่า บุคคลที่ได้บริจาคทานด้วยความบริสุทธิ์พร้อมด้วยองค์ประกอบของทานอันเลิศ คือ ธัมมิยลัทธวัตถุ สิ่งของที่ใช้บริจาคนั้นเป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม เจตนาสัมปทา ผู้บริจาคสมบูรณ์ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล ได้แก่ ปุพพเจตนา ก่อนทำ มุญจนเจตนา ขณะทำ และอปรเจตนา หลังทำเสร็จแล้ว นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ มุตตจาคี คือ การเสียสละที่พ้นจากอำนาจกิเลส ได้แก่ การบริจาคโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใด ๆ เรียกว่า การสละให้พ้นตัว การบริจาคทานที่เป็นไปเช่นนี้ ย่อมยังปีติคือความเอิบอิ่มปลาบปลื้มใจให้เกิดแก่บุคคลผู้บริจาคได้ ตามสมควรแก่ความศรัทธาปสาทะของบุคคลนั้น

๖. เทวตานุสสติ การระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นเทวดา หมายความว่า เมื่อบุคคลมาระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้ไปบังเกิดเป็นเทวดา กล่าวคือ หิริ ความละอายต่อบาป และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ตลอดถึงการสมาทานปฏิบัติในธรรมอันขาว ได้แก่ กุศลธรรมทั้งหลาย ที่เรียกว่า เทวธรรม แล้ว บุคคลผู้มีศรัทธาย่อมเกิดความเลื่อมใสต่อเทวธรรม เมื่อนั้น ปีติคือความเอิบอิ่มปลาบปลื้มใจย่อมปรากฎเกิดขึ้นตามกำลังแห่งความศรัทธาปสาทะของบุคคลนั้นด้วย

๗. อุปสมานุสสติ การระลึกถึงภาวะแห่งพระนิพพานอันเป็นที่สงบระงับดับทุกข์ทั้งปวง หมายความว่า เมื่อบุคคลมาระลึกถึงสภาพของพระนิพพาน ที่เรียกว่า สันติลักษณะ คือ สภาวะที่สงบระงับจากกิเลสและขันธ์ ๕ ทั้งปวง เป็นสภาวะที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยใด ๆ จึงไม่มีการขึ้น แปรปรวน และดับเป็นไป ดังเช่น สังขตธรรมทั้งหลาย เป็นสภาวธรรมที่พ้นจากสภาพความเป็นโลก เรียกว่า โลกุตตรธรรม โดยแท้จริง เมื่อบุคคลเป็นอยู่อย่างนั้น ปีติคือความเอิบอิ่มใจย่อมปรากฏเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความศรัทธาปสาทะต่อสภาวะของพระนิพพานนั้น

๘. ลูขปุคคลปริวัชชนตา การหลีกเว้นไม่คบบุคคลผู้มัวหมอง [คนชั่ว] หมายความว่า บุคคลผู้เจริญพระกรรมฐานหรือผู้ต้องการดำเนินไปสู่หนทางอันประเสริฐบริสุทธิ์หมดจด ต้องรู้จักหลีกเว้นบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นข้าศึกต่อกุศลธรรมและเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณงามความดีทั้งหลายเสีย ในขณะที่บุคคลกำลังเกิดความปลาบปลื้มเอิบอิ่มในธรรม จึงต้องพิจารณาบุคคลที่จะเข้าไปหาหรือเข้าไปพบปะสนทนาด้วย ถ้าพิจารณาเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อสภาพจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ หรือเข้าไปหาแล้วทำให้จิตเศร้าหมอง หดหู่ลง ก็พึงเว้นจากบุคคลนั้นเสีย ไม่เข้าไปหา หรือไม่พบปะสนทนาด้วย เพื่อรักษาสภาพความเอิบอิ่มใจไว้ให้ดำรงอยู่และเจริญขึ้น

๙. สินิทธปุคคลเสวนตา การคบหาแต่บุคคลผู้บริสุทธิ์ [คนดี] หมายความว่า บุคคลผู้เกิดปีติคือความเอิบอิ่มใจอยู่นั้น จำเป็นต้องรักษาสภาพความรู้สึกเช่นนั้นไว้ เพื่อเป็นอุปการะในการตรัสรู้อริยสัจต่อไป เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปหา หรือเข้าไปพบปะสนทนากับบุคคล ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า บุคคลที่จะเข้าไปหา หรือเข้าไปคบนั้น มีคุณสมบัติเป็นเช่นไร ถ้าเห็นว่า บุคคลนั้น เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะช่วยอุปการะให้สภาพแห่งปีติสัมโพชฌงค์นี้ดำรงอยู่และเจริญยิ่งขึ้นได้ สมควรที่จะเข้าไปหา หรือเข้าไปพบปะสนทนากับบุคคลนั้น ตามความเหมาะสม

๑๐. ปสาทนียสุตตันตปัจจเวกขณตา การพิจารณาเนื้อความในพระสูตรที่ก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลต้องการปลูกความปลาบปลื้มยินดีและเอิบอิ่มในธรรมให้เกิดขึ้น หรือเพื่อรักษาความรู้สึกเช่นนั้นที่เกิดพร้อมกับตนให้ดำรงอยู่และเจริญมั่นคงแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น แนวทางอย่างหนึ่งที่จะทำได้ ก็คือ การศึกษาพระสูตรที่ก่อให้เกิดความศรัทธาปสาทะ หรือพิจารณาเนื้อความแห่งพระสูตรนั้น ๆ ที่ตนเองได้ทำการศึกษาเล่าเรียนมาแล้วให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อนั้น ปีติคือความเอิบอิ่มใจย่อมปรากฏเกิดขึ้นและเจริญมั่นคงแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น

๑๑. ตทธิมุตตตา การน้อมจิตไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น หมายความว่า บุคคลที่ต้องการเจริญปีติให้เข้าถึงสภาพแห่งโพชฌงค์อันเป็นองค์ประกอบแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้อริยสัจนั้น ถ้าปีติยังไม่ปรากฏเกิดขึ้น ก็ต้องพยายามน้อมจิตนึกไปถึงสภาพแห่งปีตินั้นอยู่เนือง ๆ หรือเมื่อสภาพแห่งปีติปรากฏขึ้นแล้ว ต้องพยายามใฝ่ใจอยู่ในสภาพของปีตินั้น เพื่อมิให้ความรู้สึกนั้นหลุดหายไป เมื่อบุคคลปฏิบัติได้เช่นนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นและตั้งมั่นแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |