ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๕๙๙ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงประเภทของรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ไว้ ดังต่อไปนี้
รูปทั้ง ๒๘ นั้น เมื่อจำแนกโดยสมุฏฐานแล้ว มี ๕ ประเภท คือ
๑. เอกสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากสมุฏฐานอย่างเดียว มี ๑๑ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ รวม ๙ รูปนี้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว วิญญัติรูป ๒ เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว
๒. ทวิสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจาก ๒ สมุฏฐาน มี ๑ รูป คือ สัททรูป ๑ เกิดจากจิตและอุตุ เป็นสมุฏฐาน
๓. ติสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจาก ๓ สมุฏฐาน มี ๓ รูป คือ วิการรูป ๓ เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร เป็นสมุฏฐาน
๔. จตุสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจาก ๔ สมุฏฐาน มี ๙ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑
๕. นกุโตจิสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่มิได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลย มี ๔ รูป ได้แก่ ลักขณรูป ๔ ดังมีหลักฐานคาถาสังคหะแสดงรับรองว่า
คาถาสังคหะที่ ๗
ชายมานาทิรูปานํ | สภาวตฺตา หิ เกวลํ | |
ลกฺขณานิ น ชายนฺติ | เกหิจีติ ปกาสิตํ ฯ |
แปลความว่า
ส่วนลักขณรูปทั้ง ๔ นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอาศัยสมุฎฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะลักขณรูปทั้ง ๔ นี้ เป็นสภาวะของรูปกลาปที่กำลังเกิดขึ้น เป็นต้นเท่านั้น จึงไม่มีสมุฎฐานโดยเฉพาะ
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
สมุฏฐานิกรูป ๕ ประเภท
ในการจำแนกรูป ๒๘ โดยสมุฏฐานทั้ง ๔ ตามที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจักได้อธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้
๑. เอกสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากสมุฏฐานอย่างเดียว มี ๑๑ รูป แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ
๑.๑ เอกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวโดยแน่นอน มีจำนวน ๙ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ เพราะรูปทั้ง ๙ อย่างนี้ ย่อมเกิดเฉพาะในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายเท่านั้น ย่อมไม่เกิดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตเลย ด้วยเหตุนี้ ในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย จึงไม่มีประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย ในการรับกระทบกับอารมณ์ ไม่มีเพศผู้เพศเมีย ไม่มีหัวใจ สรุปแล้วก็คือ เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะไม่มีชีวิตรูปที่เกิดจากกรรมนั่นเอง อนึ่ง การที่พืชบางชนิด มีตัวผู้ตัวเมียนั้น เป็นการเรียกกันตามสมมุติเท่านั้น เพราะพืชชนิดนั้นไม่มีอิตถีภาวรูปหรือปุริสภาวรูป อันเป็นรูปที่เกิดจากกรรม พืชเหล่านั้นย่อมเป็นไปตามกฏเกณฑ์แห่งพืช กล่าวคือ สายพันธุ์ของพืชชนิดนั้น ๆ ที่เรียกว่า พีชนิยาม เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากกรรม เพราะไม่มีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งกรรม ที่เรียกว่า กัมมนิยาม แต่ประการใด เพราะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์เหมือนสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง
๑.๒ เอกันตจิตตสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวโดยแน่นอน มีจำนวน ๒ รูป ได้แก่ วิญญัติรูป ๒ หมายความว่า วิญญัติรูปทั้ง ๒ นี้ย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีทั้งรูปร่างกายและจิตใจ กล่าวคือ สัตว์ที่มีทั้งรูปและนามเท่านั้น จะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีเฉพาะรูปหรือนามอย่างเดียว และไม่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายเลย เพราะกายวิญญัติรูปนั้นเป็นปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวของร่างกาย และวจีวิญญัติรูปนั้นเป็นอาการเปล่งเสียงหรือคำพูด ซึ่งอาการทั้ง ๒ ประเภทนี้ ล้วนแต่มีจิตเป็นสมุฏฐานทั้งสิ้น บุคคลที่ไม่มีร่างกายและจิตใจ และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถแสดงปฏิกิริยายืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นได้ และไม่สามารถเปล่งเสียงพูด ร้องไห้ ร้องเพลง เป็นต้นได้เลย แต่อาการเคลื่อนไหวและมีเสียงของสิ่งต่าง ๆ ปรากฏออกมาได้นั้น ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งอุตุ คือ อุณหภูมิ ลม อากาศ หรือสภาพแวดล้อม เป็นต้นเท่านั้น
๒. ทวิสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดได้จากสมุฏฐาน ๒ มี ๑ รูป ได้แก่ สัททรูป แบ่งเป็น ๒ จำพวก ตามสมุฏฐานที่ทำให้เกิดขึ้น คือ
๒.๑ จิตตสมุฏฐานิกสัททรูป หมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นโดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ เสียงของสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เช่น เสียงพูด เสียงร้องเพลง เสียงร้องไห้ เสียงไอ เสียงจาม เสียงอ่านหนังสือ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นโดยมีความจงใจให้เกิดขึ้น
๒.๒ อุตุสมุฏฐานิกสัททรูป หมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นโดยมีอุตุเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ เสียงของสัตว์มีชีวิตบางอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความจงใจทำให้เกิดขึ้น เช่น เสียงผายลมที่ไม่จงใจ เสียงลั่นของอวัยวะน้อยใหญ่ เสียงท้องร้อง เป็นต้น และเสียงของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงฟ้าผ่า เสียงลมพัด เสียงน้ำไหล เสียงฝนตก เสียงใบไม้ไหว เสียงเสียดสีกันของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น
๓. ติสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดได้จากสมุฏฐาน ๓ มีจำนวน ๓ รูป ได้แก่ วิการรูป ๓ แบ่งเป็น ๓ จำพวก ตามประเภทแห่งสมุฏฐานที่ทำให้เกิดขึ้น คือ
๓.๑ จิตตสมุฏฐานิกลหุตาทิวิการรูป หมายถึง วิการรูปทั้ง ๓ มีลหุตารูปเป็นต้นที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ของรูปที่เกิดจากจิต มีการยืน การเดิน การนั่ง การนอน การเลี้ยวซ้ายแลขวา การพูด การร้องเพลง การร้องไห้ การอ่านหนังสือ เป็นต้น ที่เป็นไปโดยอาการคล่องแคล่ว หนักแน่น ชัดเจน
๓.๒ อุตุสมุฏฐานิกลหุตาทิวิการรูป หมายถึง วิการรูปทั้ง ๓ มีลหุตารูปเป็นต้นที่เกิดจากอุตุ ได้แก่ อุณหภูมิของร่างกายที่ทำให้ร่างกายดำเนินไปได้ตามปกติ ไม่มีอาการป่วยไข้เบียดเบียน เสียงลั่นของอวัยวะในร่างกาย และเสียงของส่วนประกอบต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น ดำเนินไปได้ตามปกติ ไม่มีอุปสรรคบีบคั้น
๓.๓ อาหารสมุฏฐานิกลหุตาทิวิการรูป หมายถึง วิการรูปทั้ง ๓ มีลหุตารูปเป็นต้นที่เกิดจากอาหาร ได้แก่ โอชาจากกพฬีการาหารที่สัตว์บริโภคเข้าไปและได้รับการย่อยสลายไปหล่อเลี้ยงร่างกายแล้ว ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แข็งแรง เบาสบาย สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอาพาธใด ๆ มาเบียดเบียนบั่นทอน
๔. จตุสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดได้จากสมุฏฐานทั้ง ๔ มีจำนวน ๙ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป คันธรูป รสรูป อาหารรูป ปริจเฉทรูป แบ่งเป็น ๔ จำพวกตามสมุฏฐาน คือ
๔.๑ อเนกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมโดยไม่แน่นอน หมายความว่า รูปทั้ง ๙ อย่างนี้ ที่เป็นองค์ประกอบและเป็นขอบเขตของกัมมชกลาปทั้ง ๙ ก็จัดเป็นกัมมชรูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส อาหารธาตุ ในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ที่มีสภาพเป็นอาการ ๔๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน น้ำดี น้ำลาย น้ำมูก น้ำย่อย ไออุ่น ไอเย็น ลมในท้อง ลมในไส้ เป็นต้น ตามสมควรแก่สัตว์นั้น ๆ แต่ถ้ารูปเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนประกอบและขอบเขตของกัมมชกลาปทั้ง ๙ แล้ว ก็ไม่จัดเป็นกัมมชรูป
๔.๒ อเนกันตจิตตสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตโดยไม่แน่นอน หมายความว่า รูปทั้ง ๙ อย่างนี้ที่เป็นองค์ประกอบและเป็นขอบเขตของจิตตชกลาปทั้ง ๘ ก็จัดเป็นจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต แต่ถ้าไม่ได้เป็นส่วนประกอบและขอบเขตของจิตตชกลาปแล้ว ก็ไม่จัดเป็นจิตตชรูป
๔.๓ อเนกันตอุตุสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอุตุโดยไม่แน่นอน หมายความว่า รูปทั้ง ๙ อย่างนี้ที่เป็นองค์ประกอบและเป็นขอบเขตของอุตุชกลาปทั้ง ๔ ก็จัดเป็นอุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ แต่ถ้าไม่ได้เป็นส่วนประกอบและขอบเขตของ อุตุชกลาปแล้ว ก็ไม่จัดเป็นอุตุชรูป
๔.๔ อเนกันตอาหารสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอาหารโดยไม่แน่นอน หมายความว่า รูปทั้ง ๙ อย่างนี้ที่เป็นองค์ประกอบและเป็นขอบเขตของอาหารชกลาปทั้ง ๒ ก็จัดเป็นอาหารชรูป คือ รูปที่เกิดจากอาหาร แต่ถ้าไม่ได้เป็นส่วนประกอบและขอบเขตของอาหารชกลาปแล้ว ก็ไม่จัดเป็นอาหารชรูป
๕. นกุโตจิสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลย มีจำนวน ๔ รูป ได้แก่ ลักขณรูป ๔ เพราะลักขณรูปทั้ง ๔ นี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบและไม่ได้เป็นขอบเขตของกลาปรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เป็นเพียงลักษณะอาการของกลาปรูปเหล่านั้นเท่านั้น กล่าวคือ อาการเกิดขึ้น อาการสืบต่อ การเปลี่ยนแปลง และอาการดับไป ของกลาปรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ นั่นเอง แต่เพราะลักษณะอาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ติดมากับรูปธรรมทั้งหลาย คือ เป็นลักษณะอาการของรูปธรรมทั้งหลายนั่นเอง จึงจัดเป็นรูปธรรมด้วย