ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๔๘ ท่านได้แสดงถึงภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้
คำว่า อิตถี [หญิง] คือ กองขันธ์ ๕ ที่ตั้งอยู่ในลักษณะไม่สะอาด
คำว่า อิตถัตตะ [ความเป็นหญิง] คือ รูปที่ทำให้กองขันธ์ ๕ ตั้งอยู่และเป็นไปได้อย่างนั้น โดยมีรูปวิเคราะห์ว่า ภาวะของหญิง ชื่อว่า อิตถัตตะ
คำว่า ปุริสะ [ชาย] คือ กองขันธ์ ๕ ที่ตั้งอยู่ในลักษณะสะอาด
ในเรื่องนั้น อิตถัตตะ คือ ลักษณะที่เป็นเหตุเกิดแห่งเพศหญิง สัณฐานของผู้หญิงการกระทำของผู้หญิง และอาการของผู้หญิง
ปุริสัตตะ [ความเป็นชาย] คือ ลักษณะที่เป็นเหตุเกิดแห่งเพศชาย สัณฐานของผู้ชาย การกระทำของผู้ชาย และอาการของผู้ชาย
เพราะฉะนั้น คำว่า เพศ จึงหมายถึง สัณฐานใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ [เช่น รูปร่าง เป็นต้น]
คำว่า สัณฐาน หมายถึง สัณฐานเล็กที่เป็นองค์ประกอบย่อย [เช่นอกเอวเป็นต้น]
คำว่า การกระทำ หมายถึง กิริยาพิเศษมีการเล่นและการยิ้มแย้ม เป็นต้น
คำว่า อาการ หมายถึง อาการพิเศษมีการไปและการมา เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือ ความเป็นไปพิเศษของขันธ์ ๕ ที่เรียกว่า ลิงค์ [เพศ] ในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งหลาย และทำให้ชาวโลกรู้กันว่า นี้คือผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย หรือ นี้คือผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๒๔๙ ท่านได้แสดงถึงภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้
ภาวะแห่งหญิง ชื่อว่า ความเป็นแห่งหญิง ภาวะแห่งชาย ชื่อว่า ความเป็นแห่งชาย ในความเป็นหญิงและความเป็นชายนั้น ความเป็นหญิงมีความเป็นเหตุแห่งเพศนิมิต การเยื้องกรายและอากัปปะแห่งหญิงเป็นลักษณะ ความเป็นชายมีความเป็นเหตุแห่งเพศชายเป็นต้นเป็นลักษณะ ในลักษณะมีเพศเป็นต้นนั้น องคชาต [ธรรมชาติที่เกิดในตัว] ของผู้หญิง ชื่อว่า เพศหญิง เสียงและความประสงค์รุ.๒๕๐ ชื่อว่า อิตถีนิมิต [เครื่องหมายแห่งหญิง] เพราะเป็นปัจจัยให้รู้ว่า “เป็นหญิง” กิริยามีการยืนการเดินและการนั่งเป็นต้นไม่องอาจ ชื่อว่า การเยื้องกรายของหญิง สัณฐาน [ทรวดทรง] ของหญิง ชื่อว่า อากัปปะ [รูปทรง] ของหญิง แม้ลักษณะมีเพศแห่งชายเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว แต่ในอรรถกถา ท่านพรรณนาเพศแห่งหญิงเป็นต้นไว้โดยประการอื่น ส่วนท่านอาจารย์ทั้งหลายกล่าวรวบรวมคำนั้นไว้อย่างนี้ คือ
ทรวดทรงของอวัยวะมีมือเป็นต้น ชื่อว่า เพศ
อาการมีการยิ้มหัวเป็นต้น ชื่อว่า นิมิต
การเล่นด้วยกระด้งเป็นต้น ชื่อว่า กุตตะ
กิริยามีการเดินเป็นต้น ชื่อว่า อากัปปะ
รูปทั้ง ๒ ชื่อว่า ภาวรูป เพราะทำวิเคราะห์ว่า เป็นเหตุให้เรียกว่าหญิงและให้รู้ว่าหญิงเป็นต้น ฯ ก็ภาวรูปนั้น แผ่ไปอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้น เหมือนกายินทรีย์
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๕๑ ได้แสดงความหมายของภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้
ภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงสภาพความเป็นหญิงหรือชาย ให้รู้ได้ด้วยใจ โดยอาศัยรูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการต่าง ๆ จากรูปเหล่านั้น เป็นเครื่องหมายให้รู้
ภาวรูป มี ๒ อย่าง คือ อิตถีภาวรูป และ ปุริสภาวรูป
บทสรุปของผู้เขียน :
คำว่า ภาวะ หมายถึง เหตุให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่มาของชื่ออย่างนี้ว่า นั่นคือหญิง นั่นคือชาย ในกระแสขันธ์ที่เกิดร่วมกับภาวรูป หรือเป็นเหตุให้เกิดเพศเป็นต้นในกระแสขันธ์ดังกล่าว
คำว่า ภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงเหตุในกระแสแห่งขันธ์ให้รู้และเข้าใจได้ว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย โดยแสดงออกมาเป็นรูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการต่าง ๆ ทำให้สามารถกำหนดหมายได้ว่า บุคคลนั้นเป็นหญิง บุคคลนี้เป็นชาย โดยอาศัยเครื่องหมาย ๔ ประการ คือ
๑. ลิงคะ คือเพศที่แสดงทรวดทรงของอวัยวะต่าง ๆ ออกมา มีมือและเท้าเป็นต้น
๒. นิมิตตะ คือ อาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมา มีการยิ้ม การหัวเราะ เป็นต้น
๓. กุตตะ คือ นิสัยที่แสดงออกมา โดยการเล่นของเล่น เครื่องประดับ เป็นต้น
๔. อากัปปะ คือ กิริยาท่าทางต่าง ๆ มีการเดิน เป็นต้น
เพราะฉะนั้นเมื่อสรุปความแล้ว คำว่า ภาวรูป มีความหมาย ๒ ประการคือ
๑. เหตุให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่มาของชื่อ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ภวนฺติ ปวตฺตนฺติ อภิธานพุทฺธิโย เอเตนาติ ภาโว” แปลความว่า รูปเหล่าใดย่อมมีขึ้นและเป็นไปให้เข้าใจได้ถึงสภาพของชื่อ เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านั้น จึงชื่อว่า ภาวะ ได้แก่ อิตถีภาวรูป และปุริสภาวรูป
๒. เหตุให้เกิดเพศเป็นต้น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ภวนฺติ ปาตุภวนฺติ ลิงฺคาทีนิ ตสฺมึ สตีติ ภาโว” แปลความว่า ลักษณะทั้งหลายมีเพศเป็นต้น ย่อมเกิดปรากฏมีขึ้นในรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงได้ชื่อว่า ภาวะ ได้แก่ อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป